xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุด ชี้ ขสมก.ผิดปล่อยรถควันดำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
หลังตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดแถลงยืนตามศาลชั้นต้นให้ ขสมก.ผิด เพราะปล่อยให้รถ ขสมก.และรถร่วมบริการควันดำวิ่งรอบกรุง หลังชาวบ้านร่วมกันฟ้องมากว่า 10 ปี

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า วันนี้ (30 ต.ค.) เวลา 11.00 น.ศาลปกครองสูงสุด นัดพิจารณาคดีดำเลขที่ 915/2549 กรณีที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยปล่อยให้รถเมล์ของ ขสมก.และรถร่วมเอกชน ปล่อยควันดำสร้างมลพิษในเขตพื้นที่ กทม. โดยถือเป็นการเปิดศาลพิจาณาคดีเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากใช้ระยะเวลาในการไต่สวนตามกระบวนการของศาล นับตั้งมีการยื่นฟ้องครั้งแรกในวันที่ 28 พ.ย.2545

ในการพิจารณาครั้งนี้ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ได้เรียกผู้ถูกฟ้องร้อง คือ ขสมก.ซึ่งไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าฟังการพิจารณาคดี โดยมีผู้รับมอบอำนาจ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยตัวแทนจากมูลนิธิป้องกันควันพิษ และตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เข้าร่วมฟังคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี โดยไม่ได้ขอแถลงด้วยวาจาและทางหนังสือต่อศาล

ทั้งนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ได้สรุปว่า ตามที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เมื่อเดือน พ.ย.2545 ว่า ละเลยต่อหน้าที่ มิได้ดำเนินการให้การเดินรถขององค์การฯ และรถเอกชนร่วมบริการเป็นไปโดยปลอดภัยไร้มลพิษควันดำ เป็นคดีดำเลขที่ 2007/2545 และได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ว่า ละเลยต่อหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบภาวะมลพิษทางอากาศในเขตกทม.ไม่ให้เกินมาตรฐานเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2028/2545 รวมทั้ง นายป๊อก แซ่เจีย กับพวกรวม 3 คน ได้ยื่นฟ้อง ขสมก.เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2026/2545 กับได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2025/2545 โดยมีลักษณะข้อหาอย่างเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกัน ต่อมาศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาเมื่อปี 2549 ว่า ขสมก.นั้น มีความผิดและมีคำสั่งให้ ขสมก.ดำเนินการตรวจสอบมลพิษจากรถยนต์ทั้งในส่วนของรถร่วม ขสมก. และรถร่วมบริการต้องส่งผลการตรวจสอบให้กับทางศาลทุก 3 เดือน ส่วนกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ซึ่ง ขสมก.ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.914-917/2549

ด้านตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดได้แถลงต่อองค์คณะ ว่า ได้พิจารณาตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นแล้วว่าผู้ถูกฟ้องร้องคดีที 1 ละเลยปล่อยให้รถ ขสมก.และรถร่วมบริการปล่อยควันดำจริง ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการติดตามดูแลตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ ตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งพบว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ได้ละ เลยในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด จึงยืนยันตามคำพิพากษาเดิม ซึ่งหลังจากนี้องค์คณะของศาลจะนัดหารือและกำหนดนัดฟังคำพิพากษา โดยจะแจ้งให้คู่กรณีรับทราบต่อไป

นายศรีสุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจในคดีกล่าวว่า พอใจกับคำพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ เพราะการที่ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม ก็เท่ากับว่าโอกาสชนะคดีที่รอคอยมานานนับ 10 ปีของชาวบ้านที่ร่วมฟ้องกับมูลนิธิป้องกันควันพิษฯ ซึ่งจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ แต่ละเลยการทำหน้าที่ของตัวเอง โดยคาดว่าอีก 1 เดือนหลังจากนี้ศาลปกครองจะนัดฟังคำพิพากษาแล้ว หลังจากนั้น ขสมก.จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบังคับคดีของศาลปกครอง กล่าวคือ จะต้องตรวจสอบสภาพรถ ขสมก. และรถร่วมบริการทุกคันไม่ให้ปล่อยควันดำออกสู่บรรยากาศทุกๆ 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจากข้อมูลที่เคยมีการรายงานต่อศาลเมื่อหลายปีก่อน ขสมก.มีรถเมล์มากกว่า 14,700 คัน แต่ขณะนี้น่าจะมีจำนวนมากขึ้นจากรถเมล์เช่าจากจีนที่นำเข้ามาเมื่อ 2-3 ปีก่อนด้วย

“คดีนี้ใช้เวลานานถึง 10 ปี ในกระบวนพิจารณาคดีของศาล แต่ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ ขสมก.และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะปัญหารถปล่อยควันดำที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในกทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับกับปัญหารถเมล์ที่ด้อยคุณภาพและการร้องเรียนอื่นๆ ที่มีมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ทางสมาคมฯกำลังพิจารณาฟ้องร้องรถตู้ ขสมก.ร่วมบริการ และรถตู้ร่วมบริการกับ บขส.เป็นรายต่อไป เพราะขณะนี้มีรถตู้ที่มีสภาพเก่า และปล่อยควันดำที่วิ่งบริการนับพันคันในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่เริ่มพบปัญหาปล่อยมลพิษแซงหน้ารถเมล์” นายศรีสุวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น