ศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
www.thaisgwa.com
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดพิจารณาคดีหมายเลขดำเลขที่ 915/2549 กรณีที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยละเว้นเพิกเฉยให้รถเมล์ของ ขสมก.และรถร่วมเอกชน ปล่อยควันดำสร้างมลพิษในเขตพื้นที่ กทม.โดยถือเป็นการเปิดศาลพิจาณาคดีเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีหลังจากใช้ระยะเวลาในการไต่สวนตามกระบวนการของศาล นับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2545
ในการพิจารณาวันดังกล่าวนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีได้เรียกผู้ถูกฟ้องร้องคือ ขสมก. ซึ่งไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าฟังการพิจารณาคดีในครั้งนี้ และกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมการพิจารณาคดี โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี คือ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยตัวแทนจากมูลนิธิป้องกันควันพิษ เข้าร่วมฟังการพิจารณาและการแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี
ทั้งนี้ตุลาการผู้แถลงคดี ได้สรุปว่า ตามที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อเดือน พ.ย. 2545 ว่าละเลยต่อหน้าที่ มิได้ดำเนินการให้การเดินรถขององค์การฯ และรถเอกชนร่วมบริการเป็นไปโดยปลอดภัยไร้มลพิษควันดำ เป็นคดีดำเลขที่ 2007/2545 และได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ว่าละเลยต่อหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบภาวะมลพิษทางอากาศในเขต กทม.ไม่ให้เกินมาตรฐานเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2028/2545 รวมทั้งนายป๊อก แซ่เจีย กับพวกรวม 3 คน ได้ยื่นฟ้อง ขสมก. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2026 /2545 กับได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2025/2545 โดยมีลักษณะข้อหาอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกัน
ต่อมาศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาเมื่อปี 2549 ว่า ขสมก.นั้นมีความผิดจริง และมีคำสั่งให้ ขสมก. ดำเนินการตรวจสอบมลพิษจากรถยนต์ทั้งในส่วนของรถร่วม ขสมก. และรถร่วมบริการต้องส่งผลการตรวจสอบให้กับทางศาลทุก 3 เดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ซึ่งต่อมา ขสมก. ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว จึงได้ยื่นได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.914 - 917/2549
ด้านตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดได้แถลงต่อองค์คณะว่า ได้พิจารณาตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นแล้วว่า ขสมก. หรือผู้ถูกฟ้องร้องคดีที 1 ได้ละเลยปล่อยให้รถขสมก.และรถร่วมบริการปล่อยควันดำจริง ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการติดตามดูแลตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ส่วนกรมควบคุมมลพิษหรือผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ได้ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด จึงยืนยันตามคำพิพากษาเดิม
กรณีการพิจารณาและการชี้ในคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีที่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ย่อมยืนยันในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายชัดเจนว่า ขสมก. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ ได้ละเว้นเพิกเฉยต่อการติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลรถของตนและรถร่วมบริการภายในสังกัดของหน่วยงานตนจริง ดังนั้นการที่ตุลาการผู้แถลงคดียืนตามคำพิพากษาเดิม ก็เท่ากับว่าโอกาสชนะคดีที่รอคอยมานานนับ 10 ปีของชาวกรุงเทพมหานครที่ร่วมฟ้องกับมูลนิธิป้องกันควันพิษฯ เริ่มเห็นความสำเร็จในระยะเวลาไม่นานไปกว่านี้ ซึ่งคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้น่าที่จะใช้เป็นบรรทัดฐานในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะในลักษณะที่ใกล้เคียงหรือคล้ายกันได้ หากมีพฤติการณ์ละเลยหรือละเว้นการทำหน้าที่ของตัวเอง
หลังจากนี้ หากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาตรงตามคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีและหรือตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว หน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดี คือ ขสมก.จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบังคับคดีของศาลปกครอง กล่าวคือ จะต้องไปดำเนินการตรวจสอบสภาพรถของ ขสมก. และรถร่วมบริการทุกคันไม่ให้ปล่อยควันดำออกสู่บรรยากาศเกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดในทุกๆ 3 เดือนเป็นเวลา 1 ปี
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ขสมก. จัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งประชาชนในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ มีรถวิ่งบริการในเส้นทางต่าง ๆ รวม 108 เส้นทาง มีจำนวนรถทั้งสิ้น 3,509 คัน (ณ เดือนกันยายน 2554) แยกเป็นรถธรรมดา 1,659 คัน รถปรับอากาศ 1,850 คัน และมีรถของบริษัทเอกชนที่ร่วมวิ่งบริการกับ ขสมก.ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศจำนวน 4,016 คัน, รถมินิบัส จำนวน 844 คัน, รถเมล์เล็กในซอย จำนวน 2,312 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ จำนวน 5,315 คัน และรถตู้ CNG 213 คัน รวมรถที่วิ่งให้บริการประชาชนในกรุงเทพมหานครมีจำนวน 16,209 คันใน 445 เส้นทาง
หลายคนอาจถามว่า หาก ขสมก.ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล หรือยังพบว่ามีรถของ ขสมก. และรถร่วมบริการ ยังพบเห็นมีควันดำปล่อยออกมาจากท่อไอเสียโดยสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็จะถือได้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งหากประชาชนท่านใดพบเห็น ถ้ามีกล้องหรือมือถือถ่ายรูปได้ ช่วยกันถ่ายรูปแล้วแจ้งวัด เดือน ปี สถานที่ที่พบ แล้วส่งมาให้สมาคมตามที่อยู่ ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมที่จะรับเรื่องเพื่อที่จะรีบแจ้งหรือรายงานต่อศาล เพื่อขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามระเบียบสำนักงานศาลปกครอง ว่าด้วยการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครอง พ.ศ. 2544 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2555 ต่อไป
เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคน ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสับปะรด ในการช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้กลับคืนมา ให้สะอาดและปลอดภัยขึ้นเหมือนในอดีต แต่หากทุกคนต่างคิดว่าไม่ใช่หน้าที่หรือ ธุระไม่ใช่ สังคมเมืองก็อาจจะเต็มไปด้วยมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอากาศที่สกปรก เพราะเราไม่ช่วยกัน แต่ถามว่าใครจะได้รับผลกระทบ คำตอบก็คือทุกๆ ท่านนั่นแหละครับ รวมทั้งลูกหลานทุกท่านในอนาคตด้วย สิ่งที่มูลนิธิป้องกันควันพิษฯ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และตัวแทนชาวกรุงเทพฯ ได้ใช้กระบวนการศาลปกครองที่ผ่านมาก็เพื่อช่วยรักษาสิทธิให้กับทุกท่านด้วยจิตสาธารณะเท่านั้น
คดีนี้ใช้เวลานานถึงเกือบ 10 ปีในกระบวนพิจารณาคดีของศาล แม้จะยาวนาน แต่ก็ถือได้ว่าได้ผล หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาตามการคาดหวัง คำพิพากษาดังกล่าวก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ ขสมก.และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะปัญหารถปล่อยควันดำที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับกับปัญหารถเมล์ที่ด้อยคุณภาพและการร้องเรียนอื่นๆ ที่มีมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางสมาคมฯ กำลังพิจารณาตรวจสอบการดำเนินการของรถตู้ ขสมก.ร่วมบริการ และรถตู้ร่วมบริการกับ บขส. และรถบัสของบริษัท ขนส่ง จำกัด และรถร่วมเอกชนต่างๆ เป็นรายต่อไป เพราะขณะนี้มีรถตู้รถบัสที่มีสภาพเก่า และปล่อยควันดำที่วิ่งบริการนับพันคันในเขตพื้นที่กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด ที่เริ่มพบปัญหาปล่อยมลพิษแซงหน้ารถเมล์ ขสมก. แล้ว…คอยดู