“พาณิชย์” ชี้แจง “เอ็มโอยู” ขายข้าวให้จีนไม่ระบุปริมาณ-เวลาส่งมอบ เพื่อความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย แถมยังไม่ผูกมัดคนทำงาน หากจีนซื้อน้อยกว่าปริมาณที่ระบุไว้
นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะโฆษกข้าวประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการซื้อขายข้าว ระหว่างนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และนายเฉิน เตอ หมิง รมต.การค้าของจีน โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานว่า ถือเป็นการทำเอ็มโอยูร่วมกันครั้งแรก แม้ไทยและจีนจะค้าขายข้าวมานานแล้ว โดยในเอ็มโอยูดังกล่าวไม่ได้กำหนดทั้งปริมาณและช่วงเวลาในการส่งมอบข้าวให้แก่รัฐบาลจีนเพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ประเทศ แต่ระบุเพียงว่าจีนจะนำเข้าข้าวจากไทยให้มากที่สุดผ่านความร่วมมือในทุกด้าน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ขณะที่ไทยจะส่งออกข้าวคุณภาพดีให้แก่จีน
“สาเหตุที่ไม่ระบุปริมาณและระยะเวลาส่งมอบก็เพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะการระบุปริมาณอาจเป็นการมัดคอคนทำงาน เนื่องจากจีนอาจซื้อข้าวจากไทยต่ำกว่าปริมาณที่ระบุไว้ หรืออาจทำให้ประเทศผู้ส่งออกอื่นกล่าวหาได้ว่าทำไมไม่ซื้อจากเขาบ้าง และไม่ต้องกังวลว่าเมื่อไม่กำหนดปริมาณแล้วจีนจะไม่นำเข้า เพราะเอ็มโอยูเป็นการลงนามโดย รมต.ของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศเป็นพยาน ก็เหมือนเป็นสัญญาสุภาพบุรุษที่จีนจะต้องซื้อข้าวจากไทยอยู่แล้ว อีกทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานแล้ว” นายทิฆัมพรกล่าว
โดยหลังจากนี้ทางกรมฯ จะมีการจัดคณะไปจีนเพื่อเจรจาซื้อขายข้าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อจะได้ตกลงปริมาณ ราคาให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ในแต่ละปีจีนมีความต้องการนำเข้าข้าวจากทั่วโลก 1.5-2 ล้านตัน และในปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าข้าวจากไทย 320,000 ตัน เป็นข้าวหอมมะลิ 50% ข้าวขาว 25% ข้าวปทุมธานี 8% ข้าวเหนียว 16% และที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ แต่เมื่อทำเอ็มโอยูแล้วจีนจะซื้อจากไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะมีความต้องการจะซื้อข้าวจากไทยอยู่แล้วทั้งเพื่อบริโภคในประเทศ และเพื่อส่งไปช่วยเหลือประเทศที่ 3 เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งก่อนหน้านี้จีนเคยซื้อข้าวจากไทยเพื่อส่งต่อไปช่วยเหลือคิวบามาแล้ว แต่คงไม่สามารถระบุปริมาณที่แน่ชัดได้ สำหรับปริมาณที่จีนจะซื้อจากไทยครั้งนี้จะเพิ่มเติมจากที่ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ไทยทำสัญญาไปแล้วในปีนี้ปริมาณ 7.32 ล้านตัน ภายใต้ 6 สัญญา กับ 4 ประเทศ คือ จีน อินโดนีเซีย โกตดิวัวร์ และบังกลาเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการลงนามเอ็มโอยูซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐแล้ว ยังมีการลงนามสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างภาคเอกชนของไทย 4 ราย และรัฐวิสาหกิจและเอกชนของจีน 6 ราย จำนวน 8 สัญญา โดยเป็นสัญญานำเข้าข้าวจากไทย 3 ชนิด รวม 300,000 ตัน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเหนียว ราคาเฉลี่ยข้าวทั้ง 3 ชนิดตันละ 800 เหรียญสหรัฐ มูลค่ารวม 240 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 7,200 ล้านบาท
นายทิฆัมพรกล่าวต่อถึงความคืบหน้าการขายข้าวจีทูจีปริมาณ 7.32 ล้านตันว่า ล่าสุดรัฐบาลไทยส่งมอบให้รัฐบาลผู้ซื้อแล้ว 1.7 ล้านตัน มีเงินส่งคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วประมาณ 56,000 ล้านบาท คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถส่งมอบได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.8 ล้านบาท และมีเงินคืน ธ.ก.ส.ประมาณ 70,000 ล้านบาทตามแผนที่วางไว้
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาขายจีทูจีกับอีกหลายประเทศ ทำให้คาดว่าการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ทั้งแบบจีทูจี และของเอกชนจะมีปริมาณ 7.3 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 680 เหรียญ รวมเป็นเงินราว 5,000 ล้านเหรียญ หรือราว 150,000 ล้านบาท ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 พ.ย. 55 ส่งออกแล้ว 6.17 ล้านตัน ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 4,202 ล้านเหรียญ ลดลง 23% แต่ราคาเฉลี่ยในปีนี้สูงกว่าปีก่อน 19%