xs
xsm
sm
md
lg

‘เราเตือนคุณแล้ว’หนังสือจากกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ กค 0904/16437 และ กค 0904/17560

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

รัฐบาลไม่ฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของบุคคลอื่นใดไม่ว่านักวิชาการ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. พ่อค้า หรือสื่อ ที่มีต่อโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าราคาตลาดเกือบ 50% แต่จะไม่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนของรัฐบาลเองเลยละหรือ?

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย


เป็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในหนังสือจากกระทรวงการคลังถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2 ฉบับ ที่ กค 0904/16437 ลงวันที่ 18 กันยายน 2555 ความยาว 8 หน้ากระดาษ และ ที่ กค 0904/17560 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ความยาว 6 หน้ากระดาษ หนังสือทั้ง 2 ฉบับประทับตราด่วนที่สุด แต่ไม่ได้ประทับตราลับหรือลับมาก จึงเป็นเรื่องที่สาธารณชนจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน ที่น่าจะใช้หนังสือทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นคู่มือติดตามการทำงานของรัฐบาลได้

ต้นเรื่องของหนังสือทั้ง 2 ฉบับ มาจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะที่ทำหน้าที่จัดหาเงินกู้ให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาล รวมทั้งมีหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อภาระหนี้สาธารณะ ทั้งจำนวนเงิน และสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มีรายงานต่อสาธารณะประจำเดือน และคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เริ่มเข้าใกล้เพดานจำกัดของวินัยทางการเงินการคลังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่คาดการณ์ไว้จะถึงจุดสูงสุดในช่วงปีงบประมาณ 2559

แต่ภาระหนี้สาธารณะต่องบประมาณจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวเลขที่นอกเหนือคาดการณ์

และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เพราะตรรกะพื้นฐานของตัวโครงการไม่ถูกต้องตามหลักวิชาใดทั้งสิ้น!

จากจุดสูงสุดของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่คาดไว้ว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ 53% ในปีงบประมาณ 2559 อาจจะขึ้นไปแตะเพดานหรือทะลุเพดานที่ระดับ 60% ก็เป็นไปได้

ช่วงเวลาที่หนังสือกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับส่งออกมา เป็นช่วงก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติแผนสำคัญ 2 แผน แผนหนึ่งคือโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรปีการผลิต 2555/56 วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท อีกแผนหนึ่งคือแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2556 ที่จะมีการก่อหนี้ใหม่รวม 9.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปกติธุระของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่จะต้องมีหนังสือสอบถามขอความเห็นจากกระทรวงทบวงกรมและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเท่าที่เคยเห็นส่วนใหญ่ กระทรวงทบวงกรมและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะทำหนังสือตอบประมาณ 1 – 2 หน้ากระดาษ แสดงความเห็นด้วย สนับสนุน ไม่ได้แจกแจงเหตุผลที่มาที่ไปและข้อสังเกตมากมายอะไรนัก

แตกต่างจากหนังสือจากกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับที่ค่อนข้างยาว ละเอียด มีข้อความให้อ่านให้พิจารณาด้วยปัญญาทั้งบนบรรทัดและระหว่างบรรทัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความระหว่างบรรทัด” ที่ต้องอ่านไม่ให้ตกหล่น!

เนื้อหาโดยสรุปในหนังสือจากกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับเป็นการสรุปภาพรวมของโครงการรับจำนำข้าวว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด ใช้เงินไปแล้วเท่าไร ขาดทุนเท่าไร มีหนี้คงค้างอยู่เท่าไร และได้เจาะลึกลงไปในปีการผลิต 2554/55 ที่เป็นการรับจำนำทุกเมล็ดในราคาสูงที่เพิ่งเริ่มต้นในรัฐบาลชุดนี้ ว่าแม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการระบายข้าวขายออกไป ทำให้เกิดภาระต่องบประมาณเพิ่มสูงขึ้น และยังกระทบต่อการระดมทุนในตลาดเงินที่มีสภาพคล่องตึงตัว ต้นทุนการกู้เงินจะสูงขึ้น

วงเงินให้กู้ต่อและค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.ตามมาตรา 25 และ 28 ของพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ถูกโครงการนี้กินเข้าไปแล้วถึง 55% ของวงเงิน คือประมาณ 2.6 แสนล้านบาทจาก 4.8 แสนล้านบาท ส่งผลต่อโครงการใช้เงินที่จำเป็นของรัฐวิสาหกิจอื่น

ถ้ารวมโครงการข้าวนาปรังของปี 2555 ที่ยังต้องการเงินเพิ่มอีก จะกินวงเงินไปถึง 66%

กระทรวงการคลังจึงเสนอ “มาตรการป้องกันตัวเอง” ต่อตัวกระทรวงการคลังเองและธ.ก.ส.เอาไว้ชัดเจน!

ด้วยการกำหนดวงเงินตามมาตรา 25, 28 ให้ ธ.ก.ส.ไว้เพียง 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ไม่พอให้ ธ.ก.ส.หาเองจากตลาดและเงินฝากของลูกค้าโดยรวม ถ้ายังไม่พอจะจัดหาเงินกู้ให้แต่จะไม่ค้ำประกันให้

และเร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์ส่งมอบเงินจากการขายข้าวให้ ธ.ก.ส. เพื่อจะได้มาใช้หมุนเวียนรับจำนำต่อไป รวมทั้งให้แยกบัญชีโครงการนี้ออกจากบัญชีธุรกรรมทั่วไปของ ธ.ก.ส. โดยในแต่ละปีงบประมาณให้สำนักงบประมาณตั้งวงเงินใช้คืน ธ.ก.ส.ทันที ไม่ต้องรอให้สิ้นสุดโครงการ หรือปิดบัญชีได้ครบถ้วนก่อน

ลูกค้า ธ.ก.ส.ในฐานะที่เป็น “ลูกค้า ธ.ก.ส.” สบายใจได้ในระดับหนึ่ง

แต่ลูกค้า ธ.ก.ส.ในฐานะที่เป็น “ประชาชนผู้เสียภาษีอากร” รู้ไว้เถิดว่าคุณถูกล้วงกระเป๋าออกไปทุกปี!

กระเป๋าซ้ายยังโอเค แต่กระเป๋าขวาถูกล้วงออกไปไม่หยุด!!

มาตรการสำคัญในการป้องกันตัวเองครั้งนี้ มีกระจายอยู่หลายข้อ แต่โดยรวมๆ ก็เพื่อให้การบันทึกหนี้ หรือบันทึกบัญชี มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ เพื่อจะได้รู้เท่าทันความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้น ไม่ใช่ซุกไว้เพื่อซื้อเวลารอให้จบโครงการก่อน หรือปิดบัญชีก่อนจึงค่อยลงบันทึกว่าขาดทุนเท่าไร

ในหนังสือกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับยังให้ข้อเท็จจริงที่น่าตื่นตะลึงว่าการดำเนินโครงการนี้ในปีการผลิต 2554/55 ปฏิบัติไม่สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 มีนาคม 2555 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤษภาคม 2555

คนที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องมติคณะรัฐมนตรีคือกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงการคลังมีข้อเสนอสำคัญให้ปรับปรุงการปฏิบัติงานรวมแล้ว 7 หัวข้อใหญ่ 5 หัวข้อย่อย รวมถึงข้อหนึ่งที่สำคัญมาก

...ให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ แล้วนำมาพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

(ข้อ 2.9.3 ในหนังสือฉบับ 3 ตุลาคม 2555 หน้า 5 และข้อ 8.4.3 ในหนังสือฉบับ 18 กันยายน 2555 หน้า 6)

ถ้าคนอื่นพูดรัฐบาลไม่ฟังแน่นนอน

แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังพูดอย่างนี้ รัฐบาลจะยังดันทุรังเดินหน้าลงเหวต่อไปอย่างนั้นหรือ ?

กระทรวงพาณิชย์จะทำตามกระทรวงการคลังได้มั้ย??

หนังสือจากกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง หากมองให้ “ดรามา” สักนิดก็จะเห็นได้ว่ายังมีข้าราชการซื่อสัตย์รักชาติอยู่ จึงมีหนังสือเช่นนี้เกิดขึ้น แต่หากมองโลกอย่าง “โหดร้าย” หรือ “ตามความเป็นจริง” สักนิดก็ต้องบอกว่าข้าราชการกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้งนักการเมืองที่กำกับดูแลทั้งในส่วนนี้และส่วนธ.ก.ส. ล้วน “ออกตัว” ผ่านหนังสือ 2 ฉบับนี้แล้ว

เกิดอะไรขึ้นในอนาคตถือว่า “เราเตือนคุณแล้ว!”
กำลังโหลดความคิดเห็น