xs
xsm
sm
md
lg

สอบฮั้ว3จี ป.ป.ช.ถกวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ป.ป.ช.ชงประมูล 3 จี เข้าบอร์ดชุดใหญ่วันนี้ ถกรับพิจารณาผิด พ.ร.บ.ฮั้วหรือไม่ ด้าน กมธ.สอบทุจริต วุฒิสภา จี้ ป.ป.ช.เร่งจัดการ หลังพบประมูล 3 จี ไม่แข่งขันจริง ตั้งราคาต่ำไป พฤติกรรม กทค. ไม่โปร่งใส เร่งรีบเห็นชอบเกินไป ทั้งที่คนค้านอื้อ กสทช. สุดดราม่า ยันยึดประชาชน บอกความเจ็บปวดมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินสายแจงวุ่น 4 หน่วยงาน เลขาธิการสภาฯ ตอบรับสอบฮั้ว 3 จี

เมื่อเวลา 15.50 น. วานนี้ (24 ต.ค.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณากรณีตรวจสอบผลการประมูลคลื่นความถี่ 2.1กิกะเฮิร์ต ซึ่งนำมาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ3จี ว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 25ต.ค.นี้ โดยหากที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่าหลักฐานที่มีอยู่เข้าองค์ประกอบที่ ป.ป.ช.จะสามารถรับเรื่องมาพิจารณาได้ กล่าวคือ มีมูลเหตุที่ส่อให้เห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นอาจขัด พ.ร.บ.การฮั้วประมูล ป.ป.ช.จะรับเรื่องไว้ พร้อมตั้งอนุกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด แต่หากพบว่าไม่เข้าเงื่อนไขก็ถือว่าคำร้องนั้นยุติไป

ประเด็นการประมูล3จี เป็นเรื่องใหญ่ อยู่ในความสนใจของประชาชน และ ป.ป.ช.เอง ก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เพราะมีการตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่กระบวนการสรรหา อย่างไรก็ตาม ต้องดูหลักฐานก่อนอย่างรอบด้าน โดยหากมีการรับเรื่องไว้และมีการตั้งอนุกรรมการจริง ก็พร้อมจะมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหญ่มาเป็นอนุกรรมด้วย เพื่อร่วมพิจารณาหลักฐานอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ข้อร้องเรียนที่เข้ามายื่นให้ ป.ป.ช.พิจารณาประกอบไปด้วย ข้อร้องของกระทรวงการคลัง กลุ่มกรีน และคณะกรรมาธิการวุฒิสภาตรวจสอบการทุจริตฯ วุฒิสภา รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงเจตนาขอรับการตรวจสอบด้วยตัวเอง

นายณรงค์ รัฐอมฤต รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า กรณีมีผู้ร้องขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการประมูล 3จี จำนวน 3 รายนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งทาง ป.ป.ช. จะเร่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการพิจารณารายละเอียดทั้งหมดของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยหลังจากการรับเรื่องแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงและการไต่สวนต่อไป จึงคาดว่า วันนี้จะสามารถนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม ขณะที่ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจในการเรียกบุคคล หรือขอเอกสารเพิ่มเติมได้

"ไม่รู้สึกกดดัน หรือหนักใจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะ ป.ป.ช. ทำงานอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงตามกฎหมายอยู่แล้ว"

**กมธ.สอบทุจริตวุฒิสภา จี้ป.ป.ช.สอบ

วันเดียวกันนี้ เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการประมูล 3 จี เข้าข่ายความผิดการฮั้วประมูล ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่

น.ส.สุมล กล่าวว่า กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตฯ พบว่า มีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับการประมูล อาทิ การตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลที่ต่ำเกินไป พฤติกรรมของบริษัทที่เข้าประมูล ไม่ได้มีการแข่งขัน พฤติกรรมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่มีการเร่งรีบลงมติเห็นชอบผลการประมูลแม้จะมีผู้คัดค้านเป็นจำนวนมาก จึงนำข้อมูลนี้มาให้ ป.ป.ช.เป็นผู้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งให้เกิดความโปร่งใส และอยากให้ป.ป.ช.นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาให้เร็วที่สุด เพราะประเด็นนี้เข้าข่ายพ.ร.บ.การฮั้วประมูล ซึ่งเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.โดยตรง

**กสทช.ยันประมูล 3จี ยึดประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานได้พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3 จี รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการประมูล ซึ่งได้เชิญ กสทช. และนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้ามาชี้แจงต่อ

นายสมเกียรติกล่าวว่า การประมูลราคาถูกไม่เกี่ยวกับการลดค่าบริการ 3 จี แก่ผู้บริโภค เพราะเป็นส่วนของต้นทุน ไม่เกี่ยวกับกำไร และการประมูลคลื่นความถี่ในราคาถูก ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ขณะที่ตัวเลขเดิมจากระบบสัมปทานผู้ประกอบการอย่างเอไอเอส ได้กำไรปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท และดีแทคกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ กสทช. กำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ต่ำ 4,500 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการได้รายละ 3 สล๊อต หรือ 13,500 ล้านบาท คิดต่อปีประมาณ 900 ล้านบาทเท่านั้น จึงทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างมาก และเมื่อเทียบกับการประมูล 17 ประเทศ ที่มีแจกใบอนุญาต 19 ใบ โดยการศึกษาวิธีการทางสถิติแล้ว ตัวเลขราคาประเมิน 6,440 ล้านบาท แต่กสทช.เอาราคาขั้นต้น 4,500ล้าน ทำให้รัฐเสียหาย 17,000 ล้านบาท

ด้านพ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการประมูล ประชาชนต้องได้ประโยชน์จากบริการ 3จี ส่วนการหารายได้เข้ารัฐ เป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งกสทช.เข้าใจดีว่า ความเจ็บปวดต้องเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ แต่ยืนยันว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ด้วยใจบริสุทธิ์ และน้อมรับในการตรวจสอบ รวมทั้งพร้อมเข้าสู่กระบวนยุติธรรม และยืนยันว่าไม่เคยแสวงหาประโยชน์จากการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งในวันนี้ได้ส่งเอกสารการประมูลทุกชั้นให้ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบแล้ว

**กสทช. เดินสายแจง3จี4หน่วยงาน

วันเดียวกันนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เข้ายื่นเอกสารเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ต่อ 4 องค์กร ตรวจสอบหลักของประเทศ ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเอกสารที่นำมายื่น ประกอบด้วย เอกสารการประมูลครั้งแรกในสมัยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการ หลักเกณฑ์คู่มือการประมูล ผลการศึกษาจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าเอกสารทั้งหมดจะยืนยันได้ว่ากระบวนการที่ดำเนินการมาทั้งหมดมีความถูกต้องโปร่งใส

นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานฯ ได้รายงานให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คนทราบแล้วว่ามีคำร้องเรื่องดังกล่าวเข้ามา ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็อาจจะเชิญประชุมเพื่อพิจารณา ก่อนที่จะถึงการประชุมประจำสัปดาห์ในวันอังคารที่ 30 ต.ค. ก็ได้ ส่วนการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะดูว่ามีการกระทำที่เป็นการละเลยการปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งหากเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีพิจารณาเรื่องการยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาต่อไป

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวภายหลังรับเอกสารว่า ดีเอสไอมีหน้าที่ดูแลการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฮั้วประมูลอยู่แล้ว โดยจะมอบหมายให้กับสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว และจะตั้งประเด็นที่ตรวจสอบเอกสาร ก่อนที่จะขยายผลไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจะประสานงานกับ กสทช. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบที่รวดเร็ว

**“เลขาธิการสภาฯ ตอบรับสอบฮั้ว 3 จี

นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้เป็นประธานสอบการฮั้วประมูลคลื่น 3 จี ว่า เรื่องนี้ตนไม่ขัดข้องและได้ตอบกลงพร้อมเป็นประธานสอบสวนกรณีดังกล่าว แต่ก็ต้องรอหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการและขออนุญาตประธานรัฐสภาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เชื่อว่าการรวจสอบเรื่องนี้ไม่น่าหนักใจ โดยจะดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุในวิธีทางอิเล็กทรอนิคส์ว่ามีการฮั้วประมูลหรือไม่ และไม่กลัวว่าจะถูกมองว่ามาฟอกความผิดให้การประมูลครั้งนี้ ยืนยันว่าจะตรวจสอบด้วยความเป็นกลาง ยึดหลักกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น