โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
การสังหารโหด “นายพีระ ตันติเศรณี” นายกเทศมนตรีนครสงขลา แม้จะผ่านไปหลายวันแล้ว แต่คนใน จ.สงขลายังให้ความสนใจ ทั้งการติดตามการคลี่คลายคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในวงเสวนา ไม่ว่าจะเป็นที่สภากาแฟ หรือวงประชุมต่างๆ ยังกล่าวขานถึงเรื่องนี้ด้วยความสนใจ
สนใจเพราะเป็นการตายที่มีผู้ “สั่งตาย” อย่างโหดเหี้ยม
สนใจเพราะนายกฯ พีระเป็นนักการเมืองที่ไม่ใช่ผู้กว้างขวาง หรือมีอิทธิพล ชนิดที่ไปไหนมาไหนมีบริวาร มีมือปืนคุ้มกัน แต่เป็นนักการเมืองที่มีภาพเป็นคน “ติดดิน” เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเป็นอะไรหลายๆ อย่างที่จัดอยู่ในด้านของนักการเมือง “น้ำดี”
สนใจเพราะการตายของนายกฯ พีระเป็นการตายที่ยังไม่สมควรตาย เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างนายกฯ พีระกับกลุ่มการเมืองอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งเป็น “เพื่อน” กัน ยังไม่ถึงกับต้องใช้กฎหมายเถื่อน หรือใช้อิทธิพลมืดเข้า “จัดการ”
จากการคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกลายเป็นข่าวรายวันที่ถูกเสนอผ่านสื่อตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ และมีการติดตามพาหนะของคนร้ายที่ถูกนำไปจอดที่ “สถานีวิทยุสงขลาเรดิโอ” ซึ่งเป็นสถานีวิทยุของ “นายกิตติ ชูช่วย”
เป็นนายกิตติ ชูช่วย ที่เป็นคนเดียวกับนักการเมืองหนุ่มที่เคยสมัครนายกเทศบาลนครสงขลา โดยแข่งขันกับนายพีระ ตันติเศรณี ผู้ที่ถูก “สั่งตาย” ซึ่งถูกระบุว่าสาเหตุมาจากประเด็นความขัดแย้งทาง “การเมืองท้องถิ่น”
เป็นนายกิตติ ชูช่วย ที่เป็นน้องชายของ “นายอุทิศ ชูช่วย” นายก อบจ.สงขลา ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ในนามทีม “สงขลาพัฒนา” ซึ่งมีนายพีระ ตันติเศรณี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมีเพื่อนนักการเมืองในกลุ่ม “มหา 19” หรือ “มหาคอนเนกชัน” เช่น “นายนิพนธ์ บุญญามณี” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
และเพราะนายกิตติ ชูช่วย ถูกนำเข้ามาเป็นตัว “ละคร” ที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะพัวพันกับรถยนต์ของ “มือปืน” และมีหลักฐานที่มีความสำคัญอื่นๆ เช่น ปลอกกระสุนปืนที่เป็นชนิดเดียวกับที่พบในที่เกิดเหตุ หมวกไหมพรม และเอกสาร ภาพถ่ายของกลุ่มมือปืนภายในรถยนต์ ซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้คดีนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
เพราะหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวโยงไปยังนายกิตติ ชูช่วย และการรายงานข่าวอย่าง “เกาะติด” ของสื่อมวลชน รวมทั้งการที่ตำรวจออกหมายจับ และจับกุม “นายไพศาล หนูพันธ์” ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นคนสนิทของนายอุทิศ ชูช่วย ซึ่งเป็นเรื่องจริง หรือเท็จยังไม่ชันเจน
แต่ “จิ๊กซอว์” ทั้งหมดที่ถูกนำมาต่อ ก็ทำให้เหตุการณ์ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงไปยังนายอุทิศ ชูช่วย อย่างช่วยไม่ได้
วันนี้ไม่ว่านายก อบจ.สงขลา จะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้รู้เห็นกับเรื่องการสังหารโหดนายกฯ พีระอย่างที่คนใกล้ชิดหลายคนได้พยายาม “สื่อ” ผ่านสาธารณะ แต่ในมุมมอง และในสายตาของสาธารณะต่างปักใจ เข้าใจ และเชื่อว่า นายอุทิศ ชูช่วย ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารโหดนายพีระ ตันติเศรณี ไม่มากก็น้อย
หลายคนที่ค่อนข้างเป็นกลางได้ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้มีเงื่อนงำ อาจจะเป็นการกระทำของ “มือที่สาม” เพื่อป้ายความผิดไปยังตระกูล “ชูช่วย” โดยอาศัยสถานการณ์ที่นายพีระ ตันติเศรณี เปิด “แนวรบ” ทั่วทิศลงมือสังหาร
โดยกลุ่มที่ตั้งข้อสังเกตให้เหตุผลว่า การปฏิบัติการของ “มือปืน” กลุ่มนี้เหมือนเจตนา หรือ “จงใจ” ทิ้งหลักฐานต่างๆ ทั้งในเรื่องของกล้องวงจรปิด เรื่องการหลบหนี การเข้าไปทิ้งรถ และการพบปลอกกระสุนในรถยนต์ของกลาง พบหมวก ภาพถ่าย และเอกสารต่างๆ เพื่อให้เป็นหลักฐานที่สาวถึงตัว “ผู้บงการ”
เป็นอีกมุมมองหนึ่งของผู้ที่สงสัย ซึ่งย่อมมีสิทธิที่จะสงสัย และตั้งข้อสังเกตในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นผิดหลักธรรมชาติของผู้บงการที่มีระดับ ที่ต้องมีการวางแผนไม่ให้พยานหลักฐานมัดตัวเอง เหมือนกับคำพังเพยที่ว่า “จิ้งหรีดต้องไม่กินหญ้าที่ปากรู”
แต่ในอีกมุมมองหนึ่งของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ต่างเชื่อว่า การพบหลักฐานยานพาหนะที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นความผิดพลาดของผู้บงการที่เชื่อมั่นในเรื่องของอิทธิพลและอำนาจที่อยู่ในมือ จึงเกิดความ “ย่ามใจ” เพราะเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองว่าอยู่เหนือกฎหมาย
คดีนี้มาถึงวันนี้ นอกจากการจับกุมตัว “นายไพศาล หนูพันธ์” ในฐานะของผู้ต้องสงสัยได้เพียง 1 คนแล้ว การติดตามจับกุมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งมือปืน และผู้บงการคงจะไม่ง่ายอย่างที่ฝ่ายผู้รักษากฎหมายต้องการ เพราะมีการหลบหนีไปซ่อนตัวนอกพื้นที่ จ.สงขลาจนหมดสิ้นแล้ว และเผลอๆ ตำรวจอาจจะได้ตัวผู้ต้องสงสัยแค่เพียงคนเดียวเท่านั้น
เพราะมือปืนผู้ต้องสงสัยในบัญชีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งผู้จัดการมือปืนซึ่งตำรวจระบุว่าชื่อ “ม.” และมือปืนที่เหลืออีก 2 รายที่ชื่อ “ผ.” แห่ง อ.ระโนด จ.สงขลา และที่ชื่อ “จ.” แห่ง อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง คงไม่ยอมที่จะตกเป็นผู้ต้องหาง่ายๆ อย่างแน่นอน
หากตำรวจไม่สามารถได้ตัวคนเหล่านี้เพื่อให้ “ซัดทอด” ถึงผู้บงการ กระบวนการทางกฎหมายก็จบ เหลือเพียงกระบวนการ “นอกกฎหมาย” ที่จะถูกนำมาใช้ ซึ่งนั่นหมายถึง 2 ฝ่ายที่ต้อง “ห้ำหั่น” กันเอง ทั้งที่เป็นเพื่อน และเป็นเครือญาติกันยาวนาน โดยคนในจังหวัดสงขลาคงไม่อยากให้เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ ช่วงหลังเกิดเหตุเพียง 2 วันได้มีความพยายามจากกลุ่มคนที่เป็น “ผู้บงการ” สั่งตายนายกฯ พีระ ประสานงานผ่าน “ผู้ใหญ่” เพื่อเคลียร์คดี โดยจะนำกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่เพื่อ “ตัดตอน” มิให้ถึงผู้บงการ แต่การเจรจาไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ใหญ่ฝ่ายนายกฯ พีระก็ใช้ “กำลังภายใน” กดดันให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้บงการมาลงโทษด้วย ไม่ใช่จับกุมเฉพาะมือปืน ผู้ชี้เป้า หรือผู้คุ้มกันเท่านั้น
ดังนั้น คดีนี้นอกจากจะมีการประลองกำลังภายนอกแล้ว ยังมีการประลองกำลังภายในจากทั้งสองฟากฝั่งด้วยเช่นกัน
วันนี้ต้องยอมรับว่า บริบทของสื่อในการรายงานข่าวการสังหารโหดนายกฯ พีระ เป็นการนำเสนอข่าวด้านเดียว กล่าวคือ ด้านของการคลี่คลายคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับนายกฯ พีระเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้ง “ล้วง” ข่าวเชิงลึกจากแหล่งข่าวของตนเอง เพื่อเสนอความคืบหน้า และให้เป็น “สีสัน”
แต่ในฟากฝั่งของผู้ที่ถูกกล่าวหา ถูกสงสัย ถูกปักใจเชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง หรืออาจจะมีส่วนรับรู้ หรือพัวพันกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนายอุทิศ ชูช่วย หรือ “นายกฯ ต้อย” ยังไม่มีโอกาสที่ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ข่าวที่นำเสนอไปนั้นไม่ว่าจะ “เท็จ” กี่ส่วน หรือ “จริง” กี่ส่วน แต่ “นายอุทิศ ชูช่วย” ก็แปดเปื้อนไปด้วยคราบไคลของความเลวร้าย ซึ่งต้องสะท้อนไปสู่เส้นทางการเมืองท้องถิ่นในตำแหน่ง “นายก อบจ.สงขลา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ดังนั้น วันนี้สิ่งที่นายอุทิศ ชูช่วย ควรจะทำคือ การออกมาแถลงข้อเท็จจริงในส่วนที่ตนเองถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ดีกว่าที่จะให้สาธารณชน โดยเฉพาะคนใน จ.สงขลาเข้าใจกันเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ ทั้งในด้านการเมือง และกับตระกูล “ชูช่วย” ทั้งสิ้น