xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ข้าว” จีทูจี “จีน” แท้ง “บุญทรง” ทำขายขี้หน้า “ครม.” ต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญทรง เตริยาภิรมย์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -งามหน้ากันไปทั้งประเทศไม่แพ้กรณี “woman’s touch” ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทีเดียว ต่อความล้มเหลวในการเซ็นลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับกระทรวงพาณิชย์ของจีนว่าด้วยการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ จีทูจี ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2556-2558

เพราะเมื่อครั้งที่ “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เด็ก “เจ๊ ด.” ยัดไส้เข้ามาเป็นวาระจรให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มี ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมานั้น นายบุญทรงคุยโวโอ้อวดว่า เป็นเอ็มโอยูที่จีนตกลงสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งซื้อขายปีละ 300,000 ตัน เป็นไม่เกินปีละ 5,000,000 ตันระหว่างปี 2556-2558

แต่เอาเข้าจริงกลับมิได้เป็นไปตามนั้น เพราะจีนไม่เล่นด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงจำต้องมีการแก้ไขกันอย่างฉุกละหุก แถมกลับกลายเป็นว่า เอ็มโอยูฉบับใหม่ไม่กำหนดปริมาณและเวลาเอาไว้

นายบุญทรงให้เหตุผลว่า “เนื่องจากฝ่ายจีนเห็นการระบุตัวเลขซื้อขายขายในเอ็มโอยูเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะจะไปผูกพันกับโควตาการนำเข้าข้าวของจีนตามข้อตกลงกับองค์การการค้าโลก(WTO) ได้”

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เมื่อตรวจสอบร่างเอ็มโอยูที่รัฐบาลไทยกับจีนลงนามร่วมกัน 3 ข้อก็ยิ่งพบความผิดปกติ

ข้อ 1 คู่ภาคีมีความยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาการค้าข้าวทวิภาคีเป็นอย่างดีบนพื้นฐานของการหารือร่วมกัน

ข้อ 2 คู่ภาคีจะสร้างบรรยากาศความร่วมมือที่มีเสถียรภาพ สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนทุกรูปแบบในภาคของการค้าข้าว รวมถึงจะสนับสนุนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนทุกรูปแบบเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าข้าวและเพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทยให้มากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อ 3 คู่ภาคีจะส่งเสริมสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนของแต่ละประเทศให้มีการจัดการและแก้ไขปัญหาทางธุรกิจในด้านการค้าข้าวอย่างเหมาะสมเท่าเทียมกัน

ข้อตกลงทั้ง 3 ข้อแสดงให้เห็นว่า เอ็มโอยูดังกล่าวมิใช่การซื้อขายข้าวแบบจีทูจี เนื่องเพราะมีรัฐวิสาหกิจและเอกชนเข้ามาร่วมด้วย มิใช่การซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐแต่อย่างใด แถมถ้าจะว่าไปแล้วยังเป็นเอ็มโอยู ที่มิได้มีประโยชน์ประยังอะไรเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นเอ็มโอยูที่มิได้แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า ประเทศไทยจะขายข้าวให้จีนได้สักกี่มากน้อย

“นายอัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการกิตติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า เอ็มโอยูดังกล่าว นับเป็นเอกสารกลวงที่เหมาะไว้ใส่กรอบไว้ที่ห้องรัฐมนตรี จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถนำไปใช้การดำเนินนโยบายบริหารจัดการข้าวได้จริง และรัฐบาลก็ไม่มีแผนที่จะระบายข้าวที่อยู่ในสตอกตั้งแต่ต้น แม้กระทรวงการคลังจะทวงถามแผนการระบายข้าว

ขณะที่การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ที่แนวโน้มปริมาณการรับจำนำข้าว ปี 2555 เพิ่มจาก 8.8 ล้านตัน เป็น 11.11 ล้านตัน และล่าสุดเพิ่มรอบพิเศษ ทำให้ยอดรับจำนำเพิ่มเป็น 13.31 ล้านตัน แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่มีเงิน จึงขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงินเพิ่ม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 เพิ่มจากเดิม 120,000 ล้านบาท เป็น 161,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ เพราะเต็มเพดานแล้ว ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงต้องกู้เงินโดยที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำ ประกัน ซึ่งเชื่อว่าแม้ตลาดเงินจะให้กู้ แต่ดอกเบี้ยจะไม่ต่ำ ดังนั้น การรับจำนำข้าว ที่เพิ่มมากขึ้น ในที่สุดจะส่งผลให้ ธ.ก.ส. มีปัญหาขาดสภาพคล่องเป็นระยะ ๆ

ขณะนี้นับเป็นครั้งแรกที่กลไกตลาดข้าวถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลมีนโยบายซื้อข้าวเปลือกทุกเมล็ดและผูกขาดตลาดข้าวเปลือก ผูกขาดการสี และผูกขาดตลาดข้าวสาร ส่วนใหญ่ ส่งผลให้ข้าวเปลือกแพง ขณะที่ข้าวสารถูก เพราะรัฐบาลแทรกแซงผ่านค่าสีข้าว

หากยังจำกันได้ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า หากทำได้จริงจะดึงราคาข้าวสูงขึ้น 10-15% แต่ประเด็นคือจะมีการส่งมอบข้าวจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ลมปากเพราะเป็นแค่เอ็มโอยู และตัวเลขส่งมอบให้จีนปีละ 5 ล้านตันสูงจนโอเวอร์ ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะโดยปกติจีนจะนำเข้าข้าวแค่ปีละ 1-1.5 ล้านตัน มีปีนี้ที่จีนนำเข้าข้าวเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัน เพราะพื้นที่เพาะปลูกในภาคใต้ประสบน้ำท่วม ที่สำคัญไม่มีประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่จีน นำเข้า

และเอาเข้าจริง ก็มิได้ผิดไปจากที่นายชูเกียรติพยากรณ์เอาไว้แต่อย่างใด

งานนี้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เด็ก “เจ๊ ด.” ที่เป็นผู้ยัดไส้เรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในลักษณะของวาระจร

งานนี้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ “คณะรัฐมนตรี” ที่มีมติเห็นชอบตามที่นายบุญทรงเป็นผู้เสนอ

งามหน้าและขายขี้หน้ากันทั้งครม.เลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น