“คำนูณ” ยกย่อง “สุภา” รองปลัดคลังรักษาผลประโยชน์ชาติ ค้านประมูล 3จี ระบุเป็นแบบอย่างข้าราชการไทยที่นับวันหาได้ยาก ด้าน “ไพบูลย์” เรียกร้อง กสทช.ประชุมยกเลิกประมูล เหตุทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วชัดเจน
ที่รัฐสภา วันนี้ (22 ต.ค.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ขอหารือถึงการประมูล 3จีของ กสทช.ว่า การประมูล 3จีที่ผ่านเมื่อดูค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับถือว่าเป็นคลื่น 3จีที่ถูกที่สุดในโลก เพราะเมื่อเทียบกับคลื่น 2จีในปัจจุบันเฉพาะเอกชนรายเดียวก็จ่ายเงินให้รัฐถึง 4 หมื่นล้านบาท หากคิดในฐานส่วนแบ่งรายได้ปัจจุบันมาเทียบ 15 ปีของการประมูล 3จี รัฐควรจะได้เงินขั้นสูง 7 แสนล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความชื่นชมนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงคลัง และประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ทำหนังสือคัดค้านการประมูลดังกล่าวว่าอาจส่อว่าจะขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ต้องถือว่าท่านเป็นข้าราชการที่นับวันจะหาได้ยาก เป็นคนที่ตรงไปตรงมาได้ชื่อว่าเป็นมือปราบไม้บรรทัด แต่ตลอดอายุราชการของท่านไม่เคยได้เป็นอธิบดี และกว่าจะได้เป็นรองปลัดกระทรวงถือว่าหวุดหวิดเฉียดฉิว ดังนั้นจึงขอชื่นชมและขอให้ข้าราชการประเทศไทยโดยเฉพาะกระทรวงการคลังถือเป็นแบบอย่าง เพราะมีอีกหลายเรื่องที่รัฐหรือกระทรวงการคลังได้ค่าตอบแทนจากทรัพยากรของชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือควรจะได้เรียกคืนทรัพย์ของชาติกลับคืนมา
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม วุฒิสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบการฮั้วประมูล 3 จี ในเบื้องต้นพบว่าอาจจะมีการกระทำผิดจริงและทำให้รัฐขาดรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เพราะรัฐควรได้รับ 5.8 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีการกระทำบางประการทำให้ได้เพียง 4.2 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ จึงขอเรียกร้องไปยังประธาน กสทช.ให้เร่งเรียกประชุม กสทช.โดยเร็ว เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และมาตรา 35 (5) และตาม พ.ร.บ.กสทช.มาตรา 45 และตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลแล้ว กสทช.เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการเห็นชอบผลประมูล 3จี และออกหนังสือรับรองคลื่นความถี่ แต่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กลับเร่งรีบเห็นชอบผลการประมูลและออกหนังสือใบอนุญาต ดังนั้นหาก กสทช.ยังเพิกเฉยไม่มีการประชุมเพื่อยกเลิกผลการประมูลดังกล่าว ประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. อีก 6 ท่านก็อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 เพราะเมื่อรู้ว่าการประมูลมีการกระทำผิดแล้วและละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อยกเลิกการประมูลถือว่ามีความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่