xs
xsm
sm
md
lg

“กต.”ตื่นปมพาสปอร์ตแม้ว ส่งผู้ตรวจการ- ปชป.ขย่ม“ปึ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(12 พ.ย.55) นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือชี้แจง กรณีการคืนหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอขอเลื่อนเวลาการชี้แจงประเด็นดังกล่าว ออกไป 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันส่งหนังสือชี้แจงในวันนี้ (12 พ.ย.) ส่วนรายละเอียดในหนังสือชี้แจง ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นหนังสือที่ส่งถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันเดียวกันนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณี นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ดีแต่พูด โกหกเก่ง ไม่มีข้อมูลที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ ที่ทำงานตามระบบรัฐสภา และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อตอบแทนประเทศชาติและประชาชน ซึ่งตรงกันข้ามกับนักการเมืองบางประเภทที่เคยอยู่พรรคมาก่อน กลับไปยอมขายตัวและคุกเข่าอ้อนวอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยยอมเป็นบริวารเพียงเพื่อหวังตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะคนเหล่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ควรจะมีอยู่แล้ว
สำหรับกรณีที่ในการอภิปรายฯ ไม่มีชื่อของ นายสุรพงษ์ ในกรณีการคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีอาญาแผ่นดินนั้น ถึงแม้จะไม่มีการอภิปรายฯตัวของนายสุรพงษ์ในสภาก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีถูกอภิปรายด้วย ดังนั้น นายสุรพงษ์ ควรยุติการโยนความผิดให้กับข้าราชการประจำ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ นายสุรพงษ์ ดำเนินการเอง และได้มีส่งเรื่องยื่นถอดถอนไปยัง ป.ป.ช. เพราะฉะนั้น นายสุรพงษ์ไม่ต้องรีบร้อน เพราะได้รับผลกรรมที่ได้กระทำอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยแจ้งผลการวินิจฉัยมีเนื้อหาว่า จากกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทางของบุคคลที่มีสัญชาติไทยที่ใช้ในการเดินทางในต่างประเทศ อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาออกหนังสือเดินทางแก่ผู้ร้องขอ และพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถที่จะปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอ ยกเลิก และเรียกหนังสือเดินทางได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลที่ไม่สามารถออกหนังสือเดินทางได้ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงแนวปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่กำหนดให้กรมการกงสุลปฏิเสธรับคำขอหนังสือเดินทางเมื่อพบว่าบุคคลที่ร้องขอเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
และจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับไว้แล้ว และเป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และยังเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศตามฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นหลักสำคัญของการออกหนังสือเดินทาง แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะใช้ดุลยพินิจยับยั้งการออกหนังสือเดินทาง และแม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศอ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรมว.การต่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศก็พบว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ได้ให้รมว.การต่างประเทศมีอำนาจในเรื่องนี้ นโยบายของรมว.การต่างประเทศเป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกหนังสือเดินทางเท่านั้น แต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องยึดระเบียบกระทรวงการต่างประเทศเป็นสำคัญ
ข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ไว้เสียก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติหรือพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำยืนยันสถานะบุคคลและคดี ซึ่งเป็นวิธีที่จะได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้เพื่อให้การออกหนังสือเดินทางแก่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปอย่างถูกระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง และแนวปฏิบัติที่กระทรวงการต่างกำหนดไว้ การไม่พิจารณาตามข้างต้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยตามมาตรา 32 ของพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการทบทวนการออกหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางพ.ศ.2548 และแนวปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น