ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะมีขึ้นในวันที่ 25-26 พ.ย.นี้ และจะลงมติ ในวันที่ 27พ.ย. แต่ถ้าการอภิปรายมีเหตุให้ต้องยืดเยื้อ ก็ต้องลงมติในวันที่ 28พ.ย. ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมพอดี
ส่วนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ต้องกำกับนโยบาย และดูแลการบริหารราชการของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะเป็นผู้ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการปราบปรามยาเสพติด นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กรณีการออกพาสปอร์ตให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดี
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ผู้รับผิดชอบนโยบายจำนำข้าว ที่เปิดช่องให้มีการสวมสิทธิ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และมีปัญหามากมาย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานกบอ. รับผิดชอบการจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการน้ำ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย อดีต รมช.คมนาคม
โดยฝ่ายค้านเห็นว่า พฤติการณ์ของบุคคลทั้งหมด มีส่วนในการที่ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวจากนโยบายต่างๆของรัฐบาล ก่อให้เกิดความเสียหาย ซ้ำเป็นเปิดช่องว่างให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น และกระทำการฝ่าฝืน หรือละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย
ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ดำเนินการพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ก่อนที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก
ทั้งนี้ การยื่นถอดถอนนั้นจะต้องเข้าข่าย 3 ประเด็น คือ 1. กรณีร่ำรวยผิดปกติ 2. กรณีการทุจริต คอร์รัปชัน และ 3.การทำผิดกฎหมาย โดยประธานวุฒิสภาจะต้องดำเนินการตาม มาตรา 271 คือ ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลจะต้องส่งกลับมายังวุฒิสภา เพื่อให้ลงมติถอดถอน โดยใช้เสียง 3 ใน 5
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ คือ จะมีเพียงส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 115เสียง และพรรครักประเทศไทย อีก 2 เสียง เท่านั้น ที่จะร่วมลงชื่อเสนอญัตติ
ส่วนส.ส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งในส่วนของกลุ่ม"เพื่อนเนวิน" ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล ว่าที่หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดูแล และกลุ่ม"มัชฌิมา" ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ต่างไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเตรียมที่จะเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคต
ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ โอกาสที่จะล้มรัฐบาลด้วยเสียงโหวตของส.ส.นั้นพูดได้เลยว่า เป็นศูนย์
เพียงแต่ฝ่ายค้านหวังจะใช้โอกาสนี้ ตอกย้ำถึงความล้มเหลวของการบริหารประเทศชาติ ของคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งความสุ่มเสียงที่จะนำพาชาติไปสู่ความล่มจม จากการสร้างหนี้ เพื่อนโยบายประชานิยม ใช้ช่องกฎหมายเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และการทุจริต คอร์รัปชัน
ในรอบนี้ รัฐบาลจะล้ม หรือไม่ล้ม จึงอยู่ที่ผลการตรวจสอบ ชี้มูล ของป.ป.ช. ในเรื่องการทำผิดกฎหมาย และทุจริต คอร์รัปชัน และการลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี ของวุฒิสภา เท่านั้น