xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง300ธุรกิจพัง ซัดรัฐฯประชานิยม นัดกกร.ถกใหญ่วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิดฉากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ยื่นสมุดปกขาวถึงรัฐบาล แนะยึดหลักพอเพียงบริหารประเทศ ทำประชานิยมแค่ช่วงสั้นๆ หวั่นเพิ่มหนี้สาธารณะทำชาติพัง ยันขึ้นค่าแรง 300 บาทปีหน้า ธุรกิจอ่วม ต้นทุนเพิ่ม รายได้หด ปลดคนงาน อัด 27 มาตรการที่ออกมา ยังไม่โดนใจ เตรียมถก กกร. วันนี้ หามาตรการเพิ่ม หลังผลโพลระบุธุรกิจยังไม่พร้อม

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยนำเสนอสมุดปกขาวที่ได้จากการประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ให้กับรัฐบาล โดย ได้เสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกของการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับเศรษฐกิจไทย เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ยั่งยืน และมีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย จึงควรมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาในระยะยาว ด้วยการตระหนักถึงการเติบโตและดูแลธรรมชาติ ควบคู่กันไป ซึ่งได้มีการเสนอให้ยึดหลักการประสานการทำงานและใช้งบประมาณแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น การขุดถนน ร้อยสายโทรศัพท์ วางท่อประปา ควรจะทำไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ รวมทั้งจะต้องเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

ทั้งนี้ หอการค้าไทยยังเห็นว่า การใช้นโยบายประชานิยม ควรส่งเสริมเพียงชั่วคราวและทำเมื่อจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฐานะการเงินของประเทศ และควรจะมุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และเรียนภาษาที่ 3 เพิ่มเติม สร้างความสามัคคีของคนในชาติ การสร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวตลอดจนการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะช่างฝีมือ พัฒนาคุณภาพครู และการพัฒนาเพิ่มทักษะของแรงงาน

ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในการเป็นประธานปิดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 30 และรับสมุดปกขาวผลสรุปและข้อเสนอแนะของการประชุมหอการค้าไทยว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทางที่นำเสนอ โดยจะนำไปเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายต่อไป แต่ยืนยันได้ว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งการจัดการเรื่องน้ำ ลงทุนโครงการพื้นฐานและโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มความสะดวกประชาชนและลดต้นทุนผู้ประกอบการ สนับสนุนเอสเอ็มอีและโอท็อป เตรียมความพร้อมรับเออีซี และประสานความร่วมมือภาคเอกชน ผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ในปีหน้าก็จะเพิ่มความสำคัญต่อกกร.ระดับจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมแล้ว 115 โครงการจากที่ครม.ได้เดินทางไปประชุมร่วมภาคเอกชน

วันเดียวกันนี้ นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงผลสำรวจหอการค้าไทยต่อมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จากผู้เข้าร่วมและสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศว่า กลุ่มสำรวจระบุการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท จะกระทบต่อธุรกิจมากทั้งต้นทุนเพิ่มขึ้น กำไรลดลง

การจ้างงานลดหันมาใช้เครื่องจักรแทน และอาจต้องปรับราคราสินค้าตามมา รวมถึงต้องปิดกิจการ และยังเห็นว่า 27 มาตรการที่รัฐบาลออกมาบรรเทาผลกระทบจากขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ไม่ได้เป็นมาตรการที่พอใจนัก โดยเกือบทั้งหมดได้คะแนนเฉลี่ยเกิน 5 เล็กน้อย จากเต็ม 10 คะแนน เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการเหมาช่วงการผลิต ปรับปรุงอัตราเก็บเงินสมทบ การลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือในด้านเพิ่มผลผลิตภาคแรงงาน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการซื้อเครื่องจักรและลงทุนเพิ่ม ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร ส่งเสริมการลงทุนไปต่างประเทศ

เมื่อสอบถามถึงนโยบายประชานิยม กลุ่มสำรวจกว่า 50% เห็นว่าจะทำให้ก่อหนี้สาธารณะประเทศสูงมากจนถึงขั้นอันตราย และอีก 52% จะทำให้ประชาชนเสพติดสุขนิยม ทำลายการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนที่เห็นด้วยมี 26% และไม่แน่ใจ 22% โดยส่วนใหญ่ได้เสนอแนะให้ทำนโยบายประชานิยมระยะสั้นๆ ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 2556 เห็นว่าโอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดอยู่ 4.1-4.5%

โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ การเมืองเพราะหากมีการชุมนุมยืดเยื้อจะกระทบมาก รองลงมาเป็นภัยธรรมชาติ และเศรษฐกิจโลก

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการรัฐที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังขึ้นค่าจ้าง 300 บาท สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการรัฐบาลยังไม่ตรงใจภาคเอกชน และกว่า 60% ของมาตรการไม่เห็นว่าจะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างได้จริง ซึ่งในวันที่ 19 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันเพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเอกชนหลังปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะส่วนใหญ่ยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับภาครัฐ และเห็นว่ารัฐควรปรับปรุงมาตรการส่วนใหญ่เพื่อก่อประโยชน์สูงสุดต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นธุรกิจสัดส่วน 98% จำนวนนี้ 74% ไม่เข้าถึงมาตรการที่รัฐบาลออกมา ซึ่งเอกชนเห็นว่าก่อนรัฐบาลจะประกาศใช้ก็ควรมีการหารือภาคเอกชนก่อน และหลังจากได้ข้อสรุปก็จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
“หากรัฐบาลยังดันทุรังประกาศใช้ 27 มาตรการ และไม่มีการปรับมาตรการที่สอดคล้องกับภาคเอกชนต้องการจริงๆ จะเป็นแรงกดดันต่อการย้ายฐานการลงทุน เกิดภาวะกระจุกตัวของโรงงานและแรงงาน อย่างกลุ่มส่งออกก็จะย้ายไปโซนใกล้ท่าเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภค ก็แห่กันเข้าในเมืองใหญ่ การให้เกิดกระจายการลงทุน และการจ้างงานก็จะไม่เกิดขึ้น และส่วนหนึ่งก็จะหันไปลงทุนต่างประเทศ เพราะต้นทุนแรงงานขึ้น 40% แต่ฝีมือแรงงานเพิ่มเพียง 6-7%"นายภูมินทร์กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการศึกษาของหอการค้าไทย วิตกว่าเงินที่รัฐหวังเพิ่มเข้าระบบ 1.2-1.5 แสนล้านบาทหลังขึ้นค่าจ้าง 300 บาท อาจไม่ได้เข้าระบบ เพราะบางส่วนชะลอใช้จ่ายวิตกเรื่องเลิกจ้าง และระมัดระวังการใช้จ่าย จนทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 3-5 หมื่นล้านบาท หรือเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มเพียง 0.7%.
กำลังโหลดความคิดเห็น