ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พูดได้คำเดียวว่า “ผีอีแพง" กำลังกลับมาตามหลอกหลอนรัฐบาล “ปู” อีกระลอก หลังจากที่กระแสเรื่องของแพง โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ หรือที่เราๆ ท่านๆ เรียกว่า “จานด่วน” ได้เงียบหายไปหลายเดือน นับตั้งแต่วุ่นๆ ตั้งแต่ปลายปี 2554 เรื่อยมาจนถึงต้นปี 2555
มาวันนี้ ชาวบ้านชาวช่องเริ่มทนไม่ไหว เริ่มออกมาโวยวาย หลังจากที่พาณิชย์ยังทำได้แค่เพียง “เสือกระดาษ” ออกประกาศแนะนำราคาอาหารปรุงสำเร็จ 10 เมนู ตั้งแต่ ก.พ.2555
ตอนนั้น กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศรายการอาหารแนะนำ 10 รายการ พร้อมกำหนดราคาให้ด้วย ได้แก่ ข้าวไข่เจียวไม่เกินจานละ 20 บาท ข้าวราดแกงกับ 1 อย่าง 25-30 บาท และกับข้าว 2 อย่าง 30-35 บาท ก๋วยเตี๋ยวหมู ไก่ หรือลูกชิ้นปลาไม่เกินจานละ 30-35 บาท อาหารตามสั่ง ได้แก่ ข้าวผักกระเพรา ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ไม่เกินจานละ 30-35 บาท ข้าวขาหมู ขนมจีนน้ำยาไม่เกินจานละ 25-35 บาท และไข่ดาวไม่เกินฟองละ 5-6 บาท
หวังเพื่อให้ร้านค้านำไปปฏิบัติ แต่ไร้ผลในทางปฏิบัติ ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครเอาด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหารในสถานที่ราชการ ตลาดสด ให้ขายอาหารตามราคาแนะนำที่กำหนด แรกๆ ก็มีคนบ้าจี้เอาได้ แต่พอเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็กลับเข้าอีหรอบเดิม อาหารราคาตามเมนูแนะนำไม่มี หรือมีแต่ไม่ใช่ราคาที่ว่า หรือถ้าต้องทำแบบเสียไม่ได้ อาหารก็แทบรับประทานไม่ได้ เพราะไร้ซึ่งคุณภาพ ไม่อยากจะบอกว่า "ขนาดหมายังไม่อยากรับประทาน" เพราะเคยมีคนบ่นให้ได้ยินมาแล้ว
จากนั้น สถานการณ์ก็ไร้ซึ่งการควบคุม การปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การปรับขึ้นราคาก็ทำแค่เอาราคาใหม่มาติดทับราคาเก่าให้ลูกค้าเจ็บใจเล่น ซึ่งหลายๆ คนคงได้ประสบพบเจอมากันบ้างแล้ว
ล่าสุด จากการสำรวจอาหารจานด่วนตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับราคาขึ้นจานละ 5-15 บาท เช่น ราคาแกงราดข้าว 1 อย่าง ศูนย์อาหาร เริ่มต้น 40 บาท กับข้าว 2 อย่างเริ่มต้น 50 บาท ราดหน้าเริ่มต้น 45-50 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-45 บาท ข้าวราดกระเพรา 40 บาท ขณะที่ร้านอาหารตามสั่งทั่วไปเริ่มต้นจานละ 35 บาท ก๋วยเตี๋ยว 35-40 บาท ข้าวเปล่าถุงละ 7-10 บาท ไข่ดาวฟองละ 10 บาท
เมื่อสอบถามพ่อค้าแม่ค้า ได้ให้ข้อมูลว่า ได้มีการปรับราคาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากขณะนี้ค่าครองชีพทั่วไปแพงขึ้น จึงต้องมีการปรับราคาอาหารขึ้นตามให้สอดคล้องกัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก รวมถึงค่าเช่าสถานที่ขายอาหาร ก็ยังปรับแพงขึ้น
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางร้านปรับขึ้นราคามาแล้ว 2 ครั้ง ในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสถานการณ์ด้านวัตถุดิบประกอบอาหาร พบว่า ราคาเนื้อสัตว์ และผักสดตามตลาดสด ราคาเฉลี่ยในช่วงเดือนพ.ย.2555 ต่ำกว่าราคาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมมากกว่า 20-30% โดยราคาเนื้อหมูปัจจุบันเฉลี่ย กก.ละ 105 บาท ต่ำกว่าเดือนพ.ย.ปีที่แล้วที่เฉลี่ย กก.ละ 118 บาท ไข่ไก่เฉลี่ยฟองละ 2.52 บาท ถูกกว่าปีก่อนที่ 3.84 บาท เนื้อไก่ กก.ละ 61 บาท ถูกกว่าปีก่อน กก. 65.50 บาท ขณะที่ราคาผักสดแม้จะปรับแพงขึ้นบ้างในช่วงเทศกาลกินเจ แต่ขณะนี้ราคาผักสดก็ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
โดยผักคะน้าปัจจุบันเฉลี่ย กก.ละ 30 บาท ถูกกว่าปีก่อน กก.32-35 บาท ผักบุ้งจีน กก. 16 บาท ถูกกว่าปีก่อนที่ 36 บาท ผักกว้างตุ้ง 12-15 บาท ถูกกว่าปีก่อนที่ 18 บาท ผักกาดขาว กก.ละ 18-20 บาท ถูกกว่าปีก่อน กก. 21 บาท และกะหล่ำปลี กก.ละ 10-12 บาท ถูกกว่าปีก่อนที่ กก. 21 บาท
ท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อมีการออกมาโวยวายของประชาชนถึงราคาอาหารจานด่วนที่ปรับราคาแพงขึ้นอย่างมหาโหด ก็ได้จัดฉาก ขนข้าราชการ ขนผู้สื่อข่าว ไปตรวจสอบภาวะการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในห้างค้าปลีกรายใหญ่ทันที โดยมุ่งไปที่ห้างเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี สาขาแจ้งวัฒนะ ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบแล้ว ก็ไม่พบว่า อาหารมีการปรับขึ้นราคา จัดฉากกันได้เนียนๆ อีกตามเคย
ลองสอบถามพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารอยู่ในศูนย์อาหารของห้างค้าปลีก ก็ได้รับข้อมูลตรงกันทุกร้านว่า มีเจ้าหน้าที่มาตกแต่งหน้าร้านให้ใหม่ เอาสติ๊กเกอร์ราคามาติดให้ โดยเฉพาะราคาที่ตรงกับราคาแนะนำที่กระทรวงพาณิชย์เคยประกาศไว้ เป็นข้อมูลที่ได้มาจากพ่อค้าแม่ค้าโดยตรง
อย่างไรก็ตาม น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า อาหารในห้างค้าปลีก ส่วนใหญ่เป็นไปตามราคาแนะนำที่กำหนด ซึ่งกรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือให้ห้างเพิ่มเมนูธงฟ้าราคา 25 บาทและเมนูธงฟ้าอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอีก ส่วนห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ที่ถูกร้องเรียนว่าขายอาหารแพง อย่างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว และได้ขอความร่วมมือให้ห้างจัดเมนูอาหารธงฟ้าราคาพิเศษให้เป็นทางเลือกด้วย
จากการให้สัมภาษณ์ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า ราคาอาหารที่ขายในราคาแนะนำตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จะมีก็แต่ในห้างค้าปลีก แค่เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี เท่านั้นใช่หรือไม่ หรือว่าจะมีเฉพาะแค่วันที่ไปตรวจ และหลังจากนั้น ก็กลับสู่ภาวะปกติ คือ ขายแพงตามปกติ ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้บริโภคที่จะต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะกรมการค้าภายในบอกไว้ว่า ถ้าหากพบว่าที่ใดมีปัญหา ให้โทรไปถล่มได้เลยที่เบอร์สายด่วน 1569
ส่วนอาหารจานด่วนที่ขายตามร้านค้าแผงลอย ร้านริมทาง หรือร้านห้องแถว กระทรวงพาณิชย์บอกว่า มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว พบว่า มีการปรับขึ้นราคาจริงบางร้าน แต่เชื่อว่า แนวโน้มราคาจะไม่แพงไปกว่านี้ เพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทั้งหมู ไข่ไก่ ผักสด ราคาส่วนใหญ่ทรงตัวและปรับลดลง
โดยเนื้อหมู ราคาในห้างค้าปลีกจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 95 บาท ส่วนตามตลาดสด ราคาปรับขึ้นตามต้นทุนหมูเป็นมาอยู่ที่ กก.ละ 110-115 บาท ขณะที่ไข่ไก่ ราคาเฉลี่ยฟองละ 2.40 บาท
แต่ในความเป็นจริง ราคาเนื้อหมูกำลังจะปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นกก.ละ 115-120 บาท ไข่ไก่ก็กำลังจะปรับราคาขึ้น หลังจากที่มีการตัดวงจรแม่ไก่ไข่ออกจากระบบ ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินลดลง
และในความเป็นจริงไปกว่านั้น ร้านอาหารจานด่วนที่ขายอยู่ทั่วๆ ไป ได้มีการปรับขึ้นราคาไปหมดแล้ว ร้านละครั้ง 2 ครั้ง จนราคาเริ่มต้นวันนี้อยู่ที่จานละ 40-45 บาท หรือเลยไปถึง 50 บาทก็มี จะไปหาอาหารจานด่วนที่เริ่มจากราคา 25-30 บาท หาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังกล้าสร้างภาพ โชว์ภาพ คุมจานด่วนอยู่หมัด ออกสื่อโชว์อย่างไม่อายฟ้าอายดิน ช่างกล้าจริงๆ !!!
งานนี้ประชาชนผู้บริโภคอาหารจานด่วนจะได้รู้ว่ากระทรวงพาณิชย์เล่นปาหี่แหกตาประชาชนไม่ได้ เพราะเวลาออกไปซื้ออาหารจานด่วนจะต้องควักเงินจ่ายค่าอาหารจานด่วนขั้นต่ำจานละไม่ต่ำกว่า 40 บาท หรือไข่ดาวใบละ 10 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์แล้วว่าอาหารจานด่วนแพงขึ้นจริง แต่กระทรวงพาณิชย์ยังปากแข็ง เอาสีข้างเข้าถูอ้างว่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ขายในราคาควบคุม ก็เพราะกระทรวงพาณิชย์ไปบีบให้ผู้ประกอบการต้องขายในราคาที่ต่ำ แล้วคุณภาพอาหารจะกินได้หรือไม่ แล้วประชาชนทั่วๆ ไปที่ไม่อยู่ใกล้ห้างจะทำอย่างไร ต้องรับภาระค่าอาหารจานด่วนที่แพงขึ้น ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ยอมรับความจริงประชาชนจะได้ไม่ต้องไปหากินข้าวจานด่วนราคาถูกตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อีกต่อไป เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่นจะได้หาเงินมาจ่ายค่าอาหารที่แพงขึ้น