xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในช่วงหลังๆ มักจะมีคนตั้งคำถามว่าทำไมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตรฯ) ไม่จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อโค่นล้มความเลวร้ายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเสียก่อนโดยให้ทิ้งเรื่องราวที่ไม่พอใจในอดีตเอาไว้ข้างหลัง เพื่อชาติและประโยชน์ของประชาชน

แต่บทเรียนในอดีตพิสูจน์แล้วว่าฝ่ายตรงกันข้ามกับระบอบทักษิณนั้น “ล้าหลัง” เมื่อเวลามีอำนาจแล้วก็ไม่ได้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ สนใจแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องกันทั้งสิ้นเหมือนกัน

หลายปีที่ผ่านมา นักการเมืองที่อ้างว่าตัวเองทำเพื่อประเทศชาตินั้น เอาเข้าจริงพอพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศหลักปกครองประเทศ 15 ประการ ก็ไม่มีนักการเมืองฝ่ายไหนเอาด้วยสักฝ่าย

ถึงแม้องค์กรทุกองค์กรมีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นต่าง และไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับหลักปกครองประเทศของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 15 ประการ และบางเรื่องมันมีความชัดเจนและสะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองเหล่านี้ต่างไม่คิดเปลี่ยนแปลงประเทศ สนใจแต่ที่จะทำลายฝ่ายตรงกันข้าม หรือช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายตรงกันข้าม หรือบางครั้งก็แอบจับมือกันในบางเรื่องเสียด้วยซ้ำ

เวลาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอให้แก้ไขกฎหมายคดีทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้เป็นคดีที่ไม่มีอายุความและเป็นคดีร้ายแรงเพิ่มโทษให้สูงสุดเป็นประหารชีวิต นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ดีแต่พูดหรือออกไปรณรงค์สร้างภาพตามที่ต่างๆ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายแบบนี้เข้าสู่สภาให้เป็นรูปธรรมแม้แต่พรรคการเมืองเดียว

หรือแม้กระทั่งเรื่องใหญ่ๆ อย่างกรณีการปฏิรูปพลังงานของชาติ ที่เห็นว่าค่าภาคหลวงและผลตอบแทนให้กับรัฐบาลไทยจะต้องเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ไม่มีนักการเมืองค่ายไหนออกมาขานรับแม้แต่พรรคการเมืองเดียวเช่นกัน


และหากจะใช้การฟาดฟันทางการเมืองห้ำหั่นกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยแล้ว ยิ่งเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังติดกับดักตัวเองที่ตัวเองทำมาในอดีตทั้งสิ้น

พอพรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบรัฐบาลเรื่องการให้ตำแหน่งทางการเมืองกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีการก่อการร้าย ก็จะต้องถูกย้อนทุกครั้งไปว่าก็พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนสนับสนุนให้มีการประกันตัวคนเหล่านี้ให้ได้มีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่หรอกหรือ

หรือกรณีชายชุดดำในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังตามหาในวันนี้ ก็ต้องถูกตั้งคำถามต่อมาว่าเหตุใดรัฐบาลจึงสนับสนุนและทำให้เกิดการประกันตัวปล่อยตัวผู้ถูกกกล่าวหาคดีร้ายแรงเช่นนี้ออกมาได้ จนเป็นเหตุทำให้วันนี้รัฐบาลและแกนนำคนเสื้อแดงกลับเป็นฝ่ายโยนเผือกร้อนให้ชวนคิดว่าชายชุดดำนั้น เป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายถืออำนาจในรัฐบาลอภิสิทธิ์เสียเอง

ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงมาก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ต้องถูกตั้งคำถามกลับเช่นกันว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็มีปัญหาการทุจริตอย่างมหาศาล จนนายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทยในเวลานั้น ถึงกับเผยผลสำรวจว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีการทุจริตเรียกผลประโยชน์จากนักธุรกิจสูงในอัตราร้อยละ 50 ซึ่งสูงที่สุดกว่ารัฐบาลชุดใด

รัฐบาลชุดนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่ากำลังก่อหนี้สาธารณะมหาศาล พรรคประชาธิปัตย์ออกโรงคัดค้านการออกพระราชกำหนดในการกู้เงินที่หนีการตรวจสอบงบประมาณตามครรลองของระบบรัฐสภาปกติ แต่เมื่อดูย้อนกลับไปรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ก็ทำแบบเดียวกันมาก่อนเช่นกัน

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเส้นเขตแดนเขตไหลทวีปทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือ MOU 2544 ที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังเดินหน้า ฝ่ายค้านแทบจะต้องหุบปากเพราะรัฐบาลตัวเองไม่นำมติคณะรัฐมนตรีเข้าสู่สภาเพื่อยกเลิก MOU 2544 ให้เสร็จสิ้นแต่ประการใด

หรือแม้กระทั่งเรื่องบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MOU 2543 มาวันนี้แทบจะไม่ต้องพูดถึงแล้ว เพราะสถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิมจนถึงขั้นไปยอมรับอำนาจศาลโลกที่ทำกันตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และทำให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถต่อยอดในการรับอำนาจศาลโลกได้ต่อเนื่อง

เวลาฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเรื่องการถอดยศนักโทษชายทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องถูกย้อนกลับด้วยเช่นเดียวกันว่า ทำไมในสมัยที่มีอำนาจไม่ดำเนินการถอดยศนักโทษชายทักษิณให้เสร็จสิ้น

เช่นเดียวกันกับที่พรรคฝ่ายค้านเห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษยุคนี้มีความไม่เป็นธรรมช่วยเหลือรัฐบาลและกลั่นแกล้งฝ่ายตรงกันข้าม แต่ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็กลับปล่อยให้มีการดำเนินคดีการก่อการร้ายกลั่นแกล้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตอนแรกก็อ้างว่าต้องปล่อยให้ดำเนินคดีอย่างอิสระ แต่เมื่อตำรวจสรุปว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นผู้ก่อการดี ก็กลับปล่อยให้มีการเปลี่ยนตัวผู้สืบสวนสอบสวนคดีนี้เพื่อยัดเยียดคดีให้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในข้อหาการก่อการร้ายให้ได้

จึงไม่เห็นทางได้เลยว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ

1. พรรคประชาธิปัตย์ไม่หน้าด้านพอที่จะใช้นโยบายประชานิยมอย่างบ้าระห่ำแบบพรรคเพื่อไทยจนไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะฉิบหายวายวอดอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับหลงไปแข่งเกมปั้นโครงการประชานิยมที่ตามหลังพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่ไม่สามารถจะชนะในการเลือกตั้งได้

2. เวลารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจแล้วก็ทำเรื่องเลวร้ายต่อบ้านเมืองไม่แพ้พรรคเพื่อไทย ขาดความเด็ดขาดในการปฏิรูปประเทศ ทำให้ตรวจสอบเรื่องใดก็จะถูกสวนกลับด้วยข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลของตัวเองก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาที่จะเป็นพรรคคุณธรรม และไม่สามารถเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศได้ จนหลายคนเชื่อในวันนี้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ดีแต่พูด”

3. ขาดความน่าเชื่อถือเพราะเมื่อมีอำนาจแล้วกลับไม่รักษาสัตย์ เคยตระบัดสัตย์ต่อ
ประชาชน โดยเฉพาะประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ทั้งๆ ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้มีการทำประชามติ หรือแม้กระทั่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมาแต่กลับไม่สานต่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่แม้กระทั่งนำไปหาเสียงว่าพรรคของตัวเองจะปฏิรูปประเทศอย่างไร

ในฐานะกัลยาณมิตรที่เคยร่วมต่อสู้กับระบอบทักษิณในช่วงเวลาหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเพียงช่วงชิงอำนาจจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ที่น่าจะดำเนินการต่อหากต้องการการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้นก็ควรจะปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เสียใหม่ดังนี้

1. ประกาศปฏิรูปประเทศไทย “อย่างเป็นรูปธรรม” เช่น การประกาศจุดยืนและลงมือทำเรื่องการแก้ไขกฎหมายเรื่องอายุความของคดีทุจริตให้ไม่มีอายุความและโทษสูงสุดคือประหารชีวิต หรือการประกาศจุดยืนในการปฏิรูปพลังงานของชาติ เดินหน้าแก้ไขกฎหมายขึ้นค่าภาคหลวง หรือประกาศแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจและตรวจสอบมากขึ้น ฯลฯ

ไม่ใช่คอยส่งนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาโต้วาทีกับพรรคเพื่อไทยแล้วคิดว่าจะเป็นทางรอดหรือความหวังให้กับประเทศได้

2. ประกาศขอโทษต่อประชาชน แสดงการยอมรับและสำนึกในความผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อให้น้ำหนักที่พูดจะไม่ถูกย้อนศรกลับว่าในยามที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็กระทำเรื่องเลวร้ายไม่แพ้พรรคเพื่อไทย

3. แม้สมมติว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะขอโทษต่อประชาชนแล้วก็ตาม แต่หาก
ประชาชนไม่เชื่อถือเพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เคยตระบัดสัตย์ต่อคำพูดของ
ตัวเองหลายเรื่อง สิ่งเดียวที่จะทำได้คือการลาออกจากหัวหน้าพรรคจริงๆ (ไม่ใช่เล่นละคร) และไม่กลับเข้ามารับตำแหน่งอีก เพื่อเปิดทางให้คนอื่นที่ดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ และยังไม่เคยตระบัดสัตย์ต่อประชาชนมาทำหน้าที่แทน

แต่ดูเหมือนว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงไม่เห็นด้วยกับแนวทางข้างต้น เพราะประกาศว่าตัวเองจะเป็นหัวหน้าพรรคอีก 10 ปี ปิดทางสำหรับการปฏิรูปพรรคการเมืองพรรคนี้ได้

มองจากมุมนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพราะคงต้องการรอให้ประเทศชาติฉิบหายวายวอดจากภาระหนี้สาธารณะของประเทศพุ่งทะยานขึ้น จนประเทศชาติล้มละลายภายใน 10 ปีข้างหน้าแล้ว จะได้หันมาเลือกตัวเองให้กลับมาเป็นรัฐบาลโดยตัวเองและพรรคของตัวเองไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอะไรทั้งสิ้น ใช่หรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องพูดว่า “อำมหิต และล้าหลัง” จริงๆ!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น