xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากมาบตาพุด...เพียงพอหรือยัง??/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย.....บรรจง นะแส

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตกเป็นข่าวครึกโครม ตอกย้ำความผิดพลาด ความล้มเหลว และสร้างหายนะที่จะต่อเนื่องไปอีกไม่รู้จักจบ ไม่ว่าสารเคมีร้ายแรงที่จะกระจายสู่อากาศและไหลลงสู่ลำน้ำ น้ำใต้ดินและทะเล การเลือกพื้นที่ทำเลทองอย่างพื้นที่ชายฝั่งให้มาใช้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมที่เตรียมจะกระทำในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าในเขตของอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช ละงูของสตูล ควรที่จะได้รับการทบทวนว่าจริงๆ แล้วแนวทาง และวิธีการดังกล่าว จะนำไปสู่ความเจริญมั่งคั่งให้แก่ประเทศ หรือบั่นบอนความมั่นคงที่สังคมเรามีอยู่กันแน่ บทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจึงเป็นบทเรียนราคาแพงแสนแพงที่สังคมไทยไม่ควรมองข้าม หรือทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวกันอีกต่อไป

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 2532 โดยองค์กรรัฐวิสาหกิจ คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม มาบตาพุดตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 5 แห่ง และท่าเรือ 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “มาบตาพุดคอมเพล็กซ์” เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ

มีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมจากในระยะแรกปี พ.ศ.2527 โดยมีการเวนคืนที่ดินประมาณ 8,000 ไร่ (เป็นท่าเรือน้ำลึกและพื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 6,500 ไร่ และเป็นพื้นที่พักอาศัยประมาณ 1,500 ไร่) จนกระทั่งผังเมืองรวมมาบตาพุด พ.ศ.2546 มีการกำหนดพื้นที่ประเภทอุตสาหกรรมออกไปอีกประมาณ 44,000 ไร่ ปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จริงประมาณ 19,000 ไร่ การเปลี่ยนการใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยให้เป็นประเภทอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ซึ่งเดิมเคยกำหนดเป็นเขตกันชนในมาบตาพุดหายไป นำไปสู่ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรม อุบัติภัยจากการรั่วไหลของสารเคมี

ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งอันเกิดจากผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะ ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) บางชนิดที่มีค่าสูงเกินมาตรฐาน เช่น เบนซิน 1,2-ไดคลอโรอีเทน และ 1,3-บิวทาไดอีน และมลพิษทางน้ำรวมทั้งน้ำใต้ดินที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก และสารอินทรีย์ระเหยง่าย กระทบต่อสุขภาพของประชาชนปัญหาโรคทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง รวมทั้งปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นและประชากรแฝงซึ่งมีผลต่อความเพียงพอของระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการในพื้นที่ ภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวนกันครั้งแล้วครั้งเล่า และมีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฯ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ

รัฐบาลต้องใช้งบประมาณของแผ่นดินไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นหลายพันล้านบาท เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ประกอบด้วย 7 แผนงาน 71 โครงการ วงเงินรวม 2,182 ล้านบาท ในปี 2553 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 65 ล้านบาท และปี 2554 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 170 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้จัดทำแนวทาง ในส่วนการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ปัญหาขาดแคลนน้ำประปา ปัญหาขยะ ปัญหาความไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพอากาศ น้ำ และการลดมลพิษ โดยหน่วยงานต่างๆ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการจำนวนรวม 32 โครงการ วงเงินรวม 1,432 ล้านบาท

ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาประเทศไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม มีแนวความคิดในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ตามนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เพื่อตอบสนองในด้านการใช้แรงงาน รายได้ของประชากร รวมทั้งเป็นการชะลอการขยายตัวของเมืองหลวง แต่ถึงวันนี้ ก็ประจักษ์แล้วว่า แก้ปัญหาหนึ่งๆ ได้ แต่ปัญหาอื่นๆ ก็เกิดขึ้นตามมา

ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า มีจัดแบ่งพื้นที่ตามลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม และได้มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ได้แก่ ที่พักอาศัย สถานที่ราชการ เทศบาล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร โรงพยาบาล สถานที่พักผ่อน ฯลฯ ดูแล้วก็สวยหรูไม่น่าจะมีปัญหาใดๆเกิดขึ้น หากทุกอย่างได้ดำเนินการไปตามนั้น

การเลือกพื้นที่ทำเลทองอย่างพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลในการจัดตั้งให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม เป็นความมักง่ายเห็นแก่ได้ของนักอุตสาหกรรมที่เห็นแก่ตัว วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราสูญเสียพื้นที่สำหรับอาชีพอื่นๆ ไปหมด ไม่ว่าอาชีพของเกษตรกรเพาะปลูก ชาวประมง หรือแหล่งท่องเที่ยว การเตรียมการขยายไปสู่พื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ไม่ว่าที่นครศรีธรรมราช สตูล จึงควรได้รับการทบทวน
กำลังโหลดความคิดเห็น