xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสและความท้าทายพีอาร์รัฐบาลยุคใหม่ : “ประชาสัมพันธ์จังหวัด”

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

ไพศาล อินทสิงห์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

เชื่อว่า รัฐบาลทุกยุคสมัยที่ผ่านๆ มา อาจไม่ได้นำพา หรือฉวยใช้ประโยชน์จาก “ประชาสัมพันธ์จังหวัด” ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งกลไกพีอาร์รัฐเท่าที่ควร

แม้รัฐบาลปัจจุบันก็ตาม

อาจนำพาบ้าง แต่ไม่ถึงกับโฟกัส

เน้นโฆษกรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งถูกต้อง นั่นก็ว่าไป แต่ถ้าหันมาโฟกัสประชาสัมพันธ์จังหวัด ซึ่งอยู่ในส่วนภูมิภาคด้วย จะดีมั้ย?

เพราะการประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) เป็นเรื่องของการเผยแพร่ให้ข่าวสาร สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

ยิ่งเข้าใจ (นโยบายรัฐบาล) ยิ่งได้

การประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องทางบวก มีแต่ได้ ไม่มีเสีย หนุนงานรื่นไหลเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น...มิใช่หรือ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ประเทศขณะนี้ที่รุมเร้าด้วยอุปสรรค ปัญหาความต้องการ ความขัดแย้งแตกแยก บวกกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ทั้งเร็ว แรง และแข่งขันทั้งจากภายในและต่างประเทศ รวมถึงผลประโยชน์ ผลกระทบต่างๆ จากภัยธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ เหล่านี้ คือ โจทย์อันท้าทายรัฐบาลที่มิเพียงใช้หลักการบริหารจัดการ

ยังต้องใช้หลักการอธิบาย สื่อสารความเข้าใจ

หากไม่บูรณาการใช้กลไกพีอาร์รัฐ อาจลำบาก

หรือรัฐบาลมองว่า ประชาสัมพันธ์จังหวัด เป็นส่วนของจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดว่าไป
คิดได้ แต่ไม่สร้างสรรค์ วันนี้สังคมเปลี่ยน ประชาชนเปลี่ยน ไม่เฉพาะคนในเมืองใหญ่ แต่คนในต่างจังหวัด อำเภอตำบล ชนบทรากหญ้า ก็พัฒนาตื่นตัวไปมาก มีส่วนร่วมในสังคมสูง สนใจรับรู้กิจการบ้านเมือง และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล

ไม่ใช่นิ่งเฉย ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนในอดีตอีกแล้ว

ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ชอบมาพากล ไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม รู้เห็นหมด ใคร อะไร เป็นอย่างไร มีหวังเจอต้าน ประท้วง ทวงถาม

เป็นรัฐบาลยุคใหม่จึงไม่ง่าย

เอาง่ายๆ จะขับเคลื่อนโครงการอะไรลงไปชุมชน ถ้าไม่โปร่งใส ไม่ผ่านประชาพิจารณ์ ไม่สอบถามความต้องการของชุมชน รอดยาก

มิเพียงทวงถาม บางเรื่องบางโครงการ ถึงขนาดรุกเข้าร่วมตรวจสอบเชิงบริหาร เชิงตัดสินใจของรัฐบาล วันนี้ปัญหาความต้องการของสังคมชุมชนไปไกลขนาดนั้นแล้ว

เป็นการปรับตัวเรียนรู้ของประชาชนในสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ไม่ดี เนื่องเพราะรัฐบาลบางทีบางครั้งก็ไม่น่าไว้วางใจ มีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้น ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เท่าทันทุจริตเชิงนโยบาย เป็นอย่างไร

ถ้าทำดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ใครก็ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนพร้อมจะหนุนนำ ปกป้อง และยืนเคียงข้าง

ถูกคือถูก ผิดก็คือผิด จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น ขอให้สุจริต บิดเบือนไม่ได้ ต้องเป็นรัฐบาลธรรมาภิบาลเท่านั้น จึงจะอยู่รอดและได้รับการสนับสนุนไว้วางใจ

เครื่องมือหนึ่งที่จะเคียงข้างการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในปีที่ 2 ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงอยู่ที่การอธิบายชี้แจง มีเหตุมีผล สร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจที่ดีกับประชาชนได้อย่างไร เข้าถึงแค่ไหน

เป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเน้นกลไกพีอาร์รัฐครบเครื่อง ทุกมิติ ทั้งโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวง โฆษกกรม และที่ขาดไม่ได้ ก็คือประชาสัมพันธ์จังหวัด ทั้ง 75-76 จังหวัดในส่วนภูมิภาค

ปูพรมความเข้าใจประชาชนทุกพื้นที่ตารางนิ้วของประเทศ ย่อมดีที่สุด

เกิดปัญหาวิกฤตอะไร หรือแม้ต้องการรุกเรื่องใด ใช้ประชาสัมพันธ์จังหวัด เสริมกัน ย้ำกันกับกลไกพีอาร์รัฐในส่วนกลาง หนุนนำกัน รับส่งกัน เพิ่มความถี่ข่าวสารในการเข้าถึงประชาชน จับมือประสานพลังพีอาร์กันและกัน (ส่วนจะทำงานร่วมกันในรายละเอียดอย่างไร ขออนุญาตไม่กล่าวถึงในที่นี้)

น่าจะมีส่วนช่วยรัฐบาลประสบความสำเร็จที่ดีกว่า

ทุกวันนี้สังคมชุมชนดูจะยึดโยงกันด้วยความเข้าใจเป็นหลัก ถ้ารัฐบาลกับชาวบ้านเข้าใจกัน อะไรๆ ก็ง่าย ไหลรื่น ถ้าไม่เข้าใจกัน ก็ยุ่งยาก สะดุดชะงัก เสียโอกาสประเทศ ประชาชนและรัฐบาลแทนที่จะก้าวหน้าไปไกล แข่งกับประเทศต่างๆได้ ก็หยุดๆ เดินๆ ไปไม่ถึงไหน

ต้องยอมรับว่า กลไกประชาสัมพันธ์ 75-76 จังหวัด เป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์รัฐที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุม และเข้าถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศ พาดไปตรงไหน ก็เข้าถึงตรงนั้น หากมองข้ามหรือไม่โฟกัสเท่าที่ควร ก็ถือว่า น่าเสียดายโอกาสจากเครือข่ายนี้อย่างยิ่ง

ทั้งที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด มีศักยภาพการทำงานโดดเด่น มีความเชี่ยวชาญพีอาร์ เรียกว่า พร้อมเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลอย่างดี

ยิ่งถ้า 75-76 จังหวัดประชาสัมพันธ์พร้อมกันเป็นแพ็กเกจ อะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้น ประชาสัมพันธ์จังหวัด จึงสำคัญ

และจะไม่มีคำว่า “อ่อนประชาสัมพันธ์” ให้หงุดหงิดรำคาญใจ

มิเพียงรัฐบาลได้ ประชาชนได้ด้วย ตรงนี้สิ มีความหมายและคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะประชาชนคนรากหญ้า คนชนบท คนยากคนจนที่อ่อนแอ อ่อนด้อย และขาดโอกาส จะได้ประโยชน์จากข่าวสารประชาสัมพันธ์รัฐบาลแบบเต็มๆ เนื้อๆ

ได้ประโยชน์จากข่าวสาร เท่ากับได้ประโยชน์จากโครงการรัฐ (เข้าร่วมโครงการ)

ได้ประโยชน์จากโครงการรัฐ เท่ากับ (รัฐบาล) ได้ผลงาน

มีคำถามชวนคิด : ถึงเวลารัฐบาลจะนำพา ฉวยใช้ศักยภาพประชาสัมพันธ์จังหวัด หรือยัง ถ้าไม่ดึงศักยภาพพีอาร์มาใช้ตอนนี้ จะใช้ตอนไหน?

ยังมองว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีนโยบายสร้างสุข สลายทุกข์ให้ประชาชน คนยากคนจน รากหญ้า ซึ่งนโยบาย งานโครงการต่างๆของรัฐบาลก็ลงมาที่ต่างจังหวัดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือคนยากคนจน การดูแลแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค จำนำข้าวบริหารจัดการน้ำท่วม เขื่อน ปราบปรามยาเสพติด 30 บาทรักษาทุกโรค ร้านถูกใจ ธงฟ้าลดค่าครองชีพ ฯลฯ

ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ทุกนโยบายนั่นเอง

หากปล่อยโอกาสจากเครือข่ายประชาสัมพันธ์จังหวัดผ่านไป ก็น่าเสียดาย แต่หากนำพา ฉวยใช้ ก็ยิ่งเสริมกัน ย้ำกันกับกลไกพีอาร์รัฐในส่วนอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวง โฆษกกรม บูรณาการเชื่อมโยง หนุนนำ รับส่งกันและกัน

รับรองข่าวสารรัฐบาลยิ่งแน่นปึ้ก โฆษกรัฐบาลเข้าไม่ถึง ประชาสัมพันธ์จังหวัดเก็บตกให้

เข้าถึงทุกอณูรากหญ้าประเทศ สร้างความได้เปรียบให้รัฐบาลเห็นๆ

ขณะที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดรู้ปัญหาในพื้นที่ก่อน ส่งโฆษกรัฐบาลก่อน แก้ปัญหาได้ก่อนอีกต่างหาก ทำเป็นเล่นไปหากช้า หรือมัวชะล่าใจ ดีไม่ดีบานปลาย อะไรจะเกิดขึ้น

จึงมีคำถามชวนคิดต่อไปว่า : เห็นผลเช่นนี้ ถึงเวลายกระดับมาตรฐานการทำงานประชาสัมพันธ์จังหวัดที่สูงขึ้น เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย งานโครงการต่างๆ ของรัฐบาล จะดี หรือไม่ ประการใด

โดยขออนุญาตนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่าน ผู้ที่เกี่ยวข้องประชาชนทั่วไป อาจเห็นต่าง เห็นมากกว่าผู้เขียน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศของเรา

ในมุมผู้เขียน มองว่า ถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลควรส่งเสริม และสนับสนุนประชาสัมพันธ์จังหวัด ในแนวทาง ดังต่อไปนี้

1. ให้อำนาจประชาสัมพันธ์จังหวัดมากขึ้น เช่น สามารถต่อสายถึงโฆษกรัฐบาล กระทั่งรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี (ถ้าจำเป็น) เสนอแนะนายกรัฐมนตรีในเชิงพีอาร์ และร่วมคิด ร่วมหาทางออก

2. ให้โอกาสและการตัดสินใจในการทำงานประชาสัมพันธ์ เพื่อรัฐบาลมากขึ้น ประชาสัมพันธ์จังหวัดจะต้องเป็นโฆษกรัฐบาลที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด รู้ข้อมูลอะไรดีที่สุด ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย ปัญหาวิกฤตต่างๆ เช่น น้ำป่า พายุโคลนถล่ม ผู้คนจมหาย ล้มตาย รอไม่ได้ จะตัดสินใจอย่างไร เตรียมแนวทางแก้ไข ทางออก แล้วต่อสายผู้ว่าฯ ต่อสายผู้นำรัฐบาล ผู้นำกระทรวง

3. ให้งบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทำงานสะดวก คล่องตัว เช่น จะต้องรีบพาสื่อไปที่เกิดเหตุวิกฤต ใช้เงินทำงาน อำนวยความสะดวกการเดินทางทันที หรืองบเจรจาแขกบ้านแขกเมืองที่จะเป็นประโยชน์เชิงพีอาร์ งบรับรองบุคคลสำคัญๆ มีงบที่จะใช้พบปะเจรจาต่างๆ เพื่อผลทางการประชาสัมพันธ์รัฐบาล เป็นต้น

4. ให้อิสระในการทำงาน สามารถลดละเลิกงานประจำที่หมดความจำเป็นหรือล้าสมัยได้ และหันไปเน้นทำงานเชิงกลยุทธ์ มุ่งประโยชน์ใหญ่ สร้างงานใหม่ๆ ที่จะหนุนนำสังคมประเทศไปข้างหน้า คิดนอกกรอบ ไม่ยึดระเบียบราชการจนเกินไปจนเป็นอุปสรรค อะไรที่ทำไม่ได้ แก้ระเบียบให้ทำได้ถ้าเป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์รัฐ มุ่งประชาชนเป็นหลัก เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยุคใหม่

และเพื่อสร้างมาตรฐานการประชาสัมพันธ์รัฐบาลในต่างจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลคล่องตัวสูงสุด

ขณะที่การมีส่วนร่วมของประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ ฉลาดเรียนรู้มากขึ้น เข้าถึงสื่อ ทั้งอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มือถือ ไอแพด ไอโฟน ฯลฯ เห็นจากสื่อที่ไหนทำได้ ทำแล้วสำเร็จ ทำบ้าง

ดังนั้น รัฐบาลจึงมิเพียงบริหารงาน ยังต้องบริหารประโยชน์ บริหารความเป็นธรรม ใช้หลัก “ธรรมะบริหาร” แล้วพีอาร์ให้ถึง

อ่อนประชาสัมพันธ์กับรากหญ้า คนชนบท 75-76 จังหวัด (อาจ) ยากจะ “เอาอยู่”

วันนี้เกษตรกรประท้วง ไม่ร้องหาผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ไม่ทันใจ ต้องการเห็นผลเร็ว โดยเรียกหารัฐมนตรี หรือไม่ก็จะบุกไปพบนายกรัฐมนตรีถึงทำเนียบรัฐบาล เอามะพร้าวไปเท เอาสับปะรดไปทิ้ง เอาน้ำยาง น้ำนมไปราด ฯลฯ

ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเอาใจเกษตรกรมาใส่ใจรัฐบาล ถ้าเขาไม่เดือดร้อน เขาไม่ไปประท้วงหรอก จะไปให้ร้อนแดดทำไม เหนื่อยก็เหนื่อย หิวก็หิว ลำบากลำบน ตรงนี้รัฐบาลจะข้ามช็อตอย่างไรให้จบในจังหวัด จะสื่อสารสั่งการผู้ว่าฯ อย่างไร จะสื่อสารสั่งการประชาสัมพันธ์อย่างไร เจรจากับเกษตรกรผู้ประท้วงอย่างไร

ที่สำคัญ ประชาสัมพันธ์จังหวัด ต้องรับลูก และพลิ้วไหวให้ดีๆ

ปัญหาใหญ่ ยาก เร็ว แรง ซับซ้อนเกินกว่าจะตั้งรับทำงานแบบเดิมๆ เกษตรกรต้องการเร็ว ไปเกียร์ 5 แล้ว กลไกพีอาร์รัฐ ยังไปเกียร์ 3 อยู่ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะชนะปัญหา

มิเพียงนั้น ยังสะสมรอวันปะทุขึ้นมาเมื่อใด ก็เมื่อนั้น เจอต้าน ประท้วง ทวงถาม ปิดถนนไม่สิ้นสุด

ไหนจะกลุ่มอื่นๆ อีก ผู้บริโภค ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ และอื่นๆ อีกสารพัดม็อบ จะทำอย่างไร

ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี จะต้องทำงานแบบมองตาก็รู้ใจ เข้าใจ เข้าถึงกันและกัน

เป็นโอกาสและความท้าทายพีอาร์รัฐบาลยุคใหม่ หากทำได้ จะเป็นมิติใหม่ทางการประชาสัมพันธ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น