“ควายหายเล่นข่าวกันแทบทุกวัน แต่ข่าวคนคอร์รัปชัน แทบไม่ยอมนำเสนอ” ประโยคเด็ดที่เรียกเสียงปรบมือ จากสื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าวงานเสวนา กรณีไร่ส้ม บทพิสูจน์ความเข้มแข็งของสังคมในการต่อสู้คอร์รัปชัน ณ สถาบันอิศรา ถนนสามเสน (วันที่ 4 ต.ค. 55) สะท้อนลึกๆว่า ในแวดวงสื่อมวลชนนั้น สรยุทธ์ กลายเป็นที่ชิงชังของชาวพิราบข่าวไปแล้ว
“คุณสรยุทธจะกล้ามางานเสวนาวันนี้ไหม? ” มีผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่งถามกับเจ้าหน้าที่ผู้จัดงาน เพราะก่อนงานนี้จะเริ่มขึ้นเพียงข้ามคืน มีกระแสข่าวว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา จะเดินทางมาร่วมงานนี้ และจะชี้แจงตอบทุกข้อซักถาม แต่สื่อมวลชนหลายคนก็ เชื่อว่า เขาไม่กล้ามาหรอก ใครจะกล้ามาให้เขาเชือด!
สรยุทธ คอร์รัปชันจริงหรือไม่ตามข้อกล่าวหา คงจะต้องเป็นเรื่องพิสูจน์กันต่อไปในกระบวนการยุติธรรม แต่สำหรับสังคมคนทำข่าวแล้ว สรยุทธ คือ ผู้ร้ายปากแข็งที่ยังไม่ยอมรับผิดในฐานะผู้บริหารบริษัทไร่ส้ม แสวงหาผลกำไรอันมิชอบ กรณีการแอบยักยอกเงินค่าโฆษณา 138 ล้านบาท เมื่อครั้งทำรายการคุยคุ้ยข่าวทางช่อง 9
บรรยากาศงานเสนา ในห้องประชุม ที่เต็มไปด้วยกองทัพนักข่าว นักสื่อสารมวลชน รุ่นเก่า รุ่นใหม่ที่มาด้วยหน้าที่รายงานข่าว นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสื่อมวลชนหลายๆ แขนงที่ไม่มีภารกิจมารายงานข่าวแต่ตั้งใจมาฟัง ชี้ชัดได้ว่า ข่าวฉาวของสรยุทธ สังคมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
จี้ปลด สรยุทธ ยุติการจัดรายการ
มีป้ายเล็กๆเขียนด้วยปากกาเมจิกว่า "เรื่องเน่าเช้านี้" ดูเหมือนว่า ทุกคนผู้ร่วมเสวนาจะยิ้มและเห็นด้วยว่า กรณีการทุจริตครั้งนี้ของคุณสรยุทธ มันคือ ข้อความที่โดนใจมาก
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ในกรณีของสรยุทธนั้น ถือเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องตื่นตัว และ องค์กรสื่อจะต้องช่วยกันตรวจสอบ และ ฝากถามไปถึง คุณสรยุทธ และช่อง 3 ว่า เมื่อเกิดข้อกล่าวหานี้ เขาจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร และช่อง 3 ต้นสังกัดจะยังให้เขาทำรายการอยู่หรือไม่
“ความผิดที่อาจจะยังไม่สิ้นสุดในกระบวนการตรวจสอบ แต่เมื่อคุณสรยุทธ คือ บุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นคนดัง เมื่อเกิดข้อกล่าวหาว่า และมีมูลความจริง สิ่งหนึ่งที่เห็นว่า สรยุทธ พึงกระทำคือ การยุติการเป็นนักจัดรายการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งต้นสังกัดควรแสดงความรับผิดชอบด้วย”
ดูเหมือนว่า บ่วงกรรมครั้งนี้ของสรยุทธ น่าจะหนักหนา สาหัส เพราะ มีการยืนยันจากกลุ่มคนรักความยุติกรรม จะรวมตัวเดินทางไปช่อง 3 ในวันที่ 7 ต.ค.นี้เพื่อยื่นหนังสือให้ผู้บริหารช่อง 3 รับผิดชอบ ปลดสรยุทธ ออกจากรายการข่าวทุกรายการไปก่อน เพื่อความถูกต้อง
ดร.เสรี วงษ์มณฑา ได้พูดถึงการแสดงความรับผิดชอบว่า ช่อง 3 อย่าคำนึงแต่รายได้จากการจัดรายการของสรยุทธ ซึ่งเท่าที่ทราบว่า มีรายได้จากการจัดรายการต่อวันถึงไม่ต่ำกว่าล้านกว่าบาท ช่อง 3 ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ยุติการจัดรายการของคุณสรยุทธไว้ก่อน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ
แบรนด์ สรยุทธ กำลังจะพังพินาศ!
วิบากกรรมครั้งนี้ ของ สรยุทธ นักสร้างแบรนด์หลายๆคน มองเห็นว่า ภาพลักษณ์ซูเปอร์สตาร์ในวงการนักเล่าข่าวของเขา กำลังพังพินาศลง หากเขาไม่สามารถนำพาตัวเองไปสู่การแสดงความบริสุทธิ์ แก้ข้อกล่าวหาได้
สรยุทธ เติบโตจากเส้นทางผู้ประกาศข่าว และบทบาทนักเล่าข่าวของเขา ฉายแวว สู่ความเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการเล่าข่าวตั้งแต่ ทำรายการคุยคุ้ยข่าว ทางช่อง 9 มาถึง รายการเรื่องเล่าเช้านี้ มีคนเคยกล่าวว่า เขา เหมือน เบิร์ด ธงไชย ในวงการนักเล่าข่าว ค่าตัวแพง มีแฟนคลับมีคนรักมากมาย แต่วันนี้ พลุที่เคยถูกจุดขึ้นฟ้า ก็กำลังร่วงสู่ผืนดิน ฉันใดฉันนั้น
คนรู้จัก สรยุทธ มักพูดว่า เขาเก่งนะ เก่งในเรื่องการสร้างแบรนด์ให้ตัวเขา เป็นนักสื่อสารมวลชนใช้จังหวะ โอกาสได้เก่ง ที่ให้ประชาชนยอมรับ ไม่ว่า กรณีอุทกภัยน้ำท่วมทุกครั้ง เขาเก่งกว่า นายกรัฐมนตรีของไทยอีก เดินทางไปมอบของ เยี่ยมชาวบ้าน พร้อมกับทีมงานถ่ายทอด ช่อง 3 เรียกว่า มีสื่ออยู่ในมือ ออกสื่อทุกวันทำรายการเอง ผู้ชมจึงรักและบางคนถึงขั้น อยากให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะชาวบ้านเห็นเขาหน้าจอทีวีทุกวันในการช่วยเหลือชาวบ้าน
ส่วนอีกบทบาทหนึ่ง คือ บทบาท ความเป็นนักธุรกิจ ต้องยอมรับว่า สรยุทธ ก็มีชั้นเชิงแพรวพราวไม่แพ้ใคร เขามีความสามารถที่จะมีคอนเนกชัน เข้ากับผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจที่จะนำพาให้บริษัทของเขาเติบโตและทำกำไรได้มาก จึงมักมีคนสงสัยมากมายว่า เขาชอบเสื้อเหลือง ชอบเสื้อแดง หรือ ชอบเสื้อฟ้า กันแน่ คำตอบ คือ เขาฉลาดที่สามารถอยู่ได้กับทุกกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ให้เขา
ไม่แปลกใจนักที่ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา จะกล่าวไว้ว่า ธุรกิจสรยุทธ ที่ดำเนินมากว่า 8 ปีในนามบิรษัทไร่ส้ม และ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ มีกำไรเกือบ 3,000 ล้านบาท
บทบาทความเป็นนักธุรกิจนี้เอง ที่กำลังฉุดเขาลงมา เพราะเขาเห็นแต่การแสงหาผลประโยชน์ที่ผิดๆ โดยที่ลืมนึกถึงเรื่องจรรยาบรรณ
องค์กรสื่ออ่อนแอ
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตมากมายหลายประเด็นว่า กรณีสรยุทธ นั้น องค์กรวิชาชีพสื่อที่มีหน้าที่คอยกำกับดูแล ทำอะไรได้บ้าง นอกจากออกมากล่าวได้เพียง สรยุทธ ผิดเช่นนั้นเช่นนี้ แต่เอาเข้าจริง องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำอะไรไม่ได้มาก มีสื่อมวลชนบางฉบับถึงกับกล่าวอย่างอัดอั้นตันใจถึงกรณีนี้ว่า องค์กรวิชาชีพสื่อต้องเปิดสวิตช์ เอาจริงเอาจัง ได้แล้วกับกรณีพบเห็นการทุจริตของ นักสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะ สรยุทธ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียง เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง
เท่าที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมักใส่ใจแต่เพียงการเลือกตั้งผู้บริหารสมาคมสื่อ ในขณะเรื่องจรรยาบรรณนั้น มีเพียงคำพูดว่า คุณสรยุทธ ผิดเช่นนั้น เช่นนี้ แต่กระบวนการลงโทษหรือ ความเด็ดขาดนั้น ไม่มีการดำเนินการใดๆ
ดร.เสรี วงษ์มณฑา กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าองค์กรตรวจสอบจรรยาบรรณสื่ออ่อนแอดังเช่นปัจจุบัน ในกรณีสรยุทธ อาจจำเป็นต้องพึ่งพิงอำนาจทางสังคม โดยเฉพาะสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคปัจจุบัน ต้องร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชัน กรณีสรยุทธ ก็อาจใช้ facebook หรือ เข้าไปตั้งกระทู้ ต่อต้าน คุณสรยุทธ ให้หยุดบทบาทการจัดรายการไปก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบว่า เขาผิดจริงหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้ว สรยุทธ ไม่ผิดตามข้อกล่าวหา ค่อยกลับมาทำรายการให่อีกครั้ง เชื่อว่า เป็นทางออกที่ดีกว่า
วิบากกรรม ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังต้องติดตามกันต่อไป คงจะเป็นเรื่องสั่นสะเทือนของวงการสื่อไทยไปอีกพักใหญ่ และน่าจะเป็นเรื่องเน่าเช้านี้ ที่ซูเปอร์สตาร์กำลังร่วงหล่นจากฟากฟ้า
เปิดปมทุจริตคดีสรยุทธ
ข้อเท็จจากการสืบสวนของคณะอนุกรรมการที่ส่งสำนวนให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น ตามข่าวที่ออกมามีการสรุปเพียงสั้นๆ ที่ไม่ชัดเจนพอให้ประชาชนตัดสินใจ โดยข้อเท็จจริงจากการสืบสวนนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงในปี 2547-2549 เป็นเวลา 2 ปีเศษ
เริ่มแรกนั้นบริษัทไร่ส้ม กับอสมท. ได้ทำสัญญาผลประโยชน์ทางธุรกิจกัน โดยบริษัทไร่ส้มจะเป็นผู้ผลิตรายการ และอสมท. จะให้เวลาและสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน ทั้งสองฝ่ายจะแบ่งประโยชน์กันโดยในเวลา 1 ชั่วโมง บริษัทไร่ส้มได้เวลาโฆษณา 5 นาที
ข้อเท็จจริงต่อมาคือรายการที่บริษัทไร่ส้มทำนั้น ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือเวลาโฆษณา 5 นาทีของบริษัทไร้ส้มไม่เพียงพอ ทั้งอสมท. บริษัทไร่ส้มก็ได้ขายโฆษณาเอง แต่ในฐานะบริษัทไร้ส้มมีผู้ดำเนินรายการเป็นพิธีกรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง การขายโฆษณาจึงไหลมาทางบริษัทไร่ส้ม ทำให้ต้องยิงโฆษณาในเวลาของอสมท.
ข้อเท็จจริงต่อคือพบโฆษณาล้นเกิดในปี 48 - 49 สิ่งที่พิจารณาลำดับถัดมา วิถีปฏิบัติของการบริหารสถานีโทรทัศน์เกี่ยวกับโฆษณาจะมี 3 ฝ่ายทำงานร่วมกันคือ ฝ่ายฝังรายการ ฝ่ายฝังโฆษณา จะทำงานเกี่ยวโยงกันจนไปถึงฝ่ายบัญชีและการเงิน
โดยดำเนินการผ่าน 3 ขั้นตอน 1 ฝ่ายโฆษณาจะทำใบสั่งโฆษณาซึ่งต้องระบุตัวสินค้า เวลาอย่างละเอียดเป็นวินาที 2. ฝ่ายฝังรายการ ซึ่งจะต้องจัดฝังรายการ แบ่งช่วงโฆษณาแล้วเอกสารดังกล่าวก็จะถูกส่งไปที่ฝ่ายบัญชีหรือการเงินเพื่อเรียกเก็บเงินจากลูกค้า 3. ย้อนกลับมาฝ่ายโฆษณาต้องเอาใบยืนยันการโฆษณาส่งให้กับลูกค้า
แต่การทุจริตเกิดขึ้นที่เจ้าหน้าที่ธุรกิจของฝ่ายฝังรายการที่ใบสั่งโฆษณานั้นเข้ามาจากทั้งฝั่งบริษัทไร่ส้ม และอสทม. ได้บรรจุใบฝังที่ไม่มีโฆษณา แต่เมื่อออกอากาศ บริษัทไร่ส้มก็ทำใบยืนยันการโฆษณาไปเก็บเงินลูกค้า จากการตรวจสอบพบว่า ปี 2548 ได้โฆษณาเกินไป 40ล้าน 1 แสน 1 หมื่นบาท ส่วนปี 2549 ได้โฆษณาเกินไป 98 ล้าน 6 แสน 8 หมื่นบาท
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ชนาภา บุญโตก็ได้ทำการทำลายเอกสารด้วยการทิ้งขยะบ้าง ใช้น้ำยาลบคำผิดลบ ข้อเท็จจริงต่อมาคือชนาภายอมรับความผิดโดยมีหลักฐานเป็นเช็คเงินสดที่เซ็นโดยสรยุทธเป็นเงิน 739,770.50บาท
ข้อพิจารณาว่าบริษัทไร่ส้มเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดมาจาก 1 รู้อยู่แล้วว่ามีการโฆษณาจึงเรียกเก็บเงินลูกค้า 2 การเซ็นเช็คของสรยุทธที่ให้แก่ชนาภานั้นหากมีเจตนาเป็นค่าการตลาดหรือค่าคอมมิชชันขายโฆษณาก็ต้องมีหลักฐานว่าเป็นโฆษณาตัวไหน แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน
นี่คือข้อเท็จจริงทั้งหมดคือคณะอนุกรรมการสืบสวนมาเป็นข้อพิจารณาในการชี้มูลความผิด