xs
xsm
sm
md
lg

หมื่นล.แลกพรีเมียร์ฯ “ไทย” เบอร์ 1 ทุ่มบ้าเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรีเมียร์ ลีก มูลค่าสูงที่สุดในโลก
บริษัท เคเบิล ไทยโฮลดิง จำกัด หรือ “ซีทีเอช” (CTH) เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล พรีเมียร์ ลีก ประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว 3 ปี ตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 เป็นต้นไป ทุ่มเงินมากกว่าเจ้าของเดิมคิดเป็น 432 เปอร์เซ็นต์ ติดอันดับ 2 จากการประมูลทั่วโลกที่มีประกาศผลเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่นับ พม่า และ อเมริกา ทุกโซน ถือว่าเป็นการทุ่มบ้าเลือดมากที่สุด จากการตีข่าวของ “เดลี เมล” สื่อดังของอังกฤษ

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา “ซีทีเอช” ที่มี วิชัย ทองแตง อดีตทนายความและนักลงทุนตัวยงธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงมีหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่ง กับ วัชร วัชรพล ทายาทของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็น 2 หัวเรือใหญ่ ยอมจ่ายเงินถึง 202 ล้านปอนด์ (ประมาณ 10,100 ล้านบาท) เพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ ลีก 3 ปี มาจาก 3 ตัวเต็ง คือ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน), จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันบิด

จากเดิมที่ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ครอบครองสิทธิ์ พรีเมียร์ ลีก ระหว่างปี 2010-13 ใช้เงินไปเพียง 38 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) แลกมา เท่ากับว่า “ซีทีเอช” ยอมจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 432 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามากที่สุดในโลก ถ้าไม่นับ เบอร์มา หรือ พม่า ที่เพิ่มขึ้น 12,400 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขเดิม คือ 200,000 ปอนด์ (ประมาณ 10 ล้านบาท) เป็น 25 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,250 ล้านบาท) และอเมริกา ที่แยกเป็นโซน

พม่าหนึ่งในประเทศที่ยากจนสุดในโลก แรงงานมีรายได้เฉลี่ย 819 ปอนด์ (ประมาณ 40,000 บาท) ต่อปี ยอมจ่าย 25 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,250 ล้านบาท) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ ทั้งที่ปัจจุบันสัญญาทีวีมีมูลค่าเพียง 200,000 ปอนด์ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น 12,400 จึงถือว่าฮือฮามาก

ส่วนประเทศอื่นโซนเอเชียเช่นเดียวกับ ไทย ที่เพิ่มขึ้นระดับน่าตกใจ คือ เวียดนาม 267 เปอร์เซ็นต์ จาก 6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 300 ล้านบาท) เป็น 22 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,100 ล้านบาท), อินเดีย 225 เปอร์เซ็นต์ จาก 28 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท) เป็น 91 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4,450 ล้านบาท) และ มาเลเซีย 114 เปอร์เซ็นต์จาก 65 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,250 ล้านบาท) เป็น 139 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,950 ล้านบาท)

ขณะที่ตลาดอื่นๆ ในเอเชียที่ถือว่ามีเม็ดเงินในการลงทุนมหาศาลอย่าง สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ตัวเลขกลับไม่ขยับ ส่วน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น แต่เทียบไม่ได้กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน จีน ได้ซื้อลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ ลีก เพิ่มขึ้น 31 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,550 ล้านบาท) เป็น 38 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) ทว่า มีออปชันครอบคลุม 6 ปีนับตั้งแต่ซื้อครั้งแรก

ส่วนซีกอื่นของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา “เอ็นบีซี” เอาชนะคู่แข่งด้วยตัวเลข 157 ล้านปอนด์ (ประมาณ 7,850 ล้านบาท) เพื่อขึ้นถึง 273.8 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเกือบ 4 เท่าที่ “ฟ็อกซ์” จ่ายระหว่าง 3 ฤดูกาลก่อนหน้านี้ แต่ถ้าทั่วทั้ง อเมริกา รวมเป็นเงินมากถึงราว 240 ล้านปอนด์ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) จากเดิมแค่ราว 60 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)

สำหรับลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ ลีก 3 ปีจากนี้ที่ทำเงินได้ถึง 5.5 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 275,000 ล้านบาท) จากทั่วโลกนั้นเกือบแตะหลัก 2 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 100,000 ล้านบาท) แต่เสริมค่าถ่ายทอดจาก สกาย และ บีที อีก 3 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 150,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีค่า แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ ไฮไลท์ จาก บีบีซี อีก 178 ล้านปอนด์ (ประมาณ 8,900 ล้านบาท) ยังมีค่าถ่ายผ่านอินเทอร์เน็ตที่สามารถขายได้อีกด้วย
ตัวเลขที่ เดลี เมล สำรวจออกมา
ซีทีเอช ทุ่มจนฮุบได้สำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น