ASTVผู้จัดการรายวัน- เสวนา "ไร่ส้ม" ยักยอกเงินโฆษณา คนวงการสื่อสารมวลชน ดาหน้าฉะ "สรยุทธ" ควรแสดงความรับผิดชอบ ทั้งในฐานะ "จรรยาบรรณสื่อ" และ "ผู้บริหารองค์กร" ก่อนบี้สำนึกช่อง 3 หาทางออก "เสรี" จี้ให้ใช้โซเชียลมีเดีย ขยายความ อย่าให้เรื่องเงียบ พร้อมกดดันให้ผู้สนับสนุนรายการถอดโฆษณา ด้านสภานสพ.ย้ำสมควรพิจารณาตัวเอง เพื่อธำรงรักษาสถาบันวิชาชีพสื่อทั้งระบบ
วานนี้ (4 ต.ค.55) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ตอนหนึ่งกรณีไร่ส้ม ระบุว่า ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชนเป็นสำคัญ กรณีจึงมีเหตุผลที่สังคมควรต้องตั้งคำถาม และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ
“ได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ดังกล่าว ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้เป็นสมาชิกโดยตรง แต่ก็นับเป็นภาระรับผิดชอบร่วมกับองค์กรสื่ออื่นๆ ที่จะต้องยืนยันหลักการการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี ที่ต้องไม่ประพฤติ ปฎิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาแม้จะยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมาย แต่ในแง่ของการประกอบวิชาชีพ นับว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณแล้ว”
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร ควรได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงโดยครบถ้วน และใช้วิจารณญาณในการเลือกรับสื่อบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ ของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาก็สมควรพิจารณาตัวเอง เพื่อธำรงรักษาสถาบันสื่อทั้งระบบให้เป็นที่เชื่อมั่น และศรัทธาของประชาต่อไป
อีกด้านสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ ตอนหนึ่งว่า เรื่องดังกล่าวได้รับการหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมขึ้นอีกกรณีหนึ่ง นั้น สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียนว่า สภาได้มีหนังสือไปยังองค์กรสมาชิกต้นสังกัดของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอการแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูล และการดำเนินการมาตรการทางจริยธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องจากองค์กรสมาชิกต้นสังกัด ซึ่งหากมีความคืบหน้าประการใด สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจะได้แจ้งให้สาธารณชนทราบต่อไป.
ขณะที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนา "กรณีไร่ส้ม...บทพิสูจน์ความเข้มแข็งของสังคมในการต่อสู้คอร์รัปชั่น" จัดโดย ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สถาบันอิศรา และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กรณีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญา ฐานร่วมกันยักยอกเงินโฆษณาที่ได้รับ เกินกว่าสัญญาที่บริษัท ไร่ส้ม ทำไว้กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทำให้ อสมท ได้รับความเสียหายถึง 138,790,000 บาท
ทั้งนี้ มีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนา เช่น นายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้บริหารสำนักข่าว ทีนิวส์ นายจักรกฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นต้น แต่ไม่มีตัวแทนจากบริษัทไร่ส้มเข้ามาร่วมรับฟังด้วยแต่อย่างใด
นายเสรี กล่าวว่า ภาคสังคมต้องร่วมกันต่อต้านเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะกรณีของนักศึกษาสื่อสารมวลชน ที่ต้องมีการออกมาเรียกร้องเพื่อเป็นการแสดงออก หากต้องการให้วงการสื่อมวลชนในอนาคตดำรงอยู่ได้ด้วยความใสสะอาด โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการ ที่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีการจัดงานทางวิชาการในเรื่องนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะถูกเปรียบเสมือนหมาเห่าใบตองเฉยๆ และกรณีนี้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวและเจ้าของบริษัทไร่ส้ม ต้องมีการตั้งโต๊ะชี้แจงอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ใช้วิธี เอาเวลาในรายการตัวเองมาชี้แจง และในด้านกฎหมายต้องมีการทำให้รวดเร็ว อยากให้ประชาชนแสดงบทบาทให้มากกว่าส่วนอื่น ด้วยการพึ่งพาโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง เพื่อขยายความเรื่องนี้ออกไป เปรียบเป็นหมาที่ทั้งเห่าและกัดไปพร้อมๆกัน
ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า กรณีนี้นายสรยุทธ์อาจโชคไม่ดีที่ต้องตกเป็นกรณีศึกษา เรื่องแบบนี้ไม่มีการสอบสวนช่องต่างๆ เนื่องจากจะขยายไปถึงผู้บริหารสถานี แต่เรื่องนี้เป็นการใช้ช่องทางที่เป็นทรัพยากรของรัฐ ผิดในแง่จริยธรรม กรณีของนายสรยุทธมีความผิดที่เป็นผู้บริหารบริษัท ส่วนตัวคิดว่านายสรยุทธ ต้องรับผิดชอบทั้งสองเรื่อง เนื่องจากมีจรรยาบรรณของสื่อและผู้บริหารองค์กร และเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่จะแสดงความเห็นหรือกดดันในเรื่องที่เขาทำอยู่ เพราะวันนี้เห็นว่าบาปที่ปรากฏในสื่อสารมวลชน มันมากกว่าที่เห็น ผู้สนับสนุนรายการต้องถอนการสนับสนุน ช่อง 3 ต้องคำนึงว่าเรื่องนี้เป็นการให้ช่องทางที่มาจากภาษีของประชาชน วันนี้ช่อง 3 และนายสรยุทธต้องร่วมกันหาทางออก
นายสังศิต กล่าวว่า บริษัทไร่ส้มเมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของ อสมท.เข้ามาร่วมเป็นกรรมการของบริษัทไร่ส้มด้วย และสองบริษัทนี้มีการข้ามขั้นตอนในการพิจารณาออกอากาศ ไม่มีการตรวจสอบให้ถูกต้อง แต่กลับได้รับอภิสิทธิ์ให้ออกอากาศ การที่มีการโฆษณาเลยเวลาของบริษัทไร่ส้มเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ องค์กรภายในของ อสมท.กลับไม่เข้ามาตรวจสอบด้วยโดยเลือกที่จะเงียบ เนื่องจากเกรงเรื่องหน้าที่การงาน การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นการใช้ทฤษฎีกฎหมายมาตรวจสอบ เรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีการตกลงทางธุรกิจฝ่ายของบริษัท อสมท. มักจะตกเป็นผู้ที่เสียเปรียบเสมอไป มีหลายบริษัทที่ได้รับเงินโฆษณาเกิน แต่มีการคืนเงินให้ อสมท. ยกเว้นบริษัทไร่ส้มบริษัทเดียว ในทางกฎหมายต้องพิจารณาว่า เหตุใดที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้รับการลงโทษ แต่กลับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ได้รับการลงโทษเท่านั้น กรณีของนายสรยุทธต้องมองในแง่จริยธรรมด้วย ไม่เฉพาะเพียงแค่ด้านกฎหมายเท่านั้น