ปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุข เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานหลายปี โดยเฉพาะ “วิกฤตกำลังพยาบาล” ที่ถูกซ้ำเติมด้วย “นโยบายการควบคุมตำแหน่งข้าราชการพลเรือน” ตั้งแต่ปี 2543 หลังวิกฤติฟองสบู่แตก ทำให้บุคลากรด้านสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ช่วงปีดังกล่าวเป็นต้นมา ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ยกเว้นแพทย์และทันตแพทย์ที่ยังถือว่าเป็นวิชาชีพขาดแคลน
ฉะนั้น “พยาบาล” จำนวนไม่น้อยจึงมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว โดยจำนวนพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ในสังกัด สธ.มีทั้งสิ้น 26,790 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 12,088 คน หรือร้อยละ 45 ที่ต้องต่อสัญญาจ้างงานทุก 1 ปี ทำให้ขาดความมั่นคงในอาชีพ ขาดรายได้และสวัสดิการที่ทัดเทียมกับข้าราชการ แม้ว่าภาระหน้าที่การงานจะไม่แตกต่างกัน ขณะที่ส่วนหนึ่งเดินหน้าหาอนาคตด้วยการลาออกไปทำงานในภาคเอกชน
ครันก็มาถึงวัน “ทวงถามถึงสัญญา” จากเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลรัฐให้เป็นข้าราชการ
เปิดเวทีหาทางออก “วิกฤตพยาบาล”
ในการหาทางออกของวิกฤตดังกล่าว คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ร่วมด้วยหน่วยงานภาคีด้านสุขภาพ ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เปิดเวทีสาธารณะ “วิกฤตพยาบาล ระดมปัญญาร่วมหาทางออก” เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพ ร่วมเสนอความคิดเห็น
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “พยาบาล” ถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบสาธารณสุข แต่เดิมวิทยาลัยพยาบาลเป็นผู้ผลิต โดยนำคนในท้องถิ่นมาเรียนแล้วส่งกลับไปบรรจุในโรงพยาบาลท้องถิ่น จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสมองไหล แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ รัฐจึงต้องจำกัดกำลังคนในภาครัฐ
ผลกระทบตามมา คือ ทำให้มีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการน้อยลง มีแต่ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว จึงเกิดการสะสมพยาบาลที่ไม่ได้บรรจุ จากจำนวนหลักร้อยเพิ่มเป็นพันจากหลักพันเพิ่มเป็นหลักหมื่นที่ไม่ได้รับการบรรจุ ตอนนี้ปัญหาเรื่องกำลังพยาบาลเปรียบเสมือนอยู่ในถ้ำมืด จึงต้องช่วยกันหาแสงสว่างของทางออกร่วมกัน...
ข้อมูลจากเอกสารความจริงว่าด้วยตำแหน่งข้าราชการกับวิกฤตกำลังพยาบาล ระบุว่า ผลกระทบต่อระบบสุขภาพเมื่อบุคลากรไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องสำคัญ คือ
1.ผลกระทบต่อการเงินการคลังของโรงพยาบาล เช่น วิกฤตการเงินของโรงพยาบาลหลายแห่งถูกซ้ำเติมมากขึ้น เมื่อต้องนำรายได้ที่มีไม่เพียงพออยู่แล้วมาจ้างลูกชั่วคราวสายวิชาชีพเพิ่ม เพื่อให้มีกำลังคนเพียงพอกับความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
2.ผลกระทบต่อบุคลากรในระบบสุขภาพ สถานะลูกจ้างชั่วคราวที่รายได้น้อย สวัสดิการต่ำ ขาดแรงจูงใจ ไม่มีความมั่นคง มีภาระงานที่ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมวิชาชีพที่เป็นข้าราชการอาจส่งผลให้กำลังคนใหม่ไม่เดินเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพภาครัฐ และกำลังคนเดิมในระบบมีภาระงานมากขึ้น
3.ผลกระทบต่อการให้บริการสุขภาพ การมีกำลังคนที่ไม่เพียงพอในระบบบริการสุขภาพ รวมถึงการที่กำลังคนที่เป็นทีมสุขภาพต้องอยู่ในระบบพร้อมกับความรู้สึกไม่มั่นคง ทำให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศมีความไม่มั่นคงตามไปด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ทาง http://www.hsri.or.th/issue/1004)
ทางแยกปลดวิกฤตพยาบาล
จากเวทีวิกฤตพยาบาล ระดมปัญญาร่วมหาทางออก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเป็นข้าราชการทั้งหมด เพราะด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งกรอบอัตรากำลังและงบประมาณภาพรวมของประเทศ ทว่า สิ่งที่ สธ. ต้องดำเนินการ คือ การปรับบทบาทกระทรวง ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และการบริหารกำลังคนด้วยการจ้างงานในหลายรูปแบบ
ส่วนการแก้ปัญหาให้กลุ่มพยาบาลที่มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่เรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการนั้น ขณะนี้ สธ.ได้ยกร่างระเบียบกระทรวง “พนักงานกระทรวงสาธารณสุข” (พนง.กสธ.) ไว้แล้ว รอเพียงให้กระทรวงการคลังเห็นชอบจะมีผลบังคับใช้ทันที
สาระสำคัญของร่างระเบียบดังกล่าวจะมีการแบ่งกำลังคนเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัช 2.กลุ่มสนับสนุน เช่น ธุรการ การเงิน บัญชี และ 3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เช่น สถาปนิก วิศวะ หรือกลุ่มงานอื่นที่กระทรวงฯ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ทำให้หลังจากนี้จะไม่มีระบบลูกจ้างชั่วคราวอีกต่อไป
“พนักงานกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจะได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า มีสิทธิการลาเท่ากับข้าราชการ ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลจะนำเข้าระบบกองทุนประกันสังคม ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับมาตรฐานทั้ง 3 กองทุนให้เท่าเทียมกัน (ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการข้าราชการ) อย่างไรก็ตาม พนง.กสธ.จะไม่มีบำเหน็จบำนาญ แต่จะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสาธารณสุข โดยการหักเงินสะสมและรัฐจะสมทบในอัตราเท่าๆ กันเข้ากองทุนทุกเดือน” รองปลัด สธ.กล่าว
ส่วนในเรื่องของความก้าวหน้าในวิชาชีพจะแก้ไขระเบียบบางเรื่องเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถเติบโตในสายงานได้ รวมทั้งสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับคนในครอบครัว
นอกจากนี้ ในการประชุมเพื่อหาทางออกจากวิกฤติดังกล่าว เช่น “ข้อเสนอจัดอัตรากำลังและการบริหารจัดการบุคลากรในภารกิจบริการด้านสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” โดย วิไลลักษณ์ เรืองรัตนตรัย นักวิจัยและคณะ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ การปรับรูปแบบการจ้างงานเป็นรูปแบบอื่นๆ ที่มีข้อพึงให้ความสำคัญในหลายประเด็น
เช่น การใช้คำว่าลูกจ้างที่ผ่านมาทำให้มีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินหรือสินเชื่อ การปรับปรุงระบบการจ่ายค่าตอบแทน รวมถึงการพิจารณาเพิ่มตำแหน่งข้าราชการในกรณีที่จำเป็น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาขาดแคลนในบางพื้นที่ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว คือ การพัฒนารูปแบบการจ้างและการกำหนดค่าตอบแทนแนวใหม่ การศึกษาปัจจัยทางด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการบริหารจัดการบุคลากร พัฒนาการจัดระบบบริการที่มีการใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส.ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นแนวทางในการบริหารบุคลากร กรณีศึกษา ‘การประเมินผล 10 ปี โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)’ โดยระบุว่า รพ.บ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลที่มีฐานะเป็นองค์กรอิสระแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพจำนวน 184 คน โดยทุกตำแหน่งมีฐานะเป็นพนักงานโรงพยาบาล ไม่มีใครเป็นข้าราชการ ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เห็นได้จากการเข้ารับบริการและอัตราการลาออกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการลาออกของบุคลากรในสังกัดโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตพยาบาลมีมานานแล้ว โดยรอการบรรจุมานานกว่า 7 ปี ส่วนการบรรจุเป็นพนักงาน กสธ.เป็นทางออกในระยะยาว แม้ว่าระบบเงินเดือนจะเท่ากับข้าราชก็ยังไม่พอ ยังไม่จูงใจ ทั้งนี้เมื่อการบรรจุพยาบาลกลับมาใช้ระบบแบบเดิมไม่ได้อาจต้องมาคิดนอกกรอบ เช่น ปลดล็อคนโยบายของรัฐเพื่อให้มีอัตราที่เหมาะสม
ส่วนตัวแทนสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ เสนอว่า การบรรจุเป็นข้าราชการทั้ง 20,000 - 30,000 คนภายในปีเดียวคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นพวกเราจึงต้องช่วยกันผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขเจรจาร่วมกับทาง ก.พ.โดยบรรจุเป็นข้าราชในปีแรกให้ได้ประมาณ 8,000 ตำแหน่ง
ตัวแทนโรงพยาบาลบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา วิกฤตพยาบาลที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้นำในการแก้ไขปัญหา พยาบาลยังทำงานหนัก สัดส่วนบุคลากรน้อย ทำให้ประชาชนได้รับบริการตามมีตามเกิดหรือตามกำลัง เราจะหาทางออกในการบรรจุเป็นข้าราชการเป็นเป้าหมายของพยาบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการ การได้เงินตอบแทนไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียว เรื่องของศักดิ์ศรีก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ”
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการ สธ.กล่าวว่า ปัญหากำลังพยาบาลคนนอกยากที่จะเข้าใจ ทั้งนี้อย่าเพิ่งหวังอะไรกันมาก เพราะจะกลายเป็นการหลอกกัน มองอีกทางหนึ่ง คือ การฝากสำนักงบประมาณพิจารณาว่า นโยบายลดอัตรากำลังที่ผ่านมาช่วยลดงบประมาณมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าหรือไม่ เพราะการแก้ระเบียบจากลูกจ้างชั่วคราวมาเป็น พนง.กสธ.ก็ยังต้องใช้งบประมาณของรัฐอยู่ดี
แม้จะดูเหมือนว่าวิกฤตพยาบาลในครั้งนี้ยังดูเหมือนมืดมนไร้ทางออก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน และร่วมกันเสนอทางออกจากปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้ข้อคิดเอาไว้ว่า “อย่าไปยึดติดกับสิ่งหนึ่ง สิ่งใดอย่างเดียว จะบรรจุเป็นข้าราชการเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องใช้สติในการพิจารณาปัญหาที่เป็นจริง ในการนำเสนอสิ่งที่ดี เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป”