xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทำได้”กับ“ได้ทำ” อุทาหรณ์ฟุตซอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ ตอนเร่งสร้างสนาม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดตัวแทนจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ก็ไม่ใช่ "ฟีฟาผี" เพราะฟันฉับไม่ใช้ แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา ทำการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2012 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หลังประวิงเวลาอะลุ่มอล่วยตรวจแล้วตรวจอีกหลายรอบทั้งที่เริ่มโม่แข้งกันมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน จนเริ่มมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่ตัดสินใจให้เด็ดขาดไปเลย เพราะมีชาติไหนทำกันบ้างทัวร์นาเมนต์เปิดฉากไปแล้วสนามหลักที่หวังสร้างไว้เชิดหน้าชูตายังไม่เสร็จสมบูรณ์

แม้ว่า แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา จะไม่ได้ใช้ แต่ก็ "ร้าง" เพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะใช้จัดคอนเสิร์ตให้อึกทึกครึกโครมรวมถึงฟุตซอลนัดกระชับมิตรวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนนี้ โดยหวังประชด ฟีฟา ด้วยการเปิดพื้นที่นั่งชั้น 4 และ 5 ที่มองว่าไม่ปลอดภัยให้คนเข้าไปโยกกัน 10,000 คนเกือบเต็มความจุเลยทีเดียว

หลังจาก ฟีฟา ประกาศเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เพราะพอใจสนาม 2 แห่งที่กรุงเทพฯ คือ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก และ นิมิบุตร ให้ใช้รอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตซอลชิงแชมป์โลกไปจนถึงนัดชิง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ออกมาตอบโต้ทันทีให้หลังแค่วันเดียว ซึ่งแน่นอนว่าถ้า ไทย เสนอแค่ 3 สนามอีกที่คือจังหวัดนครราชสีมา โคราช ชาติชาย ฮอลล์ ก็น่าจะเพียงพอตั้งแต่แรกแล้ว นับตั้งแต่ถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553 จากนั้น "ฟีฟายี" ก็แถลงใหญ่โตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมว่าสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อยากจะสร้างสนามใหม่ให้ได้มาตรฐานเชิดหน้าชูตา

คือความคิดที่จะสร้างไม่น่าเกิดขึ้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะหนองจอกการคมนาคมไม่สะดวกงบประมาณก็ไม่ใช่น้อยๆ 1,300 ล้านบาทฝ่ายที่ทักท้วงก็มีมากมาย แต่ไม่มีใครฟัง ขนาดจัดที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ที่นั่งยังไม่มีเลยมีแต่ที่นอนเพราะเหลือเยอะมาก ตอนนั้นรัฐบาลภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็เออออห่อหมกสนับสนุนกับเขาด้วยเหมือนกัน

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยทำอะไรล่าช้าอยู่แล้วตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าจะสร้างที่ไหน โดยมองเอาไว้คือ ที่ดินของการรถไฟฯ ย่านมักกะสัน, ที่ดินของการรถไฟฯ กม.11 จตุจักร และหนองจอก ถ้าคิดได้ตั้งแต่ตอนนั้นเอางบประมาณที่คงไม่มากเท่าไหร่นักเต็มที่ก็ 150 ล้านบาทมาปรับปรุงขยายความจุของ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก และ นิมิบุตร ป่านนี้ไฉไลไปแล้ว ซึ่งสิ้นสุดปี 2553 ตกลงยังไม่ได้ข้อสรุป ก็แน่นอนว่าเบื้องลึกเบื้องหลังก็เพราะมีปัญหาขัดแย้งกันเองระหว่าง 2 ขั้ว

เข้าสู่กลางปี 2554 เรื่องยังไม่คืบหน้าไปไหนเลยจนตอนนั้นมีข่าวว่า ฟีฟา จะถอน ไทย จากการเป็นเจ้าภาพฟุตซอลโลกครั้งที่ 7 ด้วยซ้ำจนหลายฝ่ายเริ่มหวั่นใจแล้วว่าจะสร้าง ไม่ทัน กระทั่ง "น้ำท่วม" ก็ถือเป็นเดดไลน์แรกที่ ฟีฟา ยืนยันว่าสนาม แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา จะต้องเสร็จพร้อมให้เข้าไปตรวจสอบแล้ว ปกติจะต้องใช้เวลาสร้างประมาณ 500 วัน แต่คดีพลิกเดือนมกราคมปี 2555 ฟีฟา อนุมัติให้สร้างต่ออาจจะเพราะบารมีของ "บังยี" วรวีร์ ที่มีชื่ออยู่ในสมาชิกของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ก็เป็นได้

แต่พอถึงจุดนี้ต้องเรียกว่า "ดันทุรัง" แล้ว เพราะระยะเวลาไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะสร้างเสร็จทันน้ำก็ท่วมเยียวยายังไม่เรียบร้อย แน่นอนว่าถ้าเปลี่ยนแผนตอนนั้นก็ยังพอมีเวลาทันอยู่ แต่เข้าทำนองกลัว "เสียหน้า" ซึ่งเหลือเชื่อมากว่าช่วงนั้นรัฐบาลไม่อนุมัติงบประมาณจนทำให้การก่อสร้างไม่คืบหน้า เนื่องจากติดค้างค่าเสาเข็มเป็นเงิน 2 ล้านกว่าบาทและเพิ่งตอกเสาเข็มครบเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้เอง จากนั้นก็มีข่าวออกมา 2 กระแสว่าการก่อสร้างคืบหน้าไปมากกับกลัวเสร็จไม่ทัน

สุดท้ายเสร็จไม่ทันก็เป็นเรื่องของการปัดความรับผิดชอบและโยนขี้ให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเป็นผู้รับมติ ครม.และผู้รับงบประมาณในการก่อสร้างตั้งแต่รัฐบาลชุดปีมะโว้แล้ว เรื่องถึง กรรมาธิการกีฬา วุฒิสภา ที่ออกมาจี้หาคนรับผิดชอบ แต่ทางด้าน วรวีร์ บอกอย่ามาไล่เบี้ยกันถึงเวลานี้ควรที่จะช่วยกันให้ผ่านพ้นไปได้ดีกว่า แต่ออกมาบอกว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เล่นพูดวกไปวนมาแบบนี้งงเป็นไก่ตาแตกเลย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ออกมายืดอกรับผิดแล้ว แต่ยังไม่เต็มปากดีเท่าที่ควรอ้างสารพัดเลยรวมถึงโอดครวญ ฟีฟา ว่าไม่เห็นใจกันด้วย เพราะพื้นสนามจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตรงตามสเป็กก็ติดอยู่ที่ เสิ่นเจิ้น และเล่นสั่งจากประเทศอิตาลีมาสำรองเอาไว้ เป็นเรื่องเลยงานนี้ตัวแทนของเจ้าแรกก็กลัวว่าของตนเองจะไม่ได้ติดเล่นโทรหาสื่อให้ช่วยตีข่าว แต่พอมีแนวโน้มดีขึ้นของมาถึงติดตั้งได้ตรงเวลาก็เงียบหลายจ้อยเข้ากลีบเมฆ แล้วที่สั่งมาเกินบอก "ไม่มีปัญหา" จะเอาไปซ่อมแซมสนามอื่นที่มันผุพังก็แถกันไปได้

งานนี้คุณชายท่าทางโกรธ ฟีฟา เป็นฟื้นเป็นไฟเลยทีเดียวพร้อมประโยคเด็ดที่ว่า "เหมือนโดนหมัดน็อกจาก ฟีฟา โดยที่ยังไม่ได้ขึ้นเวที แต่ก็ยังถือว่าน็อกไม่ลง ผมเป็นคนน็อกยาก เพราะเป็นคนคอใหญ่" พร้อมกล่าวอีกว่า "ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนที่ทำให้ ฟีฟา ไม่เลือกใช้สนามนี้ได้ แต่ กทม.และตนเองได้พยายามทำงานอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว เพราะการก่อสร้างที่ใช้เวลาเพียง 286 วัน ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก แต่ถ้าพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนคิดว่าเป็นความเสียหาย ตนเองก็ขอน้อมรับคำตัดสินนี้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งต่อไป และยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่งด้วย และอย่าวิจารณ์องค์กร กทม.และลูกน้องของผม เพราะเขาไม่มีความผิด ผมขอรับผิดชอบในคำวิจารณ์แต่เพียงผู้เดียว และ กทม.ก็ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบหลักต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมรับผิดชอบด้วย" ใครจะไปรับผิดชอบด้วยล่ะท่านตอนนี้ชิ่งกันไปหมดแล้ว

แน่นอน หลังจบฟุตซอลชิงแชมป์โลก นางนฤมล ศิริวัฒน์ ประธาน กมธ.สว.ออกมาจี้ให้รัฐบาลที่ให้งบก่อสร้างมา 1 ล้านบาทตอนแรกก่อนอนุมัติเพิ่มภายหลังแต่ไม่ทันเวลาแล้ว ออกมาหาฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นเรื่องเสียหน้าระดับประเทศเพื่อนำมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป (ยังจะมีแบบนี้อีกหรือ) ถ้าไม่นับเรื่องสนามยังต้องพิจารณาเรื่องฝ่ายจัดการแข่งขันอีก โดยเฉพาะเรื่องตั๋วผีที่มีให้เห็นเกลื่อนกลาดถูกกว้านซื้อทำให้คนที่อยากดูจริงๆ หาไม่ได้และถูกอัพราคาเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าจาก 300 บาทสุดท้ายขายไม่ออกก็ทำให้สนามโล่งบาน

จากนี้ก็เต็มที่กันเลยอยากเอาสนาม แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา ไปใช้ทำอะไรก็ตามสบายทั้งจัด คอนเสิร์ต หรือที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ผู้กลัวจะเสียหน้าเลยจะเสนอหน้าอีกเป็นเจ้าภาพฟุตซอลชิงแชมป์ อาเซียน และชิงแชมป์ เอเชีย กลางปี 2556

แต่ที่ประสบความสำเร็จก็คือที่นี่ถือเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำที่มีมูลค่าเป็นพันล้าน ก็ต้องชมหลายฝ่ายช่วยกันทุ่มเทแรงกายแรงใจจนสร้างเสร็จทันเวลาพอดิบพอดีการแข่งขันฟุตซอลโลกเพิ่งผ่านไปนิดหน่อยแค่เกือบครึ่งทางเท่านั้นเอง กลับกันถ้า ฟีฟา อนุมัติให้ใช้รอบ 8 ทีมสุดท้ายหลายคนคงจะหน้าชื่นตาบานปลาบปลื้มปาดเหงื่อหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งกันยกใหญ่ แต่เมื่อทุกอย่างเป็นตรงกันข้ามก็จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงอีกครั้งจนพบคำง่ายๆ แค่ว่า "ทำได้" กับ "ได้ทำ" มันต่างกันลิบลับเหลือเกิน


 นายกฯ (ซ้าย) และ วรวีร์ (ขวา)
 ไทยชนะ 1 แพ้ 2 นัดรอบแบ่งกลุ่ม
ปัญหาตั๋วผี
กำลังโหลดความคิดเห็น