ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทำปากกล้าพร้อมเผชิญหน้าทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใด แต่เอาเข้าจริง “เหลิม บางบอน” ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 3 ก็ออกอาการขาสั่นอย่างไม่ปิดบังอำพรางเมื่อมีกระแสข่าวว่าจะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องความมั่นคงและแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถูกฝ่ายค้านแขวะเอาว่าถ้าชายอกสามศอกในครม.ยิ่งลักษณ์ไม่มีใครกล้ารับงานแก้ไฟใต้ก็ให้เอาปี๊บคลุมหัว แล้วส่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ หญิงหน้าหวาน ศันสนีย์ นาคพงศ์ ลงไปสู้กับโจรใต้แทน
“ความสามารถตนไม่ถึง ไม่เชี่ยวชาญ และคิดว่านายกฯ มีหลายคนที่เลือกได้” ร.ต.อ.เฉลิม ตอบคำถามที่ว่าหากได้รับมอบหมายให้ไปดูแลงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไหวหรือไม่
จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ไม่มีใครอยากเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทุกวันไม่มีว่างเว้นนับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค. ปี 2547 เป็นต้นมาจนบัดนี้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ไม่ว่ารัฐมนตรีคนใด ไม่ว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใด ก็ล้วนแต่เอาไม่อยู่ทั้งนั้น และหากใครเผลอไปคุยโวโอ้อวดว่าควบคุมสถานการณ์ให้สงบได้ดีขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะมีเหตุการณ์รุนแรงตามมาเหมือนท้าทายตอบโต้ในทันทีไม่มีจบสิ้น
แต่ถ้าหากถามว่า การแก้ไขปัญหาไฟใต้ มีอะไรอยู่ในหัวรองฯ เฉลิม บ้าง ต้องย้อนกลับไปดูผลงานเพราะเมื่อไม่นานมานี้ รองฯ เฉลิมคนนี้แหละ เคยได้รับมอบหมายให้ดูแลปัญหาไฟใต้มาแล้ว และยังเป็นคนที่อยากมีอำนาจจัดการปัญหานี้อย่างเต็มไม้เต็มมือ
กล่าวคือ เมื่อเดือนส.ค. 55 ที่ผ่านมานี่เอง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบหมายให้ 3 รองนายกรัฐมนตรีประสานมือบูรณาการแก้ไขปัญหาภาคใต้ร่วมกัน โดยมอบหมายให้รองฯ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ดูแลด้านทหาร รองฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ดูแลสายมหาดไทย และ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ดูแลตำรวจ หลังจากนั้นก็มีการทำคลอดผลงานเอกอุสู่สายตาสาธารณชน คือ การตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ขึ้นในกรุงเทพมหานคร หรือที่รู้จักกันในชื่อสุดเท่ห์ "เพนตากอน 2" เพื่อเป็นหน่วยงานระดับนโยบายบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานให้ทำกันด้วยกันอย่างมีเอกภาพ
คราวนั้น รองฯ เฉลิม แห่งเพนตากอน 2 ยืนยันมั่นเหมาะว่า เมื่อมีสามรองนายกฯ เข้ามาดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าทุกอย่างจะดีกว่าเดิม ทุกอย่างจะกระชับขึ้น และมั่นใจว่าการประสานงานจะเร็วกว่าเดิม ขณะที่กระแสตอบรับจากสังคมจากการจัดตั้ง “เพนตากอน 2” ของรองฯ เฉลิม ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนกับหน่วยงาน ด้านความมั่นคงที่ทำหน้าที่รับผิดชอบปัญหานี้อยู่แล้ว รวมทั้งซ้ำซ้อนกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมาย
เพนตากอน 2 จึงถูกต่อต้านจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แต่เดิมกระทั่งบานปลายกลายเป็นเรื่องราวขู่ฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาล มิหนำซ้ำโจรใต้ยังหยามหน้ารองฯ เฉลิม โดยต้อนรับการจัดตั้งเพนตากอน 2 ด้วยการบึ้มโรงแรมซีเอสปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน
ถึงวันนี้ เพนตากอน 2 ที่มีสถานะเป็นเพียงหน่วยงานลอยๆ ไม่มีอะไรรองรับกำลังเคว้งคว้างเป็นลูกผีลูกคนเมื่อพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ผู้รับผิดชอบหน่วยงานนี้ตัวจริงหลุดโผครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ไปเรียบร้อย และไม่มีใครเอ่ยถึงเพนตากอน 2 อีกเลย รูปการณ์จึงเป็นตามที่หลายฝ่ายคาดหมายเอาไว้แต่ต้นว่าเรื่องปาหี่ดังกล่าวเป็นแค่การสร้างข่าวกลบความไร้ฝีมือแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม นักการเมืองอย่างรองฯเฉลิม ยังเคยโชว์ออฟว่ารู้เรื่องปัญหาชายแดนใต้ดีว่ามีปัญหามาจากไหน ทำไมไฟใต้ถึงยังไม่จบ พร้อมคุยโวในการตอบกระทู้สดในสภาว่า รัฐบาลมีรายชื่อผู้ก่อความไม่สงบโดยทหารได้รายงานมาให้ว่าเป็นใครบ้าง มีการระบุจำนวนผู้ก่อการร้ายที่สามารถพิสูจน์ทราบได้ 9,400 คน แบ่งเป็นแกนนำและกองกำลัง 2,600 คน ส่วนที่เหลือเป็นแนวร่วมกองกำลังเพิ่มเติม ซึ่งโครงสร้างและรายชื่อผู้ก่อความไม่สงบรัฐบาลมีหมดแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น รองฯ เฉลิม ยังโอ่อีกว่ามีรายละเอียดว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มผู้เสียประโยชน์จากการใช้กฎหมาย และมีนักการเมืองชั่วๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง บางคนค้าน้ำมันเถื่อนทั้งในทะเลและบนบก เปิดบ่อนการพนันรอยตะเข็บชายแดนมาเลเซีย ใช้กองทัพมดขนสินค้าหนีภาษีแล้วสร้างอิทธิพลท้องถิ่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นพวกค้ายาเสพติดขนมาจากภาคเหนือทยอยลงภาคใต้ เรื่องนี้กองทัพรู้แล้วก็บอกรัฐบาล
ฟังจากการคุยโวโอ้อวดของรองฯ เฉลิม แบบว่ารู้ไปหมด ก็น่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาไฟใต้บรรเทาเบาบางลงได้ เพราะคุยหนักหนาว่ารู้ทั้งโครงสร้างรู้ทั้งรายชื่อผู้ก่อความไม่สงบ รู้กระทั่งว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ไฟใต้ก็ยังคุโชนเช่นเดิม
หลังจากนั้นไม่ทันไร รองฯ เฉลิมก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนรับบัญชาจากนายกรัฐมนตรี ให้ ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกับเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยใส่ไฟว่ามีนักการเมืองชั่วบางคนอยู่เบื้องหลังความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ก็หันมายกยอพรรคประชาธิปัตย์ว่า รู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มากกว่าคนอื่นเพราะมีส.ส.ในพื้นที่จำนวนมาก
และอยากให้มองว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งชาติ ไม่อยากให้มีการตั้งแง่ ขอให้เข้ามาช่วยกัน และหากเหตุการณ์สงบขึ้นมา รัฐบาลไม่อายที่จะบอกว่าเป็นฝีมือของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายถาวร เสนเนียม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นต่อให้มีอีก 10 รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่จะมีความเบาบางลงมากน้อยเพียงใด ก็แล้วแต่สถานการณ์ เพราะเรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แต่ในที่สุด การสร้างภาพร่วมมือแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เชิญหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมาร่วมปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูล ก็จบลงแบบไม่มีอะไรในกอไผ่เหมือนเดิม ทั้งที่หากฟังจากปากคำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าร่วมถกปัญหาก็มีข้อเสนอหลายประการให้รัฐบาลนำไปปรับใช้และทำให้ชัดเจน เช่น นโยบายการเมืองนำการทหารจะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง การใช้และการเลือกใช้บุคลากรที่จะทำให้เกิดความไว้วางใจจะต้องไปในลักษณะใด ฯลฯ
หากมองลีลาการชิ่งหนีไม่อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ในเวลานี้ของรองฯ เฉลิม ยังดูเหมือนกับเป็นหนังคนละม้วนกับที่เคยฉายโชว์ต่อสาธารณะ เพราะถ้ายังจำกันได้ รองฯ เฉลิม คนนี้เคยร่ำร้องอยากให้รัฐบาลมอบอำนาจให้ในระดับที่สามารถตัดสินใจได้ในการแก้ไขปัญหาไฟใต้
ครั้งนั้น รองฯ เฉลิม เตรียมการผลักดันแนวคิดให้มีการปกครองรูปแบบพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและมีการปกครองตัวเองส่วนหนึ่ง โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลเหมือนกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี รูปแบบนี้รองฯ เฉลิม รับรองอย่างแข็งขันว่า ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน และไม่เข้าทางของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เชื่อว่าการเสนอแนวคิดนี้จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่สุดท้ายข้อเสนอนี้ของร.ต.อ.เฉลิม ก็เงียบหายไปกับสายลม เพราะมีหลายฝ่ายไม่เอาด้วย
ถึงที่สุดแล้ว เมื่อเจอปัญหาที่เป็นของจริง ยุ่งยาก ซับซ้อน แก้ไขไม่ได้ง่ายๆ เพียงแค่พ่นลมปากไปวันๆ อย่างที่ได้พิสูจน์ให้เห็นกันมาแล้ว บวกกับอาการผิดหวังที่ไม่ได้นั่งตำแหน่งรมว.มหาดไทยที่ใฝ่ฝัน รองฯ เฉลิม จึงออกอการงอแง ยืนกราน
“ผมคงไม่ดูแล เพราะไม่เหมาะสม ไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถพอ ฝ่ายการเมืองไม่ควรจะเข้าไปยุ่ง เพราะทหารกำลังแก้ไขปัญหาได้ดี โดยให้ พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ดูแลและมีนายกรัฐมนตรีกำกับ และเชื่อว่าการประสานงานในแต่ละกระทรวงจะไม่มีปัญหา และยืนยันว่าไม่ต้องมีรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานความมั่นคง เพราะประเทศมั่นคงอยู่แล้ว”
“งานที่ผมดูแลเรื่องยาเสพติด ปราบปรามยาเสพติดก็มีมากพอ ถ้ามากกว่านี้จะทำไม่ไหว คดีในภาคใต้ก็ลดลงแล้ว ซึ่งตนได้บอกนายกรัฐมนตรีแล้วไม่พร้อมจะดูแลปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อะไรที่ไม่ถนัดผมก็บอกท่านว่าไม่พร้อม และไม่เกี่ยวกับการที่ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะไม่อยากเป็นอยู่แล้ว” รองฯ เฉลิม ยืนยันหนักแน่น แต่บอกนายกฯ ให้รู้เป็นนัยว่าถ้าไม่ให้ตำแหน่งตามที่ขอก็ไม่พร้อมไม่ทำในเรื่องที่ยากจะทำได้สำเร็จอย่างเช่นดูแลปัญหาชายแดนใต้
เพราะงานนี้ที่ผ่านมาก็รู้กันอยู่ว่า รองฯ เฉลิม มีแต่ราคาคุยเท่านั้น !