xs
xsm
sm
md
lg

“อุตสาหกรรม-ชุมชน-เมืองสีเขียว” โซนนิ่งใหม่ไทยแลนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอ 7 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การพัฒนา 3 ด้าน มุ่งสู่สังคมมั่นคง สังคมสีเขียว และสังคมวัฒนธรรม
นั่นหมายถึงจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว หรือ 'Green Business' ซี่งเป็นความหวังที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และยกระดับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความยากจนในประเทศ
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ‘การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)’ นำโดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งนำเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
1.การสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยการพัฒนาด้านเกษตรจะต้องครบวงจร เพิ่มสัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16 ของจีดีพี
2.การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม เน้นเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
3.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ ดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น ไม่ใช่เน้นแค่ปริมาณเหมือนในอดีตโดยหวังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2558
4.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ไทยกำลังก้าวสู่ประเทศที่ประกอบธุรกิจการค้าอย่างเต็มรูปแบบ หรือ เทรดดิ้งเนชั่น ต้องปรับตัวให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างแท้จริง ดังนั้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านขนส่ง และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการค้าและกระจายสินค้าระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยไทยเป็นตัวเชื่อมในทุกภูมิภาค
5.การส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นทั้งการค้าชายแดนและค้าผ่านแดน ส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือเขตอุตสาหกรรมชายแดน
6.การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ
7.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวถึงการรับมือผลกระทบต่อค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่11ซึ่งใช้ขับเคลื่อนประเทศระหว่างปี 2555-2559จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ซึ่งเน้นประเด็นการพัฒนา3ด้านคือ “มุ่งสู่สังคมมั่นคง สังคมสีเขียว และสังคมวัฒนธรรม”
แต่นโยบายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ทิศทางพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง300บาท เงินเดือนปริญญาตรี15,000บาท ซึ่งจากเดิมควรจะต้องพัฒนาผลผลิต หรือคุณภาพของแรงงานก่อน แล้วจึงปรับเพิ่มค่าจ้างเงินเดือน รวมทั้งต้องระดมความเห็นจากภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงแผนในแต่ละปี จึงต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนใน7ด้านดังกล่าว
“อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับจากภาคเอกชน จะนำไปสู่ข้อสรุป เพื่อนำไปรายงานให้กับคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อให้การขับเคลื่อนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 11 และนโยบายของรัฐบาลชุดนี้มีความสอดคล้อง และเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญจะต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และจะมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าของข้อเสนอต่าง ๆ ทุก 3 เดือน หลังจากนั้นจะจัดประชุมใหญ่ ปีละครั้งต่อไป” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว
พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
ทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจะต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มากขึ้น และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ต้องลดคอร์รัปชั่น เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่คล่องตัวซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย รวมทั้งไม่มองข้ามการขยายฐานการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและการค้าชายแดนการที่จะได้ประโยชน์ดังกล่าวจะต้องผลักดันในเวทีเจรจาซึ่งจะต้องทำการบ้านภายในประเทศอีกมาก
“ในขณะเดียวกัน กระแสเศรษฐกิจสีเขียวก็อาจสร้างผลกระทบและความเสี่ยงในหลายด้าน ซึ่งก็เป็นการบ้านในอีกด้านหนึ่งของประเทศไทยสำหรับการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อกำหนดกติกาและกลไกป้องกันมิให้เกิดปัญหาการใช้เศรษฐกิจสีเขียวเป็นเครื่องมือในทางที่ผิดและเบี่ยงเบน”

Green Business
ธุรกิจสีเขียว” หรือ Green Business หมายถึง องค์กรที่ประกอบธุรกรรมโดยมีปณิธานในการทำงานที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายของโลกมนุษย์ อาทิ อากาศ ต้นน้ำ ลำธาร ป่าไม้ สัตว์ป่า พืชพันธุ์ธัญญาหาร แมลง ฯลฯ มีชีวิตอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศวิทยาที่ดีที่สุดและอย่างยั่งยืนที่สุด
ในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา ล้วนมีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยอยู่ทุกนาที แค่อยู่กับบ้านทำอาหาร อาบน้ำแต่งตัว เข้านอน ฯลฯ ก็ล้วนสามารถสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น