อดีต ปธ.คมช.แฉเข้าสภาวันแรกเจอคนของบลงพื้นที่แลกจ่ายใต้โต๊ะ 10% ชี้ไทยเป็นประชาธิปไตยยังยาก ปฏิวัติประชาชนก็มีสิทธิ์ อ้างทำรัฐประหาร 49 เบรกความสูญเสีย ขู่ไม่รีบปรองดองถึงขั้นสิ้นชาติ ย้ำแผน “ทักษิณ” ต้องรับโทษอาญา ไม่คืน 4.6 หมื่นล้าน ด้าน “สุริยะใส” แนะใช้วิกฤตปฏิรูปการเมือง แย้มปีหน้าเหลืองและแดงอาจเป็นแค่ตำนานเหตุมหาอำนาจรุกยึดครอง
วันนี้ (29 พ.ย.) ในการประชุมผู้บริหารพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดอภิปรายเรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในอนาคต” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ขณะที่วิทยากรอีกคน คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ แจ้งว่าติดภารกิจเร่งด่วน โดย พล.อ.สนธิกล่าวว่า ณ วันนี้เรามีนายกฯ 28 คน แต่พบว่าผู้นำประเทศแต่ละสมัยให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและการเตรียมการเลือกตั้งมากกว่าอย่างอื่น ส่วนการพัฒนาประชาธิปไตยกลับทำน้อย แต่หันมาสร้างมวลชนที่คล้ายสมาชิกพรรคแทน ขณะที่การเลือกตั้งคนไทยกว่า 60 ล้านคนส่วนใหญ่เลือกคนที่ถูกแนะนำให้เลือก หรือผู้ที่ให้ความสนับสนุนเชิงอุปถัมภ์ จึงทำให้ขาดคนมีความสามารถและขาดอุดมการณ์ทางการเมือง บ้านเมืองจึงน่าเป็นห่วงมาก
“วันที่ผมเข้าไปอยู่ในสภาวันแรก ก็มีคนมาคุยเพื่อขอให้จัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ให้ โดยเสนอให้ 10% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ทั้งที่เวลาไปเลือกตั้งก็ไม่เห็นที่ไหนที่ต้องใช้ปัจจัยในการสนับสนุน ซึ่งก็ก่อให้เกิดการถอนทุน อันเป็นที่มาของปัญหาคอรัปชั่นที่ทุกฝ่ายก็ยอมรับ” พล.อ.สนธิกล่าว
พล.อ.สนธิยังกล่าวอีกว่า ถ้ามองทิศทางประเทศไทยคือเรื่องเศรษฐกิจถือว่าไปได้ แต่การพัฒนาการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยยังยาก และที่สำคัญคือปัญหาความแตกแยกในสังคมไทย ที่ตนห่วงมากว่าไทยกำลังก้าวไปสู่โลกโลกาภิวัตน์ คนไทยได้เห็นสังคมโลกด้วยความรวดเร็วและทันสมัย เราตามเขาชนิดก้าวกระโดดสู่สังคมยุคใหม่ ขณะที่ในประเทศยังก้าวช้า ที่แน่ๆ สังคมระดับครอบครัวมีปัญหา ทำให้สังคมโดยรวมแย่ลง ประชาชนที่ยากจนลงก็ยิ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
พล.อ.สนธิกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าความเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย ยิ่งถ้าอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ ยิ่งเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ที่สำคัญคือบางทีมีแนวคิดนอกกรอบที่เข้ามาเพื่อหวังทำลายกันอย่างเดียว การเคลื่อนไหวทุกครั้งมักมีอย่างอื่นแอบแฝง ทำให้รูปแบบการต่อต้านจากรัฐก็เป็นอีกรูปแบบ ถามว่าอนาคตจะมีความเคลื่อนไหวมากน้อย ถึงขั้นไปสู่การปฏิวัติโดยประชาชนได้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดได้ทั่วโลก แต่ควรเกิดอย่างมีเหตุมีผลมีข้อเท็จจริง และเกิดจากการสร้างความเสียหายของรัฐบาลอย่างแท้จริง
“จะมีการปฏิวัติโดยประชาชน ปฏิวัติโดยทหารอีกหรือไม่ เนื้อแท้สำคัญอยู่ที่ระบบการเมืองเอง ว่ามีความบริสุทธิ์ปลอดการคอร์รัปชันหรือไม่ ถ้าการเมืองเดินไปโดยดีแล้วประชาชนและทหารคงไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่ามันมีผลกระทบต่อประเทศชาติ”
หัวหน้าพรรคมาตุภูมิยังกล่าวว่าถึงเรื่องความปรองดองว่า หากประชาชนขัดแย้งกันความเป็นชาติจะอ่อนแอ ที่ตนทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 เพราะรู้ว่าวันที่ 20 พ.ย. 49 จะเกิดความรุนแรงสูญเสีย และวันนี้วิกฤตชาติรุนแรง ถ้าไม่เร่งปรองดองอาจถึงขั้นการสิ้นชาติ หากทุกคนในสภาเห็นด้วยก็สามารถแก้ปัญหานอกสภาได้ การที่ตนกำหนดแนวทางการปรองดองที่ผ่านมามันเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
“ถามนักการเมืองในสภาเขาบอกว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ต้องใช้เวลาถึง 3 ช่วงอายุคนถึงจะกลับสู่ปกติ ผมรู้ดีว่าถ้าไม่มองข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ มันจะถึงวิกฤต หลายคนหลายพรรคไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศ และกลายเป็นเครื่องมือของคนอีกกลุ่มที่สนับสนุนให้กลายเป็นความขัดแย้งขั้นวิกฤต ใครจะมองว่า พล.อ.สนธิทำปรองดองเพราะไม่รักประเทศไทย ท่านคิดผิด ผมทำทุกอย่างอย่างมีเหตุมีผลและวิธีการ เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็ทราบว่าผมคิดอะไร แต่มันอธิบายเหตุผลให้คนบางคนหรือคนบางกลุ่มไม่ได้ แต่มันจะเป็นคุณแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล ผมยึดยุทธศาสตร์ศัตรูของศัตรูคือมิตร ทำยังไงให้มิตรของศัตรูขัดแย้งกันนั่นคือยุทธศาสตร์ของผม แล้วทำให้สถาบันยังคงอยู่กับประเทศไทยตราบนานเท่านั้น มันเป็นยุทธศาสตร์ที่บอกได้ส่วนหนึ่ง บอกไม่ได้ส่วนหนึ่ง” อดีตประธาน คมช.กล่าว
พล.อ.สนธิย้ำว่า ข้อเสนอปรองดองของตนนั้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เขามีโทษอาญาและต้องกลับมารับโทษ เงิน 4.6 หมื่นล้าน ไม่มีสิทธิ์เอาคืน เพราะเป็นเงินของแผ่นดินแล้ว ส่วนคดีที่เป็นคดีทางการเมืองเราต้องมาพูดคุยกันแล้วอภัยให้กัน เพื่อให้เกิดการปรองดอง แต่ใครที่มีคดีอาญาเราไม่ยอม ต้องมาว่ากัน ส่วนที่มีการมองกันว่า อาจมีการชุมนุมทางการเมืองรอบต่อไปของมวลชนในปลายปี หรือต้นปีหน้านั้น หากมองในแง่หลักการแล้ว ม็อบจะเกิดได้ต้องมีปัจจัย 3 ประการ คือ ทุน อุดมการณ์ที่ทำให้คนมาร่วมสนับสนุน และลักษณะผู้นำมีเพียงพอ มีประสิทธิภาพที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าจะเกิดประสิทธิผลหรือไม่ ซึ่ง ณ วันนี้ยืนยันว่าทุนก็ยาก เงื่อนไขอุดมการณ์ก็น้อย และผู้นำไม่มี ดังนั้นในอนาคตอันใกล้จะให้เกิดประสิทธิผลค่อนข้างยาก ถ้าจะเกิดก็จะเกิดแบบเล็กๆ น้อยๆ
ด้านนายสุริยะใสกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองต้องมี แต่หลังๆ มีการเข้าไปทำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวสร้างกิจกรรม สร้างเหตุการณ์ สร้างกระแส เพื่อให้พรรคมีเวทีที่ยืน เดิมเริ่มจากพรรคเพื่อไทย ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำ สำหรับตนคิดว่าก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องไม่ข้ามเส้นจนกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปลุกระดมจนมาทำลายกลไกทางสภาเสียเอง ซึ่งตนคิดว่าวันนี้เราอาจต้องคิดกันมากเรื่องการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปพรรคการเมืองกันอย่างไร หากคิดบวกก็อาจมองปรากฏการณ์ที่ผ่านมามีความตื่นตัวทางการเมืองสูง เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงการห้ำหั่น แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส ที่จะทำให้กลายเป็นความตื่นตัวที่สร้างสรรค์ได้
“ปีหน้านี้อาจมองได้ว่ามีตัวแปรที่ทำให้ความแตกแยกลดน้อยลง อาจทำให้การเมืองไทยพลิกโฉมจนความขัดแย้งเหลืองและแดงกลายเป็นอดีตหรือตำนาน นั่นคือการขยับของอเมริกากับจีนที่ขยับเข้ามาบีบประเทศไทยให้คิดเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เกิดความเป็นชาตินิยมมากขึ้น ไม่ว่าเรื่องพลังงาน ความมั่นคง เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เพราะไทยกำลังเป็นศูนย์กลางที่อาจกลายเป็นเค้กของมหาอำนาจ พอโจทย์ใหญ่ขึ้นมันก็ทำให้เหลือง-แดงอธิบายบริบทของโลกไม่ได้ กลายเป็นเรื่องล้าสมัย คล้ายกับว่าเราอาจทะเลาะกันบ้าง แต่พอไฟดับทั้งหมู่บ้านก็ต้องหันมาคิดกันใหม่” นายสุริยะใสกล่าว
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนกล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าทฤษฎีการแช่แข็งประเทศไทยของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม จะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่รัฐบาลต้องไม่เข้าไปผสมโรง ถึงไม่ห้ามก็ไม่ควรเข้าไปร่วม จนกลุ่มผลประโยชน์จะเข้าไปยกพวกตีกัน และควรส่งเสริมด้วยให้ใช้ความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ด้วย ทั้งนี้เราไม่อาจห้ามการเคลื่อนไหวของมวลชน ภาคประชาชนได้ จะมีวาระเรียกร้องที่พิสดารยังไงก็เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีการชุมนุมกลุ่มเสธ.อ้ายที่มาเร็วไปเร็ว ก็ทิ้งให้คิดว่าทำไมมีคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาคิดว่านักการเมืองควรเว้นวรรค 5 ปี ซึ่งมีคนคิดแบบนี้ไม่น้อย ซึ่งเราห้ามเขาคิดไม่ได้ แต่ควรย้อนคิดว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาคิดแบบนี้ ทำไมกลไกที่มีอยู่ตามกฎหมายไม่ตอบโจทย์ ซึ่งเป็นระนาบความคิดเดียวกันกับการรัฐประหารปี 2549 ก็พบว่าคำตอบทุกอย่างไม่ได้อยู่แต่ในรัฐสภาอีกแล้ว และเมื่อเกิดวิกฤติก็ย่อมมีคนคิดนอกกรอบ จนตอนนี้ไม่มีใครเชื่อว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
“ระบบเดิมไร้ความหวัง องค์กรอิสระนอกจากถูกแทรกแซงแล้ว ตัวองค์กรเองกลับกลายเป็นอำนาจใหม่ที่เอาตัวเองออกจากการตรวจสอบ หรือการเชื่อมโยงกับสังคม รวมทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่ทัน กลายเป็นความยุติธรรมที่มาช้าจนกลายเป็นความอยุติธรรม เราจึงต้องเดินไปสู่การปฏิรูปใหญ่ มีเงื่อนไขเพียงแค่ 1. ปฏิรูปก่อน หรือ 2. นองเลือดก่อน เท่านั้น
นายสุริยะใสกล่าวว่า หากถือว่าปีหน้าจะเอาปรองดองเป็นวาระของประเทศนั้น ขอเสนอว่า 1. ผู้มีส่วนได้เสีย คือ ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่ควรเป็นเจ้าภาพ แทนที่จะเร่งรัดออก พ.ร.บ.ปรองดอง ควรตั้งหลักใหม่ อาจมีกรรมาธิการปรองดองชุดใหม่มาสร้างเจ้าภาพจากหลายภาคส่วน แล้วมาขบคิดกันว่าควรจะทำอะไรได้ โดยไม่ต้องรอเดินพร้อมกันทั้งหมด 2. ไม่ควรกำหนดกรอบเวลาในการปรองดอง เพราะหากไปกำหนดแล้วมันปรองดองไม่ได้ จนกว่าผู้คนในบ้านเมืองจะเห็นว่าเป็นวาระของประเทศ 3. ทำเรื่องที่ทำได้ง่ายก่อน เช่นปรองดองในหมู่ประชาชนก่อนที่จะปรองดองในหมู่ชนชั้นนำที่ต้องเอาใจกองเชียร์ บางเรื่องก็ไม่ต้องทำอย่างเป็นทางการมาก แต่ต้องมีเจ้าภาพที่ถาวร อย่างไรก็ตาม วาระปรองดองยังต้องเดินหน้า เพียงแต่ยังต้องดั้นด้นมองหาวิธีการใหม่ๆ แต่ต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหารประเทศจริงใจ และไม่ยึดติดกับอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ต้องเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือต้องเอาแกนนำเข้าคุกเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ อีกมาก
นายสุริยะใสกล่าวว่า ถ้ามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองก็คงมีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ถ้ารัฐบาลคิดว่าเอาอยู่ก็จะเอาเข้าสภา ซึ่งมันอาจจะพลิกการเมืองไทยทั้งกระดานได้เหมือนกัน จึงยังไม่คิดว่ารัฐบาลจะกล้าเอาเข้าสภาในเวลาที่เพิ่งถูกอภิปรายจากฝ่ายค้าน จึงไม่น่าจะมีการพิจารณาในสมัยประชุมที่จะมาถึงนี้ รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะเป็นสองเรื่องที่เป็นสายล่อฟ้า รัฐบาลน่าจะสร้างเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้มั่นคงก่อน