xs
xsm
sm
md
lg

“ซีทีเอช”ระดม2หมื่นล. จ่ายลิขสิทธิ์แพงสุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เปิดแผน “ซีทีเอช” ระดมเงินทุน ลุยโปรเจ็คต์ยักษ์ พรีเมียร์ลีก วงในชี้ต้องเพิ่มทุนกว่าครึ่งจากเงินกู้แน่ สื่อนอกเผยไทยแย่งกันซื้อลิขสิทธิ์ส่งผลให้ต้องจ่ายแพงสูงสุดเป็นอันดับที่สองของโลกเพิ่มขึ้นถึง 432% ทะลุหมื่นล้านบาท

หลังจากที่ บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีทีเอช ที่คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก 3 ฤดูกาล ( 2013/2014, 2014/2015, 2015/2016 )ในไทย ลาว และเขมร ไปได้แบบพลิกความคาดหมายแล้ว หลายฝ่ายต่างจับตาดูว่า แล้วจากนี้ ซีทีเอช จะบริหารจัดการอย่างไร
โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งเงินทุน กับโครงการที่ “วิชัย ทองแตง” ประธานกรรมการบริหาร ซีทีเอช ย้ำว่า การลงทุนงานนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

***โจทย์หินเงินทุน2หมื่นล.
การลงทุนหลักมี 2 ส่วนคือ 1.การลงทุนเพื่อวางโครงข่ายกว่า 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งซีทีเอชไม่ได้วางระบบเองแต่เป็นในลักษณะของการเช่าจากทีโอที และซิมโฟนี่ โดยจะแล้วเสร็จเริ่มใช้ได้จริงช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป และเป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว่วา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ซีทีเอช จะเริ่มทำการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างโครงข่ายเคเบิลทั่วประเทศของสมาชิกผู้ประกอบการทั้งหมดกับระบบกลางเพื่อเป็นการทดลอง ก่อนที่จะเริ่มแพร่ภาพพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ในปีหน้า
2.การลงทุนเพื่อจัดซื้อและจัดหาคอนเทนต์มาลงในเคเบิลทีวีกว่า 13,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินจำนวนนี้ เป็นงบในส่วนที่นำไปซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกครั้งนี้ด้วย
ว่ากันว่า มูลค่าการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยจากนายวิชัย แต่อย่างใด

ณ เวลานี้ ซีทีเอชมียอดการใช้จ่ายจริงจากงบดังกล่าวอยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท แบ่งเป็นการเช่าเทคโนโลยีไฟเบอร์ออฟติก และการสั่งซื้อเซ็ทท็อปบ๊อกซ์ หรือกล่องรับสัญญาณ 2.5 ล้านกล่อง ซึ่งเป็นยอดทยอยจ่ายกับเจ้าหนี้ ส่วนมูลค่าซื้อพรีเมียร์ลีกนั้น จะแบ่งจ่ายแบบปีต่อปี ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มจ่าย ซึ่งวิชัยขอสงวนรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานจากสื่อมวลชนต่างประเทศ เดลี่เมล์ ออนไลน์ ระบุ ว่า ประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมลาวและกัมพูชา เป็นประเทศที่มีการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก 3 ฤดุกาลติดต่อกันแพงที่สุดติดอันดับที่สองของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 432% จากเดิมที่ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 38 ล้านปอนด์ มาเป็น 202 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 10,100 ล้านบาทเศษ (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 ปอนด์ ต่อ 50 บาท) ขณะที่ประเทศพม่าแพงขึ้นสูงที่สุดในโลก 12,400% จากเดิม 0.2 ล้านปอนด์ มาเป็น 25 ล้านปอนด์ แต่ก็เป็นฐานตัวเลขที่ยังต่ำ แต่ค่าลิขสิทธิ์ที่แพงที่สุดคือ 205 ล้านปอนด์ แต่ทั้งทวีปแอฟริกา และเพิ่มขึ้นเพียง 20.5% ซึ่งไทยยังแพงกว่าทวีปอเมริกาที่ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 80 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้นแค่ 280.9% ส่วนในเอเชียด้วยกันนั้น ญี่ปุ่นแพงขึ้น 36% จาก 22 ล่านหอนด์ เป้น 30 ล้านปอนด์ เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นแค่ 6.6% จากเดิม 30 ล้านปอนด์เป็น 32 ล้านปอนด์

** แผนจัดการแหล่งเงินทุน
แต่ที่สำคัญคือ แหล่งเงินทุนที่สำคัญของซีทีเอชจะมาจากไหน
นายวิชัย กล่าวว่า เงินทุน 20,000 ล้านบาท จะมาจากแหล่งใหญ่คือ 1.จากกลุ่มผู้ถือหุ้นซีทีเอช ซึ่งเดิมมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ชำระแล้ว 800 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการเดิม 30%, วิชัย 25%, ไทยรัฐ 25% ส่วนอีก 20% ยังไม่มีการสรุป
2.การกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้มีอยู่อย่างต่ำ 3 แบงก์แล้วที่ตอบตกลงในเบื้องต้น คือ แบงก์กรุงเทพ แบงก์ไทยพาณิชย์และแบงก์ธนชาต
3.รายได้จากกล่องรับสัญญาณ ที่คาดว่าจะไม่ได้ขายแต่ใช้วิธีจ่ายเป็นค่ามัดจำประมาณ 500-600 บาท เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่ 2.5 ล้านกล่อง โดยผลิตตามระบบมาตรฐานของยุโรปกับอเมริกา แต่ผลิตจากประเทศจีนเพื่อต้นทุนที่ต่ำ

** ราคาแพกเกจมีหลบใน
อย่างไรก็ตามที่ซีทีเอชประกาศตั้งแต่แรกว่า ราคาแพกเกจขั้นต่ำอาจจะเป็น 300-500 บาทนั้น ว่ากันว่า เป็นราคาเฉพาะพรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่เมื่อรวมกับค่าแพกเกจเดิมขั้นต่ำของซีทีเอชที่มีผู้ประกอบการมากกว่า 350 ราย เฉลี่ยแพคเกจประมาณ 350-400 บาท นั้น ก็เท่ากับว่า ถ้าคิดอย่างหยาบๆแพกเกจขั้นต่ำสุดที่จะมีพรีเมียร์ลีกดูได้ก็ต้องปาเข้าไป มากกว่า 650-900 บาท ซึ่งจริงหรือไม่คงต้องรออีกระยะ เพราะซีทีเอชย้ำว่า ราคาแพกเกจของซีทีเอชอย่างน้อยยต้องต่ำกว่าที่ทรูเคยขายแพกเกจที่มีพรีเมียร์ลีกดูได้ไม่น้อยกว่า 30-50% ซึ่งราคาของทรูวิชั่นส์สำหรับแพกเกจแพลททินั่มเฮชดีดูพรีเมียร์ลีกได้ราคา 2,000 บาท

ปัจจุบันซีทีเอชมีฐานสมาชิกประมาณ 3.5 ล้านครัวเรือน โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 ปีจากนี้ จะมีฐานสมาชิกเพิ่มเป็น 7 ล้านครัวเรือน ก็จะเป็นส่วนที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นอีก
นอกจากเงินทุนที่มาจากรายได้จากากรขายกล่องและการขายแพกเกจสมาชิก ก็ยังมีรายได้จากการขายโฆษณาอีกส่วนหนึ่ง ที่จะเข้ามาหมุนเวียนในช่วงของการดำเนินการแต่ละฤดูกาลด้วย

แหล่งข่าวจากซีทีเอช ประเมินคร่าวๆว่า ทั้งสปอนเซอร์และเม็ดเงินโฆษณาที่จะเข้ามาสู่ช่วง 3 ปีของพรีเมียร์ลีกไม่น่าจะต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
ฐานรายได้หลักของซีทีเอช ประเมินว่าจะต้องมาจาก ค่าบริการรายเดือนค่าสมาชิก 50% ค่าโฆษณา 20-30% และรายได้อื่น เช่น จากอินเทอร์เน็ต จากโฮมชอปปิ้ง ในอนาคต
“ซีทีเอชคงไม่ใช่เป็นผู้จ่ายรายเดียว เพราะเราคงมีพันธมิตรเช่น ผู้ที่รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดต่อเป็นช่วงๆในแพลทฟอร์มต่างๆ” แหล่งข่าวกล่าว
นายวิชัย ยืนยันว่า ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจะเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้ให้กับซีทีเอชตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งก็หมายความว่าเริ่มมีเงินทุนและรายได้เข้ามาบ้าง

***เพิ่มทุนเข้าตลาดหุ้นระดมทุน
แหล่งข่าวจากซีทีเอช อธิบายว่า จากนี้จะต้อมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก และจะนำบริษัทฯเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นช่อทางในการระดมทุนอีก
อีกทั้งจำนวนหุ้นที่เหลืออีก 20% นั้น แม้ว่าจะไม่สามารถสรุปกับทางนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ เนื่องจากแหล่งข่าววงในระบุว่า ทางนายไพบูลย์ต้องการเข้ามาถือหุ้นในนามส่วนตัว แต่ทางซีทีเอชต้องการให้เอาจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เข้ามาถือหุ้นแทน แต่หลังจากนี้เชื่อได้ว่า จะมีผู้สนใจขอเข้าถือหุ้นเป็นจำนวนมากเนื่องจากซีทีเอชมีพรีเมียร์ลีกเป็นแม่เหล็กดูดอย่างแรง

***ชี้ซีทีเอชต้องขาดทุนต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากวงการตลาดเงินตลาดทุน กล่าววิเคราะห์ถึงการบริหารจัดการแหล่งเงินทุนของซีทีเอชไว้ว่า
“ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกที่ ซีทีเอช ได้มาไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับการลงทุนได้ แต่มองว่าเป็นกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจมากกว่า โดยใช้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นหัวหอกในการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเป็นสมาชิก ต่อจากนั้นจะมีการต่อยอดธุรกิจอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อช่วยสร้างจุดคุ้มทุน
กระแสเงินหมุนเวียนและทำกำไรให้ธุรกิจ ซึ่งทำให้เชื่อว่าโดยรวม ซีทีเอช จะต้องขาดทุนจากต้นทุนรายการที่สูงไปต่อเนื่อง 2-3 ปี กว่าจะเริ่มมีฐานลูกค้าที่เพียงพอช่วยบริษัทลดภาระได้

โดยเฉพาะค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกนั้น หากมีมูลค่า ถึง 9,000 ล้านบาท ก็หมายถึงเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท ยิ่งรวมกับแผนลงทุนในด้านการวางโครงข่ายตามแผนธุรกิจที่ใช้รวม 20,000 ล้านบาทใน 3 ปี ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับ ซีทีเอช

ขณะเดียวกันมองว่า ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลอังกฤษที่ซีทีเอชชนะ คงไม่ได้หมายถึงบริษัทต้องหาเงินจำนวนมากไปจ่ายให้หมดภายในทันที แต่อาจมีค่ามัดจำส่วนหนึ่ง  ที่เหลือทยอยจ่ายเป็นงวด ซึ่งนั่นหมายถึงจะช่วยผ่อนปรนความตึงเครียดของทางการเงินได้อีกระดับ

**ต้องเพิ่มทุนครึ่งหนึ่งของวงเงินกู้
ส่วนวงเงินกู้ยืมเพื่อใช้ลงทุนเพิ่มเติม ด้วยความที่เป็นบริษัทใหม่และยังมีขนาดเล็ก หากเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท ก็จะทำให้บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นไปถึงครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ต้องการกู้ยืมธนาคารเพื่อใช้เป็นหลักค้ำประกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

โดยในเรื่องนี้หากเปรียบเทียบกับทรู วิชั่นส์ที่ดำเนินกิจการมาก่อนการระดมทุนจำนวนมหาศาลของ บริษัทลูกของ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น น่าจะมีน้ำหนักและความได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ผู้ถือหุ้นต้องลงขันเงินทุนบางส่วนด้วยเงินตนเอง

ปัจจุบัน ตัวเลขโดยประมาณของผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกเคเบิลภูมิภาคทั่วประเทศอยู่ถึง 10-15 ล้านจาน หากโอนมาเป็นสมาชิกซีทีเอช ประมาณ 10 ล้านจาน ค่าแพคเกจรายเดือน 500 บาท ก็จะมีเม็ดเงินเข้าสู่บริษัทเดือนละ 5,000 ล้านบาท ยังไม่นับเม็ดเงินจากรายได้ค่าโฆษณา และค่าสัมปทานที่จะเรียกเก็บกับสถานีโทรทัศน์ และเคเบิลท้องถิ่นใน กัมพูชา และสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น