เดือนตุลาคมของทุกปี นอกจากการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ประชาชนมือเปล่าถูกปราบปรามจากผู้ถืออำนาจรัฐ จนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย ในเดือนตุลาคมถึงสามครั้งสามครา คือ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหตุการณ์ประชาธิปไตยเลือดเหล่านั้น ได้ถูกจารึกไว้เป็นความวิปโยคและอัปยศอดสูแห่งการเมืองประชาธิปไตยปนเปื้อนของประเทศไทยเป็นภาพทุรยุคแห่งกาลเวลาที่เจ็บปวดและต้องจดจำ เดือนตุลาคมยังมีเหตุการณ์สำคัญที่ควรรำลึกจดจำไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้น เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยทั้งประเทศเศร้าโศกเสียใจกับการสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง ในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ซึ่งผ่านพ้นมาแล้ว 102 ปี
แต่ยังฝังแน่นเป็นความทรงจำและความผูกพันระหว่างปวงชนชาวไทยกับองค์สมเด็จพระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก เคารพสักการะยาวนานมาถึงปัจจุบัน
พระราชกรณียกิจแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อพสกนิกร นับอเนกอนันต์ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 42 ปี ซึ่งมากมายเกินกว่าจะนำมาบอกเล่าเรียบเรียงให้หมดสิ้นได้ บทความนี้จึงจำกัดเพื่อจะบอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่เพียงเรื่องเดียว คือการเลิกทาส ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคุณูปการแก่คนไทยอย่างยิ่งยวดเหนือยิ่งสิ่งใด
“ทาส” หมายถึง บุคคลซึ่งถูกนับสิทธิเสมือนสิ่งของของผู้อื่น ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิต และมีหน้าที่รับใช้ผู้อื่นโดยมิได้รับการตอบแทนจากเจ้าของ (นายทาส) เช่น การรับใช้ทางด้านแรงงาน และหากไม่เชื่อฟังคำสั่ง หรือทำผิดพลาดบกพร่อง ก็อาจถูกลงโทษได้ตามแต่นายทาสจะกำหนดโทษทัณฑ์
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ประเทศไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าลูกทาสในเรือนเบี้ยได้มีสืบต่อกันเรื่อยมาไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นทาสกันตลอดชีวิต พ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆ กันเรื่อยไป
ทาสที่มีในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือก่อนหน้านั้นที่ไม่มีการสืบค้นแน่ชัด จำแนก เป็นประเภทของทาส 7 ประเภท คือ
ทาสสินไถ่- เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทองซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง
ทาสในเรือนเบี้ย-เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้
ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก - ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป
ทาสท่านให้ - ทาสที่ได้รับต่อมาจากนายทาสผู้อื่น
ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ - ในกรณีที่บุคคลนั้นเกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้นไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ
ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก - ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส
ทาสเชลยศึก - ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้
การคิดจะเลิกระบบทาส มิใช่เรื่องที่จักกระทำได้โดยง่ายดายนัก เพราะด่านแรกที่ต้องเผชิญ ก็คือ การต่อต้านจากบรรดานายทาสที่เคยได้รับความสะดวกสบายเคยชินจากการมีทาสรับใช้ และโดยเฉพาะนายทาสส่วนใหญ่ล้วนต้องมีศักดินาฐานะ มีอำนาจ บุญญาบารมีที่กระทบกระทั่งได้ยาก ประกอบกับบทเรียนการเลิกทาส ในซีกโลกส่วนอื่น ล้วนก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง เสียเลือดเสียเนื้อ และสับสนวุ่นวายต่อการปกครองบ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะ และกุศโลบายเพื่อดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอนอย่างแยบยล โดยเริ่มด้วยการให้กำหนดลดราคาค่าตัวทาส ที่มีอยู่แล้วลงทีละน้อยจนเจ้าตัวทาสสามารถไถ่ถอนได้ โดยได้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ร.ศ. 93 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 กำหนดให้ลูกทาสที่เกิดปีมะโรง พ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นปีแรกที่พระองค์ครองราชย์ให้ค่าเกษียณอายุ ลดค่าตัวลงทุกๆ เดือนไปจนอายุครบ 8 ปี จากนั้นให้เริ่มเกษียณอายุลงไปทุกปี จนอายุ 21 ปี จึงให้ถือว่าเป็นไท เมื่อเป็นอิสระแล้วห้ามการเป็นทาสอีก โดยทรงระบุโทษผู้ซื้อและผู้ขายไว้ด้วย ราษฎรที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ. 2411 เป็นต้นไป ห้ามซื้อขายเป็นทาส หากเข้าอาศัยในบ้านเรือนหรือสถานที่ใดให้มีฐานะเป็นลูกจ้างเท่านั้น
จากนั้นใน พ.ศ. 2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124” (พ.ศ. 2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาสไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และการซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด
เมื่อมีพระชนมพรรษาครบ 2 รอบ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยทาสที่ขายตัวอยู่กับนายเงินคนเดียวมาครบ 25 ปี รวมทั้งลูกหลานของทาสและพระราชทานที่ทำกินให้ด้วย นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. 119 ให้ลดค่าตัวทาสเชลยทั้งปวงในเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน ให้เป็นอัตราเดียวกันหมดและเมื่ออายุครบ 60 ปีก็ให้เป็นไท ส่วนทาสสินไถ่ ถ้าอายุครบ 60 ปีหาเงินมาไถ่ตัวไม่ได้ ก็ให้เป็นไทเช่นกัน
สำหรับการตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลบูรพา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเงินลดค่าตัวทาสลงเดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด และห้ามซื้อทาสอีก โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติทาน ร.ศ.124 ให้ทุกมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ยกเว้นไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู กำหนดให้นายเงินปล่อยลูกทาสของตนทุกคนให้เป็นอิสระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสอื่นๆ ที่มิใช่ลูกทาสให้นายเงินลดค่าตัวให้กับทาสที่ยังไม่หลุดพ้นค่าตัวลงเดือนละ 4 บาทและห้ามนำคนไปเป็นทาสอีก และถ้าทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ห้ามทำกรมธรรม์ขึ้นค่าตัวสูงกว่าเงินค่าตัวเก่า
จากนั้น ในปี พ.ศ. 2452 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 กำหนดว่าผู้ใดจะเอาคนเป็นทาส นอกจากที่ได้รับการยกเว้นอีกไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี ปรับตั้งแต่ 100-1,000 บาท ซึ่งเป็นการปลดปล่อยทาสอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ในระหว่างที่ทรงดำเนินการปลดปล่อยทาสอยู่นั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาตามแบบใหม่ควบคู่กันไป เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระบารมีในพระองค์ท่านเพียงระยะเวลา 35 ปี ก็สามารถทำให้ทาสหมดไปจากประเทศไทย
วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ประเทศไทยกำหนดให้เป็นวันปิยมหาราช เพื่อรำลึกถึงคุณูปการที่พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ได้นำพาประเทศไทยฟันฝ่าภยันตรายจนรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งแม้จะต้องกล้ำกลืนเชือดเฉือนแผ่นดินไทยไปบางส่วน แต่ก็แลกมาได้ซึ่งอิสรภาพ เสรีภาพความเป็นไท ที่ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก เฉกเช่นประเทศเพื่อนบ้านในแถบอุษาคเนย์ทั้งมวล และได้ทรงทุ่มเททำนุบำรุงบ้านเมืองจนเจริญรุดหน้าเทียบทันนานาอารยประเทศ และผลงานที่ยิ่งใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ก็คือ การเลิกทาส ดังได้ลำดับความมาข้างต้นนั้น
วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี จึงเป็นวันสำคัญที่ควรกระตุ้นเตือนจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนได้ตระหนักรู้ และภาคภูมิใจในความเป็นไทของตน ลบล้างภาพการยอมตนเป็นทาสบุคคลใดบุคลหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือสีเสื้อใดสีเสื้อหนึ่ง กระทำการย่ำยีทำร้ายประเทศชาติและสถาบัน และลบล้างภาพการปกป้อง “นายทาส” ที่ใช้ระบบการตลาดประชานิยมลวงล่อด้วยมายา ตามระบอบทุนสามานย์ที่ใช้เงินทองหว่านซื้อเยี่ยงระบบ “นายทาส” กับ “ทาส” ซึ่งรังแต่จะก่อให้เกิดความเศร้าหมอง ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แห่งองค์พระปิยมหาราช ที่ทรงอุตสาหะประกาศปลดปล่อยเลิกทาสมาแล้วถึงหนึ่งร้อยกว่าปี