รายงานพิเศษ
แม้จะโดนทักท้วงจากหลายฝ่ายถึงความไม่โปร่งใสและความไม่คุ้มค่าที่ประเทศจะได้รับจากการประมูลใบอนุญาต 3จี เมื่อ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังเร่งเครื่องต่อไม่ยอมหยุด
เพราะล่าสุดเมื่อ 19 ตุลาคม 2555 กสทช.ก็รีบรับมอบเช็คเงินสดจำนวน 7,824,375,000 บาท จากผู้บริหารของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่เป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้ใบอนุญาต 3 จีดังกล่าว อันเป็นการส่งมอบเช็คตามข้อกำหนดของ กสทช. ที่ระบุว่าผู้ชนะการประมูลต้องชำระเงินงวด 50% ทันทีใน 90 วัน
หลังจากนี้อีกสองบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต 3 จีจาก กสทช. คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือ บมจ.แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ก็คงรีบนำเงินมาให้ กสทช.ตามมาติดๆ
ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมต้องรีบกันขนาดนี้ ทั้งที่ให้เวลาถึง 90 วัน หรือกลัวจะโดนล้มการประมูลหรือไงไม่ทราบ?
เพราะเวลานี้ จากเดิมที่ใครๆ ก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยื่นฟ้องศาลปกครองของกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มกรีน ของสุริยะใส กตะศิลา หรือนักวิชาการอิสระอย่างอนุภาพ ถิรลาภ โดยบอกว่าเป็นพวกจะมาถ่วงความเจริญของประเทศ จะทำให้ไทยล้าหลังสู้เพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่ระบบสื่อสารโทรคมนาคมกำลังจะแซงหน้าไทยไปหมดแล้ว
แต่พอผลการประมูลใบอนุญาต 3จีดังกล่าวออกมาแล้วปรากฏว่า ผลประโยชน์ที่รัฐได้รับ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งแม้การประมูลดังกล่าวจะทำอย่างโปร่งใส เปิดเผยทุกขั้นตอน แต่เมื่อสังคมคาใจว่าทำไมการประมูลดังกล่าว รัฐได้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ราคาที่ออกมาไม่สมกับที่ กสทช.คุยโวไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงข้อคาใจว่ามีการตกลงอะไรกันภายในหรือไม่ของสามบริษัทเอกชนในการประมูลดังกล่าว
ก็เลยทำให้กระแสหนุนให้มีการตรวจสอบ-ทบทวนการประมูล 3จีของคนในสังคม เริ่มมีมากขึ้น
เนื่องจากคนในสังคมส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า อยากให้ประเทศมีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัย ก้าวหน้าทัดเทียมหลายประเทศทั่วโลก แต่หากมี 3จีแล้ว เป็นการมีโดยที่ประเทศได้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะได้ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่กับบริษัทเอกชน ที่จะได้ฟาดประโยชน์จำนวนมหาศาลจากใบอนุญาตดังกล่าวโดยเอกชนจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐน้อยกว่าที่ควรจะจ่าย
สุดท้ายกำไรทั้งหมดก็ไปอยู่กับบริษัทเอกชนที่จะนำผลกำไรไปแบ่งปันกันเองในกลุ่มผู้ถือหุ้น-คนซื้อหุ้นของสามบริษัทใหญ่เอไอเอ-ดีแทค-ทรู ที่ก็เป็นแค่คนส่วนน้อยของประเทศ
เมื่อคนในสังคมคิดได้แบบนี้ ความไม่เห็นด้วยในการที่กสทช.จะรีบเร่งปิดจ็อบนี้โดยเร็วก็เลยมีมากขึ้น
ยิ่งเมื่อมีเสียงท้วงติงมากขึ้น แม้แต่ขนาดฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกระทรวงการคลัง ที่ได้ผู้กล้าอย่าง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง (คกพ.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือ "ด่วนที่สุด" ถึงประธานประธาน กสทช. หลังการประมูลดังกล่าวสิ้นสุดลงไม่กี่วัน
โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสรุปว่า การประมูลใบอนุญาตประกอบการ หรือไลเซ่นส์ คลื่นความถี่ 3 จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว
พร้อมกับให้สัมภาษณ์ตอกย้ำว่าการประมูลดังกล่าวผิดปกติเห็นได้จากสามบริษัทที่เข้าประมูลไม่มีการแข่งขันราคากัน-ไม่มีการเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้น-ไม่มีการสู้ราคากันจริง จึงเป็นการประมูลที่ไม่ชอบตามการประมูลแบบอี-ออคชั่น จึงจะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวนด้วย
การออกมาร่วมทัดทานการประมูลดังกล่าวของคนระดับรองกระทรวงการคลัง เลยทำให้คนในสังคมที่ก่อนหน้านี้เอาแต่เร่งอยากให้ประเทศมี 3จีเร็วๆ ก็เลยเริ่มฉุกคิดและสนับสนุนการตรวจสอบกันมากขึ้นแล้วอย่างเห็นได้ชัด
แม้กสทช.จะพยายามยืนกรานว่า การตั้งข้อสังเกตุของ น.ส.สุภา รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นความเข้าใจผิด ยืนยันว่าการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวทำโดยถูกต้อง ไม่ได้เปิดช่องให้มีการทุจริตและเป็นการทำโดยประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ที่ทำให้รูปแบบการประมูลแตกต่างไปจากการประมูลภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ที่ น.ส.สุภาอ้างถึง แถมไม่พอยังมาบอกว่ากสทช.เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ
อ้างกันแบบนี้ ก็เหมือนกับจะบอกว่ากสทช.เป็นรัฐอิสระ ไม่ยอมให้ถูกตรวจสอบหรือยังไง
ทั้งที่สังคมยุคนี้เป็นสังคมที่ผู้คนให้ความสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าองค์กรไหน จะองค์กรรัฐหรือองค์กรเอกชน ต่างต้องถูกตรวจสอบกันหมดทุกรูขุมขน
แล้ว กสทช.เป็นใครมาจากไหน ถึงจะมาบอกว่ากสทช.เป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบไม่ได้ แล้วเงินเดือนค่าตอบแทนต่างๆ-รถยนต์ประจำตำแหน่ง-ค่าใช้จ่ายในสำนักงาน กสทช.-เงินไปดูงานต่างประเทศ-เบี้ยเลี้ยงสวัสดิการต่างๆ ที่กสทช.รับแต่ละเดือนหลายแสนบาท เอาเงินมาจากไหนถ้าไม่ใช่ภาษีประชาชน
นึกหรือว่า กสทช.จะอยู่ค้ำฟ้า ผ่านการสรรหามาได้ ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภาได้ ก็มีสิทธิตกกระป๋อง หลุดจากเก้าอี้ได้เหมือนกัน หากประพฤติมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิถูกต้องชอบธรรม
จึงมีเสียงเชียร์อย่างมาก ให้มีการเดินหน้าตรวจสอบกสทช. แม้กสทช.จะไม่สนใจการทัดทานเรื่อง 3 จีก็ไม่เป็นไร
อย่างตอนนี้ หัวหอกที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ ก็มีให้เห็นกันแล้ว ทั้ง กลุ่มกรีน ที่บอกว่าวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคมนี้จะไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการประมูล 3จีดังกล่าว เพื่อสอบว่ามีการฮั้วประมูลหรือไม่ รวมถึงรุกไปอีกขึ้นที่จะจัดเวทีระดมพลภาคประชาชนประเมินผลงาน กสทช. ด้วยเหตุผลว่าพฤติกรรม กสทช.ที่รีบเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะกสทช. 4 คนซึ่งเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่มี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการ กสทช.นั่งเป็นประธาน กทค. มีมติรับรองผลการประมูล 3G เมื่อ 18 ตุลาคม
กลุ่มกรีนดูแล้วมีพฤติการณ์ลุกลี้ลุกลนผิดปกติ ส่อพิรุธ ไม่ฟังเสียงทักท้วงใดๆ จากสังคม เลยจะขอให้ ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรัดการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเป็นกรณีพิเศษ
อีกฟากหนึ่ง ก็พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ก็ดูจะอยากโหนกระแสเอาด้วยกับเรื่องนี้ แต่ไม่รู้ว่าหวังผลการเมืองอะไรหรือเปล่า หรือว่าพวกที่ออกมารับลูกจะตรวจสอบ กสทช.อย่างบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.ได้คุยกับแกนนำพรรคดีหรือยัง เพราะบริษัทเอกชนที่ได้ใบอนุญาตดังกล่าว ก็พบว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่หรือ
ที่ บุญยอด ออกมาบอกว่า ให้บอร์ด กทค.ต้องกลับไปขอมติจากบอร์ด กสทช.ก่อนในการรับรอบการประมูลหากไม่มีการทบทวนหรือจัดการประมูลที่โปร่งใส จะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.หรือ ส.ว.ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกแต่ละสภา เพื่อร้องต่อประธานวุฒิสภาให้มีมติให้ กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หากประชาธิปัตย์ จะทำจริง ร่วมตรวจสอบกสทช.ด้วย ก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์ชาติจริงๆ ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร
หนทางของ กสทช.นับจากนี้ กำลังโดนสังคมหลายภาคส่วนร่วมตรวจสอบอย่างเข้มข้น จะเดินหน้า 3จีต่อไปก็เชิญ แต่ก็ระวังไว้ด้วย อาจสะดุดอะไรที่ทำผิดพลาดไว้ จนหัวทิ่มในอนาคตก็ได้