xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานขู่ม็อบ หากไม่ขึ้น300 กกร.ถกด่วนวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-นโยบายขึ้นค่าแรง300บาทต่อวันทั่วประเทศ 1 ม.ค.56 ป่วนแน่ หลังต่างฝ่ายต่างมองไปคนละมุม เครือข่ายผู้ใช้แรงงานลั่นต้องขึ้น ขู่หากครม.สัปดาห์หน้าไม่มีวาระปรับขึ้นค่าแรงเข้า เตรียมเคลื่อนไหวแน่ ขณะที่ภาคธุรกิจนัดถก กกร. วันนี้ หวังให้เลื่อนไปเป็นปี 58 แต่ถ้าขึ้นต้องหาเงินมาเยียวยา

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เครือข่ายผู้ใช้แรงงานกำลังรอว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าจะมีวาระการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรง300 บาทต่อวันทั่วประเทศที่จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2556 หรือไม่ หากยังไม่เข้า เครือข่ายฯ อาจจะมีการเคลื่อนไหวแน่นอน เนื่องจากเห็นว่าราคาสินค้าได้ปรับขึ้นไปมากกว่ารายรับที่ผู้ใช้แรงงานได้รับค่อนข้างมาก

“ครม.สัปดาห์ที่แล้ว ก็เลื่อนออกมา เราเห็นว่าถ้าสัปดาห์หน้า ไม่เข้าอีก ก็คงต้องเคลื่อนไหวและคงต้องขอเหตุผลรัฐบาลเพราะเราเห็นว่าไม่มีเหตุผลจะเลื่อน ในเมื่อ 7 จังหวัดขึ้นไปแล้ว ถ้าเลื่อน 70 จังหวัดที่เหลือ ก็ไม่เป็นธรรม เพราะราคาสินค้าขึ้นไปทั่วถึงหมดแล้ว แต่รัฐบาลเอง ก็จะต้องหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากเห็นว่าเดือดร้อน เพราะยอมรับว่าถ้าธุรกิจอยู่ไม่ได้จริง ก็จะย้อนกลับมาที่แรงงานอยู่ดี”นายยงยุทธกล่าว

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้ (8พ.ย.) จะมีการหารือคณะทำงานร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ 1 ม.ค.2556 ที่เหลือใน 70 จังหวัด เพื่อนำเสนอรัฐบาลเร่งด่วน ซึ่งเห็นว่า หากที่สุดรัฐบาลต้องเดินตามนโยบาย ก็ต้องหามาตรการเยียวยาเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เช่น การหางบมาจ่ายค่าแรงเพิ่มผ่านแรงงานโดยตรงหรือชดเชยบางส่วนให้กับเอกชนเพื่อลดผลกระทบ เป็นต้น

“เราก็ทำหน้าที่เมื่อสมาชิกร้องเรียนมาว่าลำบากแน่ ถ้าขึ้น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เพราะถ้าเขาปรับขึ้นราคาสินค้าก็อาจขายไม่ได้ที่สุดก็ต้องปิดกิจการ แม้กระทั่งส่งออกเองก็เช่นกัน ต้องลำบากในการแข่งขัน จึงต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน และถ้ารัฐเห็นว่าต้องขึ้นเพราะเป็นนโยบาย ก็น่าจะมีวิธีจ่ายตรงกับแรงงาน ไม่ได้มาเอาเงินจากธุรกิจไปจ่าย”นายทวีกิจกล่าว

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า เอกชนไม่ได้ไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าควรจะให้เวลาปรับตัวสำหรับ SMEs ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนในหลายๆ ปัจจัยด้วย และต้องการให้มีการพัฒนาช่วงนี้ก่อน เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2558 ค่อยปรับขึ้น ถ้ารัฐเดินหน้าก็ต้องหาแนวทางมาชดเชยผลกระทบในจุดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น