ASTVผู้จัดการรายวัน-ศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 โม่แข้งถึงครึ่งทางและกำลังจะทราบโฉมหน้า 16 ชาติผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ แต่สิ่งที่ยังเป็นกระแส “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” คือการจัดการแข่งขันของไทยประเทศเจ้าภาพที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยประสบการณ์ ทีมข่าว MGR SPORT ที่ได้ลงพื้นที่เกาะติดประมวลจุดบกพร่องต่างๆ เพื่อเป็นบทเรียนนำไปปรับปรุงแก้ไขในภายภาคหน้า
ตั๋วผี - ตั้งแต่พิธีเปิดการแข่งขันหรือแม้นัดที่ทีมชาติไทยลงสนามก็ตาม สังเกตได้ว่าจำนวนที่นั่งคนดูบนอัฒจันทร์ยังคงเหลือที่ว่าง ทั้งที่ฝ่ายจัดการแข่งขันและไทยทิคเก็ตเมเจอร์ในฐานะผู้จัดจำหน่ายออกมายืนยันว่าบัตรถูกจำหน่ายจับจองหมดแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักคงหนีไม่พ้นในเรื่อง “ตั๋วผี” ปรากฏว่าหน้าสนามมีคนมายืนขายอย่างโจ่งแจ้ง โดยที่นั่งปกติตามราคาบัตร 300 บาทพุ่งถึง 5 เท่าคือ 1,500 บาท ส่วนที่นั่ง 200 และ 100 บาทจะขายในราคา 1,000 และ 800 ตามลำดับ พ่อค้าคนหนึ่งเผยว่า “ตนจะหารับซื้อมาในราคาใบละประมาณ 500-700 บาท ก่อนที่จะนำมาขายต่อ ซึ่งบางวันก็หาได้เยอะแต่บางวันก็น้อยเพราะคนที่จองตั๋วสามารถจองได้แค่ 4 ใบ ต่อ 1 คน เท่านั้น แต่วันเปิดสนามขาดทุนกันไปคนละหลายพันบาท เพราะไม่มีใครเข้ามาดูเนื่องจากบัตรถูกเพิ่มราคาจาก 100 บาทเป็น 300 สำหรับพีธีเปิดเท่านั้น แต่ในวันที่ทีมชาติไทยลงแข่งนัดที่สอง (4 พ.ย.) นั้นขายได้กำไรหลายพันบาทเช่นกันเพราะคนเริ่มแห่อยากมาดูแต่ไม่มีตั๋ว โดยบัตร 300 ราคาเพิ่มถึง 2,000 เลยทีเดียว” จึงเป็นที่สงสัยว่าทำไมฝ่ายจัดการแข่งขันถึงไม่มีมาตรการณ์ควบคุมและปราบปรามในเรื่องนี้
สนาม - เป็นอันทราบแล้วว่าสนาม แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา (หนองจอก) จะไม่ได้ใช้จัดการแข่งขันในรอบใดทั้งสิ้นตลอดทัวร์นาเมนต์ เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะย้ำว่าปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงภายในสนามอาจจะได้ตามมาตรฐาน แต่บริเวณโดยรอบต้องบอกว่ายังไม่เรียบร้อย ทั้งการเก็บงานรายละเอียดเช่น ผนังปูน เหล็กเส้นที่ยื่นออกมา หรือแม้แต่พื้นทางเดิน หมายความว่ายังไม่ใช่สนามที่สมบูรณ์พร้อมที่สุดที่จะจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก จะมาบอกว่าพร้อมแค่สามารถใช้ลงแข่งขันได้นั้นไม่ใช่ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับคนไทยทุกคน เพราะ ฟีฟา ยืนยันว่าไม่เคยมีเคสไหนที่อนุมัติให้สร้างสนามแล้วไม่เสร็จ
แฟนโซน - ปัญหาต่อเนื่องจากการไม่มีตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ฝ่ายจัดการแข่งขันได้จัดพื้นที่สำหรับรองรับคอบอลที่ไม่สามารถเข้าชมในสนามได้ แต่กลับพบปัญหามากมายตามมา เช่น การไม่สามารถถ่ายทอดสดได้เนื่องจากจอดำจนต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตแทน รวมถึงภาพที่ปรากฏว่าต้องใช้โทรทัศน์ขนาด 29 นิ้วมาตั้งให้แฟนบอลรับชมแทนการถ่ายทอดสดผ่านจอโปรเจ็คเตอร์ยักษ์ โดยอ้างว่าไม่ได้ลิขสิทธิ์จากทางฟีฟาในการติดตั้ง แต่เหนืออื่นใด “แฟนโซน” นั้นไม่มีสิ่งใดที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมได้เลย เป็นเพียงแค่บูทขายของที่ระลึก และจับรางวัลเท่านั้น การตรวจค้นความปลอดภัยตามหลักสากลก็ไม่มี
การประชาสัมพันธ์ - ถือเป็นจุดบกพร่องที่คนกล่าวถึงมากที่สุดรองจากสนามหนองจอกฯ เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ต่างๆนั้นไม่ต่างกับการจัดกีฬาสีประจำจังหวัดสักเท่าไหร่ การนำแค่เพียงป้ายโฆษณาหรือผ้าใบไปขึงเพื่อบอกว่าจะมีการจัดฟุตซอลชิงแชมป์โลก ขึ้นที่ประเทศไทยวันที่ 1-18 พ.ย. นั้นไม่เพียงพอ ขาดแรงกระตุ้น ไม่มีการระบุแมตช์ว่าทีมชาติไทยจะลงแข่งวันไหน สนามไหน เวลาอะไร และมีกิจกรรมอะไรรอบสนาม หรือแม้แต่การใช้คาราวานรถตุ๊กตุ๊ก และลูกบอลยักษ์ในการนำเสนอก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าที่ควร ยังไม่รวมมาสคอตประจำรายการที่เพิ่งเผยโฉมให้จับจองเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อนการแข่งขันเริ่มแค่ 3-4 วัน เพราะถ้าหากไม่มีข่าวเรื่องการก่อสร้างสนามหนองจอก ออกอากาศทางโทรทัศน์แทบจะวันต่อวัน ประชาชนแทบจะไม่ได้รับรู้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดกีฬาระดับโลกเกิดขึ้นเป็นแน่
เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยืดอกยอมรับความผิดพลาดและนำมาเป็นบทเรียนที่ต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเผื่อได้รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กในภายภาคหน้า คณะกรรมาธิการ กีฬา วุฒิสภา ที่คอยเป็นห่วงและติดตามในเรื่องนี้มาโดยตลอด แนะนำว่า “เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งในส่วนของสนามแข่งขันและการจัดการรวมถึงคนดูและการประชาสัมพันธ์ ต้องนำมาศึกษากันอย่างละเอียดอีกครั้งหลังจบทัวร์นาเมนท์ ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ามีความบกพร่องจริงและให้ความร่วมมือเข้าชี้แจงเพื่อบันทึกไว้เป็นประโยชน์ในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งต่อไป ไม่ใช่ว่าหน่วยงานของตนไม่ผิดจึงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆเพราะมันเป็นปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง”