xs
xsm
sm
md
lg

“อาจารย์ มข.-ศิษย์หลวงตาบัวฯ” หนุน “รองปลัดคลัง” แฉ กสทช.มุบมิบ 6 คลื่นวิทยุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์ ม.ขอนแก่น ตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก กสทช.พร้อมด้วยตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ยื่นหนังสือ-มอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจรองปลัดคลังยื่นหนังสือท้วงติง กสทช.จัดประมูล 3จี ส่อผิดกฎหมาย ร้อง “อารีพงศ์” อย่ารับเงินประมูล แฉ กสทช.มุบมิบปล่อยผี 6 คลื่นวิทยุออกอากาศ ทั้งที่เจ้าของเดิมคืนคลื่น แถมไม่เปิดตัวเลขค่าตอบแทนกรรมการ

วันนี้ (22 ต.ค.) ที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก กสทช.ยื่นหนังสือถึง นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และยื่นหนังสือขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินงาน ต่อกรณีการประมูล 3จี ที่ส่อว่าจะผิดกฎหมาย ต่อ นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง หลังจาก นางสาวสุภา ยื่นหนังสือท้วงติงไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ซึ่งจัดประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ที่มีการออกแบบการประมูลทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างแท้จริง

แต่ กสทช.กลับไม่พิจารณาหาทางแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ ปี 2553 มาตรา 45 และกลับเป็นปากเสียงแทนนายทุนอีก ว่า ต้องการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบกิจการ ซึ่งมูลค่าความเสียหายนับเป็นจำนวนมหาศาลถึง 678,000 ล้านบาท เทียบกับระบบสัมปทานเดิมที่เอกชนเคยจ่ายให้รัฐ คือ ทีโอที และ กสท ซึ่งสามารถใช้ในการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่า ถ้าประชาชนต้องการ 3จี มาก รัฐอาจจะจัดให้บริการฟรีได้ด้วยเงินจำนวนนี้ด้วยซ้ำไป จึงขอส่งตัวแทนมาให้กำลังใจ และสนับสนุนแนวทางที่ไม่รับรองผลการประมูล และไม่รับเงินจากการประมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ศ.ดร.รัตนา ศิริพานิช ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ยื่นหนังสือถึง นายอารีพงศ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ อย่าใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศแก้ไขปัญหางบประมาณแผ่นดินอันเนื่องมาจากความเสียหายต่อรัฐที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี จากการที่ กสทช.ได้จัดการประมูลที่ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ทำให้เกิดความเสียหายต่อรายรับของรัฐอย่างมหาศาล ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เห็นว่า ความเสียหายดังกล่าวสามารถใช้ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯจำนวน 1.13 ล้านล้านบาท ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนยอดหนี้คงค้าง นอกจากนี้ หากงบประมาณรายรับของรัฐบาลลดลงไปมากเช่นนี้ อาจทำให้มีแนวความคิดที่จะมาใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก นายอารีพงศ์ และ นางสาวสุภา ติดประชุม จึงมี นายนรวัฒน์ โชติกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กระทรวงการคลัง รับหนังสือและช่อดอกไม้แทน

ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลในการยื่นหนังสือให้กำลังใจต่อรองปลัดกระทรวงการคลัง เพราะประเด็นสำคัญคือ พฤติกรรมของ กสทช.ที่จัดการประมูล สะท้อนถึงจริยธรรมและคุณธรรมขององค์กรอิสระ ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นการประมูล แต่เป็นการแบ่งเค้กให้ผู้ประกอบการ ซึ่งองค์กรอิสระไม่ใช่รัฐอิสระ แต่เป็นองค์กรที่กฎหมายสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความอิสระในการดำเนินงาน และป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง ส่วนประเด็นมูลค่าของ 3 จี เมื่อมองย้อนไปถึงสัมปทานของ 2 จีที่ภาครัฐได้รับเงินจากทั้ง 3 บริษัทเมื่อเทียบมูลค่าปีหนึ่งประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท

แต่จากการประมูล 3จี โดยเฉลี่ย 15 ปี เพียงตกปีละ 3 พันล้านบาท ซึ่งจะแตกต่างประมาณ 15 เท่า ซึ่งรัฐจะสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นจึงควรให้กำลังใจคนกล้าอย่างข้าราชการประจำ ส่วนประเด็นที่ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทค.และเลขาฯ กสทช.กล่าวว่า บอร์ดเล็กเฉพาะ กทค.มีอำนาจที่จะให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 จีได้ อาศัยมาตรา 27 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2553 โดยไม่ต้องผ่าน กสทช.แต่มาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเขียนชัดเจนใน (4) ซึ่งพบว่าให้อำนาจเฉพาะ กสทช.ไม่มี กทค.ในมาตรานี้ เพราะฉะนั้นบอร์ดเล็กไม่มีสิทธิ์ให้อำนาจ ต้องนำสิ่งที่ประมูลเข้าสู่บอร์ดใหญ่พิจารณาเสียก่อนถึงจะมีอำนาจ

ที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นจากการประกาศของ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ปี 2555 ซึ่งได้ประกาศในภาคผนวก ฉ.ซึ่งเดิมจะมีสถานีวิทยุ 314 สถานีที่ได้รับสัมปทานก่อนหน้านี้ แล้วโดยบทเฉพาะกาลให้สิทธิ์คนที่เคยได้รับสัมปทาน แต่พบว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้รับอนุญาต พบว่า มีสถานีวิทยุสังกัดสำนักงาน กสทช.อยู่ 6 สถานี ได้แก่ เอฟเอ็ม 98.5 และ 106.5 กรุงเทพมหานคร, เอฟเอ็ม 89.0 จ.ภูเก็ต, เอฟเอ็ม 90.0 จ.ลำปาง, เอฟเอ็ม 99.0 จ.อุดรธานี และ เอฟเอ็ม 102.0 จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับคืนจากเจ้าของเดิม ซึ่งเห็นว่าไม่สบายใจ และอยากจะให้ชี้แจง เพราะจากการคืนคลื่นจะมีมาตรา 82 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดและเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ ซึ่ง กสทช.ต้องประกาศว่ามีจำนวนคลื่นความถี่กี่คลื่นอยู่ในมือ และใครที่ต้องการจะเข้ามาตรงนี้ให้แสดงเหตุผลในการถือครองคลื่นเหล่านี้ แต่การที่ระบุว่าคลื่นเหล่านี้ได้รับอนุญาตโดยระบุว่าเป็นของสำนักงาน กสทช.จึงอยากถามว่าใครเป็นผู้ประกอบกิจการขณะนี้ มันจะขัดกันหรือไม่ เพราะ กสทช.ไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการใดๆ ทั้ง 3 กิจการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนเกิดความสงสัย

ด้าน นางสาวจุฑารส พรประสิทธิ์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า การที่ กสทช.ไปให้ใบอนุญาตกับสำนักงานตัวเอง เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และมีผลทำให้ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ และกรรมการ กสทช.เป็นโมฆะไปด้วย เนื่องจากตัวเองมีส่วนได้เสียกับกิจการที่มีการประกอบกิจการอยู่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจยื่นศาลปกครอง แต่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ อาจจะทำหนังสือไปทาง กสทช.เพื่อขอคำตอบภายใน 7 วัน เพราะดูจากลักษณะที่ออกมาผิดกฎหมาย ส่งผลให้ประกาศใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งก็ต้องรีบทำการยกเลิกโดยเร็ว และทำการแก้ไขเพื่อรองรับกับสถานีวิทยุที่กำลังจะหมดสิทธิทดลงออกอากาศในวันที่ 5 พ.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่โปร่งใสของ กสทช.ที่พบว่า มาตรา 58 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ บัญญัติให้สำนักงาน กสทช.เปิดเผยข้อมูลหลายเรื่อง แต่ผลงานการวิจัยที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ อย่างการศึกษาเรื่อง 3จี สาธารณชนกลับเข้าไม่ถึงข้อมูล และที่น่าสงสัยคือ อัตราค่าตอบแทนกรรมการ กสท. กทค.อนุกรรมการและที่ปรึกษาต่างๆ พบว่า ในเว็บไซต์ กสทช.ปรากฏเป็นรายชื่อเพียงอย่างเดียว ไม่ระบุตัวเลขค่าตอบแทน ซึ่งเป็นความไม่โปร่งใสอย่างชัดเจน และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อย่าลืมว่า การเป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากอำนาจทางการเมืองก็ถือว่าเป็นองค์กรของรัฐด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ โดยใช้อำนาจของรัฐเข้ามา ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำความเสียหายต่อรัฐ และทำตัวเหนือกฎหมาย ซึ่งในขั้นต้นก็มองเห็นว่าก่อนหน้านี้ได้ยื่นถอดถอนกรรมการ กสทช.ไปแล้วก็ต้องรอฟังก่อน

กำลังโหลดความคิดเห็น