xs
xsm
sm
md
lg

ความตายของ“นายกฯ สงขลา” ความตายของ “ประชาธิปัตย์?!” (2)

เผยแพร่:   โดย: ปิยะโชติ อินทรนิวาส


เริ่มมีเสียงบ่นจากคนสงขลา โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ในทำนองว่า คดีการเสียชีวิตนายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศบาลนครสงขลา ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ แต่ตำรวจทำคดีแบบดรามาเข้าไปทุกวัน ขนคอมมานโดแต่งชุดเลียนแบบหนังเจมส์ บอนด์ หิ้วปืนเข้าแถวบุกค้นจุดเป้าหมายพอให้พอเป็นข่าว จนเกิดเป็นคำถามตามมาหนาหูว่า ทำคดีเพื่อต้องการเอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือกำลังลากคดีให้เป็นเครื่องมือทำลายล้างกันทางการเมือง

ฟังจากน้ำเสียงตามสภากาแฟต่างๆ ผนวกกับการติดตามคดีของเจ้าหน้าที่ ดูเหมือนแทบทุกฝ่ายจะเทน้ำหนักไปในทิศทางเดียวกันคือ ชนวนเหตุของการลอบสังหารน่าจะเกิดความขัดแย้งการเมืองในพื้นที่

มีเสียงประชดประชันให้ได้ยินด้วยว่า ไม่ว่าจะชาวสงขลาหรือพลเมืองของประเทศนี้ อย่าได้เข้าไปยุ่งอะไรกับความขัดแย้งครั้งนี้เลย ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนในครอบครัวเขาแก้ปัญหากันเองดีกว่า ซึ่งครอบครัวตามความหมายดังว่าน่าจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากความเป็นสายเลือดประชาธิปัตย์ที่เข้มข้นด้วยกัน เคยร่วมกินข้าวหม้อเดียวกัน เพียงแต่อาจจะนอนคนละมุ้ง

เป็นที่รับรู้กันว่า เวลานี้สายเลือดสะตอสีฟ้าในสงขลามี 2 มุ้งใหญ่ที่ขับเคี่ยวกันมาหลายปีแล้ว หัวแถวแต่ละคนก็จัดว่ามีตำแหน่งแห่งหนสำคัญในพรรค คือ นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับนายนิพนธ์ทิ้งอาชีพทนายความเดินเข้าสู่แวดวงการเมืองก่อน ได้เป็น ส.จ.สงขลา 2 สมัยในปี 2528, 2533 และเคยเป็นประธานสภาจังหวัดสงขลา ไต่เต้าลง ส.ส.สงขลาได้รับเลือกถึง 5 สมัย 2535/1, 2535/2, 2538, 2539, 2544 จากนั้นขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ/สัดส่วนของพรรคอีก 3 สมัย 2548, 2550, 2554 ด้านตำแหน่งทางการเมืองปี 2537 เป็นเลขานุการ รมว.ยุติธรรม ปี 2541 เลขานุการ รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม ปี 2542-2543 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) ปี 2543-2544 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน)

หลังเลือกตั้งปี 2548 นายนิพนธ์มีชื่อว่าจะได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค แต่ก็ได้ขอถอนตัวให้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยยอมรับเป็นแค่รองเลขาธิการพรรค เคยถูกพรรควางตัวให้เป็น รมช.คมนาคมเงา และ ผอ.ศอ.บต.ปชป.เงา ซึ่งเทียบได้กับ รมต.เงาดูแลไฟใต้ แม้เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดตั้งรัฐบาลในปี 2551 เขามีความอาวุโสที่น่าจะได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี แต่ความที่โตมาในสายเสธ.หนั่นและนายบัญญัติขั้วตรงข้ามของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพทำให้ชวดตำแหน่งไป ส่วนผู้นำมุ้งตรงข้ามกลับได้ผงาดขึ้นมาแทน

ด้านนายถาวรจากอาชีพทนายความที่ผันไปเป็นอัยการจังหวัดกระบี่ พัทลุง สงขลา และผู้ช่วยอัยการเขต 9 เดินเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการสมัคร ส.ส.สงขลาและได้รับเลือกหลายสมัย 2538, 2539, 2544, 2548, 2550, 2554 มีตำแหน่งสำคัญๆ คือ กรรมาธิการการเงิน การคลังและสถาบันการเงิน รองประธานกรรมาธิการการยุติธรรมและมนุษยชน ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.มหาดไทย พรรคเคยมอบหมายให้เป็น รมช.มหาดไทยเงา แต่พอปี 2551 ได้เป็นตัวจริงในตำแหน่ง มท.3 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวลานี้ก็กลับมาเป็น รมว.ยุติธรรมเงาอีกครั้ง

ภายหลังที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพยึดกุมประชาธิปัตย์ได้เบ็ดเสร็จ นายถาวรจัดเป็นผู้มีบทบาทในพรรคสูงมากคนหนึ่ง มีส่วนร่วมฝากผลงานไว้ในพรรค อาทิ กรณีเทปลับทุจริตเลือกตั้งของนายเนวิน ชิดชอบ ฟ้อง กกต.ชุดสามหนาห้าห่วงจนติดคุก หนึ่งในผู้ว่าคดีให้พรรคพ้นการถูกยุบ เป็นต้น

ความจริงก่อนที่จะแตกเป็น 2 มุ้งใหญ่สงขลา ผู้คนในเครือข่ายล้วนแล้วแต่คือพี่น้องผองเพื่อนกันทั้งนั้น แต่ด้วยผลประโยชน์และหนทางที่ทอดไปเบื้องหน้าของประชาธิปัตย์ถูกทำให้แคบลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่การเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น นำไปสู่การแยกขั้วแบ่งข้างกันชัดเจนขึ้น และก็จากผลประโยชน์อีกนั่นแหละที่ทำให้เกิดการสลับขั้วสลับข้างในบางครั้ง

นายอุทิศ ชูช่วย ที่ในเวลานี้นั่งเป็นนายก อบจ.สงขลา คือเพื่อนเกลอของนายพีระ พื้นเพเป็นคน อ.ระโนดด้วยกัน สมัยใส่กางเกงขาสั้นอยู่ในรั้วโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ทั้งคู่ก็ได้เพื่อนซี้เพิ่มคือนายนิพนธ์ แล้วรวมตัวกันลงชิงสมาชิกสภานักเรียนในสังกัดพรรคเยาวชนก้าวหน้า โดยนายนิพนธ์เป็นหัวหน้าพรรคจึงได้ตำแหน่งประธานสภาไป ส่วนนายอุทิศและนายพีระได้เป็นคณะกรรมการฝ่ายตุลากร ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้เคลื่อนไหวร่วมกับศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ทุกคนสนใจงานการเมือง

ในทางการเมืองนายอุทิศและนายพีระเคยร่วมกันตั้งทีมสงขลาพัฒนาขึ้นยึดอำนาจท้องถิ่น โดยมีนายนิพนธ์อยู่เบื้องหลัง เริ่มจากยึดเทศบาลเมืองสงขลา ไล่เลียงไปสู่เทศบาลข้างเคียง แล้วขึ้นไปกุม อบจ.สงขลาได้สำเร็จแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในห้วงเวลา 8 ปี ซึ่งก็ส่งอิทธิพลถึงสนามเลือกตั้ง ส.ส.สงขลาไปโดยปริยาย จึงเป็นกลุ่มการเมืองที่ถูกจับตามองจากสังคมมาตลอด นายพีระเองได้นั่งเป็นเทศมนตรีในสมัยนายอุทิศเป็นนายกเมืองสงขลา แล้วก็ขึ้นไปเป็นรองนายก อบจ.สงขลาสมัยที่น้องชายนายนิพนธ์คือ นายนวพล บุญญามณี นั่งเป็นนายกฯ

ในทางธุรกิจก็ว่ากันว่า แต่ก่อนนายนิพนธ์กับนายอุทิศคือหุ้นส่วนอนาคตไกล เคยอาศัยคอนเนกชันนายนิพนธ์ต่อไปยังกลุ่มทุนทีพีไอให้ตั้งเป็นตัวแทนในนามบริษัท อาคเนย์ คอนกรีต จำกัด ซึ่งลงขันตั้งขึ้นมา รับงานหลักๆ จากโครงการของท้องถิ่นต่างๆ แต่ภายหลังนายนิพนธ์ต้องถอนหุ้นออกทั้งหมด พร้อมๆ กับการแปรเปลี่ยนจากเพื่อนเป็นขั้วการเมืองตรงข้าม โดยนายอุทิศได้ไปร่วมขั้วกับนายถาวร

ความไม่ลงลอยปรากฏชัดมากก็ตอนที่นายอุทิศก้าวขึ้นนายก อบจ.สงขลา นายพีระขออาสาสานต่อตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลา แต่ปรากฏว่ายอมกันไม่ได้ นายอุทิศส่งน้องชายคือ นายกิตติ ชูช่วย เข้าสู่สนามชิงชัยด้วย โดยมีนายถาวรเป็นแบ็ก มีการกวาดเอา ส.ส.สงขลา 7 คนจากที่มีทั้งจังหวัด 8 คนมายืนเรียวแถวในฐานะผู้สนับสนุนนายกิตติ แต่ความฮึดและการเข้าถึงชุมชนท้องถิ่นของนายพีระทำให้สามารถเอาชนะจนได้ เรื่องนี้ได้กลายเป็นช้างชนช้างในหน้าประวัติศาสตร์ยุคใหม่แห่งเมืองสงขลาไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาสมัยหน้า ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้ว เวลานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านายนิพนธ์ได้ประกาศลงชิงชัยกับนายอุทิศ แล้วต่างฝ่ายต่างก็กำลังวิ่งเต้นเพื่อขอให้ได้ประทับตราเป็นผู้สมัครในนามพรรค จนเป็นที่ร่ำลือกันว่าน่าจะเป็นยุทธหัตถีที่อลังการครั้งใหญ่อีกครั้งของเมืองสงขลา

มีสำนวนไทยกล่าวไว้ทำนองว่า เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ แต่ผมว่าประชาธิปัตย์เองก็น่าจะพลอยฟ้าพลอยฝนไปกับเขาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น