xs
xsm
sm
md
lg

การลอบสังหารทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด หากกระบวนการและผลของความขัดแย้งสร้างความสั่นคลอนต่อสถานภาพ อำนาจ และผลประโยชน์ของคู่ขัดแย้ง การลอบสังหารทางการเมือง เป็นวิธีการหนึ่งที่คู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจนำมาใช้เพื่อขจัดปรปักษ์ของตนเอง

การลอบสังหารทางการเมืองเป็นวิธีการที่มีการใช้มาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในอดีตผู้ใช้วิธีการนี้มีวิธีคิดว่า เมื่อขจัดบุคคลสำคัญหรือผู้นำของฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ต่อตนเองจะทำให้ฝ่ายตนเองมีโอกาสได้เปรียบในการต่อสู้ การลอบสังหารทางการเมืองจึงเป็นวิธีการซึ่งตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลในฐานะที่เป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง มากกว่าโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจ

ในสังคมสมัยใหม่ การลอบสังหารทางการเมืองมีบทบาทต่อพลวัตของความขัดแย้งที่หลากหลายมากขึ้น การลอบสังหารมิได้จำกัดแต่เฉพาะตัวผู้นำของฝ่ายปรปักษ์แต่อย่างเดียว หากแต่ได้ขยายขอบเขตกลุ่มเป้าหมายของการลอบสังหารออกไปกว้างขวางมากขึ้น และยังมีการใช้การลอบสังหารเพื่อวัตถุประสงค์อื่นทางการเมืองอีกด้วย

หากเป้าหมายของการลอบสังหารเป็นผู้นำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ลอบสังหารย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อริดรอนหรือขจัดพลังของฝ่ายคู่แข่ง เพราะผู้นำของแต่ละฝ่ายเป็นผู้ที่มีพลังและบทบาทสูงในการขับเคลื่อนแนวคิด อุดมคติ นโยบาย มาตรการ และการปฏิบัติการทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ หรือทำลายประโยชน์ของผู้ลอบสังหาร

หากปฏิบัติการลอบสังหารประสบความสำเร็จ หรือฝ่ายหนึ่งสามารถปลิดชีวิตของผู้นำอีกฝ่ายหนึ่งได้อาจส่งผลที่เป็นไปได้อย่างน้อยสามประการ ประการแรก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือมาตรการตามที่ฝ่ายลอบสังหารต้องการ กรณีนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสองอย่างคือ 1) ผู้นำที่มาสืบทอดตำแหน่งมีแนวความคิดและนโยบายแตกต่างจากผู้นำเดิมอย่างสิ้นเชิง เช่น กรณีการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐเอมริกาเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง และ 2) กลุ่ม องค์การ หรือขบวนการที่ผู้นำถูกลอบสังหารเป็นกลุ่มที่เพิ่งจัดตั้งไม่นาน วิธีคิดและอุดมการณ์ของกลุ่มยังไม่ผนึกแน่น ยังไม่มีการวางโครงสร้างและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และผู้นำที่จะมาสืบทอดตำแหน่งก็ไม่มีบารมีมากเท่ากับผู้นำที่ถูกลอบสังหาร ปัจจัยเหล่านี้จะ เพิ่มสภาวะความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่แน่นอนภายในสมาชิกกลุ่ม ซึ่งทำให้พลังการขับเคลื่อนของกลุ่มลดลงและอาจนำไปสู่การล่มสลายของกลุ่มได้

ประการที่สอง การสังหารผู้นำไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือพลังในการขับเคลื่อนของกลุ่ม กรณีแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มหรือขบวนการมีระบบคิดและอุดมการณ์ที่ตกผลึก และมีการจัดตั้งบริหารอย่างเป็นระบบ ปัจเจกบุคคลมีผลต่อพลังการขับเคลื่อนและการดำรงอยู่ของกลุ่มหรือขบวนการน้อย ดังนั้นเมื่อผู้นำคนหนึ่งเสียชีวิต ก็จะมีบุคคลอื่นในกลุ่มดำรงตำแหน่งผู้นำแทนและนำขบวนการเคลื่อนไหวต่อไปด้วยพลังที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ประการที่สาม การสังหารผู้นำส่งผลในด้านกลับ หรือตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้ลอบสังหารต้องการ กล่าวคือแทนที่จะทำให้พลังการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ถูกลอบสังหารลดน้อยลง กลับทำให้ผู้คนยิ่งสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวมากขึ้น หรือยิ่งทำให้สมาชิกของกลุ่มนั้นเกิดความสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น กรณีแบบนี้บางทีเรียกว่า “ตายสิบเกิดแสน” หรือ “การเปลี่ยนความคับแค้นให้เป็นพลัง”

ด้วยเหตุนี้ในบางกรณี กลุ่มผู้ลอบสังหารอาจลอบสังหารผู้นำบางคนหรือสมาชิกของกลุ่มตนเองก็ได้ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขสร้างความโกรธแค้นในจิตใจของมวลชนฝ่ายตน เมื่อลอบสังหารสำเร็จแล้ว กลุ่มผู้ลอบสังหารก็จะดำเนินการสร้างหลักฐานและป้ายความผิดของการลอบสังหารว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะทำให้มวลชนฝ่ายตนเองเกิดความรู้สึกโกรธแค้นฝ่ายตรงข้าม มวลชนที่อยู่ในอารมณ์โกรธแค้นมักถูกชักจูงได้ง่าย และพร้อมที่จะกระทำตอบโต้อีกฝ่ายด้วยความรุนแรง

นอกจากการลอบสังหารผู้นำของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว กลุ่มผู้ลอบสังหารยังอาจกำหนดเป้าหมายของการสังหารเป็นสมาชิกหรือผู้สนับสนุนฝ่ายคู่แข่งก็ได้ การลอบสังหารกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ผู้นำมีเป้าประสงค์เพื่อริดรอนพลังและทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้าม โดยการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในจิตใจอันจะนำไปสู่การวางเฉยหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีกต่อไป

ใครและองค์การใดที่มีศักยภาพในการลอบสังหารทางการเมือง การลอบสังหารทางการเมืองมิใช่จะทำได้ง่ายนัก แม้ว่าบางกรณีอาจเป็นการลงมือโดยปัจเจกบุคคล แต่ก็มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่การลอบสังหารทางการเมืองมีแนวโน้มดำเนินการอย่างเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งในระดับหนึ่ง หากเป็นการลอบสังหารทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ขบวนการลอบสังหารอาจกระทำโดยกลุ่มมาเฟีย กลุ่มค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นซึ่งมีลูกน้องหรือเครือข่ายที่มีศักยภาพในการใช้อาวุธปืนหรือระเบิด

สำหรับการลอบสังหารในการเมืองระดับชาติ กลุ่มผู้ลอบสังหารมีแนวโน้มเป็นชนชั้นนำที่ควบคุมกลไกการใช้ความรุนแรงในองค์การของรัฐ ซึ่งอาจเป็นองค์การตำรวจ องค์การสืบราชการลับ หรือองค์การของทหารก็ได้ เพราะองค์การเหล่านี้ประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการใช้อาวุธสังหารหลากหลายรูปแบบ

กรณีสังคมไทย การลอบสังหารทางการเมืองระดับชาติที่เกิดขึ้นในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมามีหลายกรณี มีทั้งการลอบสังหารจริง และการสร้างข่าว กุเรื่องการลอบสังหารขึ้นมา การลอบสังหารจริงเกิดขึ้นกรณีที่มีการใช้อาวุธสงครามหลายชนิดยิงถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายน 2552 แม้การลอบสังหารครั้งนั้นประสบความล้มเหลว ไม่สามารถปลิดชีวิตนายสนธิได้ แต่ก็ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องพักรักษาตัวเป็นเวลาหลายเดือน

การลอบสังหารนายสนธิ ในครั้งนั้น กระทำอย่างเป็นขบวนการและผู้ลงมือกระทำเป็นกลุ่มบุคคลในองค์การของรัฐประกอบด้วยตำรวจและทหารระดับประทวนหลายคน ส่วนผู้บงการนั้นก็เป็นชนชั้นนำในหน่วยงานที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรง จากวันที่ลอบสังหารจนถึงวันนี้ ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายแม้แต่เพียงรายเดียว ทั้งที่มีข้อมูลอย่างเพียงพอที่สามารถดำเนินคดีกับผู้ลงมือกระทำได้แล้ว

ส่วนการกุข่าว สร้างเรื่องเกี่ยวกับการลอบสังหารเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างทางการเมืองก็คือ ข่าวการลอบสังหารนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ข่าวการลอบสังหาร นช. ทักษิณ มีหลายครั้งหลายคราว คราวที่โด่งดังมากคือ “กรณีคาร์บ๊อง” ในเดือนสิงหาคม 2549 ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่จะมีการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่ นช.ทักษิณถูกสังคมวิพากษ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารประเทศ คาร์บ๊องจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการจัดฉากลอบสังหาร นช.ทักษิณ โดยนำระเบิดมาใส่ในรถยนต์ และจอดไว้บริเวณถนนเส้นทางที่คาดว่า นช. ทักษิณ จะผ่านมา จากนั้นก็ให้ตำรวจไปจับ และประโคมข่าวใหญ่โตเพื่อหวังจะได้คะแนนสงสารจากประชาชน

ล่าสุด การกุข่าวการลอบสังหาร นช. ทักษิณ เกิดขึ้นอีกครั้ง ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับคณะรัฐมนตรีไม่นาน และนช.ทักษิณมีแผนเดินทางไปประเทศพม่า โดยในตอนแรกมีแผนว่าจะมาที่ จ.ท่าขี้เหล็กเพื่อพบปะกับสาวกลัทธิแดง แต่ต่อมาปรากฏว่าข่าวการลอบสังหาร นช.ทักษิณ ก็เกิดขึ้นจากการที่นายพานทองแท้ ชินวัตร นำเรื่องที่ทางการประเทศพม่าจับกุมอาวุธสงครามได้บริเวณ จ. ท่าขี้เหล็กไปเขียนในเฟซบุ๊คของตนเองว่าเป็นอาวุธที่นำมาเพื่อลอบสังหาร นช. ทักษิณ

ในตอนแรกฝ่ายข่าวของหน่วยงานรัฐปฏิเสธว่าไม่มีการลอบสังหาร นช. ทักษิณ แต่ถูก นายพานทองแท้ เขียนเชิงตำหนิและสั่งสอน จนในที่สุด เฉลิม อยู่บำรุง ต้องเรียกผู้รับผิดชอบฝ่ายข่าวกรองไปพบ และให้แถลงข่าวแตกต่างจากที่กล่าวในตอนแรก แต่ในท้ายที่สุดความจริงก็ปรากฏเมื่อทางการพม่าแถลงว่า อาวุธที่จับได้ของว้าแดงและไม่ได้นำมาสังหาร นช.ทักษิณ แต่อย่างใด

การกุข่าวสร้างเรื่องการลอบสังหาร นช. ทักษิณ จึงเป็นการกระทำโดยมีเหตุผลการเมือง เพราะว่า นช. ทักษิณ ไม่ต้องการที่จะมาพบกับสาวกเสื้อแดง ด้วยไม่อยากตอบคำถามของสาวกเสื้อแดงว่าทำไม นายจตุพร พรหมพันธุ์ จึงไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่ นช. ทักษิณ เคยประกาศต่อหน้าสาวกเสื้อแดงนับหมื่นคนที่เขาใหญ่มาแล้วว่าจะให้นายจตุพร เป็นรัฐมนตรี

บวกกับการที่ นช. ทักษิณ อาจรู้สึกรำคาญพวกสาวกเสื้อแดงที่มาพบตนเอง เพราะ นช.ทักษิณรู้ดีว่าสาวกเสื้อแดงนั้นต้องการร้องขอผลประโยชน์ต่างๆ นาๆจากตนเอง แต่ครั้นจะปฏิเสธไม่มาพบโดยไม่มีข้ออ้างอันสมควรก็อาจทำให้สาวกเสื้อแดงโกรธเคืองได้ ดังนั้นจึงต้องให้ลูกน้องสร้างเรื่องเกี่ยวกับการลอบสังหารขึ้นมาผ่านเฟซบุ๊คของลูกชาย เพื่อจะได้เป็นข้ออ้างในการยกเลิกแผนการเดินทางไป จ. ท่าขี้เหล็ก อันเป็นสถานที่นักพบกับสาวกเสื้อแดง

การลอบสังหารทางการเมืองในสังคมไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาเพราะมีความซับซ้อนทั้งในเชิงกลุ่มองค์การที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดตามมาจากการลอบสังหาร กลุ่มเป้าหมายในการลอบสังหาร และวิธีการที่ใช้ในการลอบสังหาร การวิเคราะห์และศึกษาเรื่องนี้ทำให้สามารถเข้าใจกลไกอำนาจและความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยได้ละเอียด ลึกซึ้งและชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากสังคมใดยังมีการดำรงอยู่และการแพร่ระบาดของเรื่องราวเกี่ยวกับการลอบสังหารทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหารจริงหรือการกุข่าวปั้นเรื่องขึ้นมา ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า สังคมนั้นยังมีความห่างไกลจากคำว่า “อารยธรรม” ยิ่งนัก



กำลังโหลดความคิดเห็น