xs
xsm
sm
md
lg

“ช่อง 3 เห็นแก่เงิน!” อุ้มสรยุทธจัดรายการต่อ !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทำไมสรยุทธถึงยังจัดรายการอยู่ได้...?!?
หลังจากเป็นที่รับรู้กันในสังคมแล้วกับกรณีทุจริตค่าโฆษณากับบริษัท อสมท ของสรยุทธ สุดทัศนจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง เกิดเป็นข้อถกเถียงถึงจรรยาบรรณสื่อ ร้อนถึงองค์การวิชาชีพอย่างสมาคนนักข่าวจัดเสวนาหาทางออกของกรณีที่เกิดขึ้น จนถึงวันที่กระแสเริ่มเงียบหาย สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คืออะไรกันแน่?
 

ทางออกของปัญหาที่นักวิชาการหลายคนมองไว้คือ การที่สรยุทธเว้นวรรคเป็นการชั่วคราวระหว่างพิสูจน์ความสบริสุทธิ์ของตัวเอง และรับผิดชอบกับการชี้มูลความผิดที่เกิดขึ้น ทว่าการประกาศว่า “จะสู้ต่อไปในชั้นศาล” ก็ทำให้นักเล่าข่าวผู้นี้ยังคงทำงานอยู่ในหน้าจอทีวีได้
  
ในภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ วงวิชาการที่ตั้งข้อถกเถียง สื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์โหมกระแสกับกรณีที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสถานีช่อง3 หรือบริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีก็ยังไม่มีท่าทีใดต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่สปอนเซอร์แม้ว่าจะมีการประกาศถอนโฆษณาจนทำให้หุ้นของบริษัทบีอีซีตกลงมา แต่ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบทบาทบนหน้าจอ




คำตอบเงียบๆ ของช่อง 3
จากข่าวกรณีทุจริตของสรยุทธกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนึ่งที่ไม่พูดถึงเรื่องนี้ และไม่แสดงท่าทีใดๆ มาโดยตลอดก็คือช่อง 3 ในฐานะผู้ว่าจ้างให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของสรยุทธผลิตรายการข่าวถึง 3 รายการอันได้แก่ เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเด่นเย็นนี้(เจาะข่าวเด่น) และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์
 

ผู้สื่อข่าวได้ลองติดต่อขอสัมภาษณ์ไปทางบริษัทบีอีซีก็ได้รับการโอนสายให้ไปพูดคุยกับทางช่อง3 แต่ช่อง3ก็ได้ปฏิเสธแล้วบอกว่า อำนาจการตัดสินใจนั้นอยู่ที่บีอีซีซึ่งเป็นเจ้าของช่อง3 เมื่อผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังบีอีซีอีกครั้ง ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้บริหารไม่สะดวกที่จะพูดถึงเรื่องนี้
  

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามต่อไปว่า มีการประชุมหารือ หรือมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นบ้าง ทางพนักงานบีอีซีก็เงียบไปครู่หนึ่งก่อนตอบกลับมาว่า ทางผู้บริหารนั้นไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลยจริงๆ เลยไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรได้
  

ดูเหมือนกรณีสรยุทธจะกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในการพูดถึงไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ 3 รายการข่าวของสรยุทธนั้นเป็นที่นิยมของประชาชนเป็นอย่างมาก และสร้างรายได้ให้กับบีอีซีถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมต่อปี ข้อกังขาที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องของจริยธรรมนั้นเป็นเงื่อนไขที่ต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี
 
ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัท บีอีซี เผยว่า บริษัทไม่มีแผนที่จะถอดสรยุทธออกจากการจัดรายการ แม้จะมีกระแสสังคมระบุว่าขาดความเหมาะสม โดยชี้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว พร้อมกับยืนยันว่ารายได้ในปี 2556 โตขึ้นกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่มีการแจ้งถอนสปอนเซอร์จากรายการ
 

จากปรากฏการณ์ที่ครั้งนี้อาจบอกได้ว่า ช่อง3แสดงจุดยืนของตัวมาอย่างชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกันสปอนเซอร์ที่มีส่วนทำให้สรยุทธยังทำหน้าที่นักเล่าข่าวอยู่ได้ก็มีจุดที่ยังคงสนับสนุนต่อไป ตอนนี้ก็เหลือสังคมเท่านั้นว่าจะเลือกคำตอบใดให้กับกรณีของสรยุทธ
  
ทั้งนี้ เมื่อมองไปถึงหลายกรณีทุจริตแบบเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นกับนักการเมือง สังคมมักทวงความรับผิดชอบต่อนักการเมืองเหล่านั้น แต่กับกรณีสรยุทธที่มีฐานะเป็นสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบทุจริต และอีกหน้าที่คือการชี้นำสังคม สังคมจะเลือกปฏิบติอย่างไร? และผลที่ตามมาคืออะไรกันแน่?




สังคมไม่สนจริยธรรม
หลังจากการตัดสินของบริษัทบีอีซีที่จะไม่ถอดสรยุทธออกจากฝังรายการ สำหรับ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนมองว่า สรยุทธอยู่ได้ด้วยบุคคล 3 ฝ่ายด้วย 1. บริษัท บีอีซี คือผู้ว่าจ้าง 2. บริษัทสปอนเซอร์หรือโฆษณา 3. ผู้ชมหรือประชาชน สิ่งเกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าบริษัท บีอีซีอยู่ข้างสรยุทธ เช่นเดียวกับสปอนเซอร์ที่ยังไม่ถอนตัว ดังนั้นจึงมีเพียงประชาชนเท่านั้นที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
ทั้งนี้การตัดสินใจของบีอีซีนั้นก็เป็นเรื่องทางธุรกิจในฐานะลูกจ้างกับลูกนายที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ในเรื่องนี้
“เพียงแต่ว่าสังคมเองก็ต้องพิจารณาว่า เห็นด้วยกับการกระทำนี้หรือเปล่า? ถ้าเห็นด้วยก็ดูกันต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องทำอะไรบางอย่างให้เขารู้ว่า สังคมไม่พอใจกับการตัดสินใจของเขา”
 
ในช่วงที่เงียบหายไปหลังจากมีการชี้มูลความผิด และการถามถึงจุดยืนของช่อง3นั้น ดร.เสรีมองว่า เป็นการดูท่าทีของสังคมก่อนว่ารู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อยังไม่ถอด เรตติ้งก็ยังไม่ตก สรยุทธจึงยังทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อไปได้ เมื่อรวมถึงข้อมูลที่ช่อง3ออกมาเปิดเผยว่าไม่มีการถอนสปอนเซอร์ ก็ทำให้การตัดสินขั้นสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนในสังคม
  

“คนดู ถ้าคนดูยังดูต่อไป เรตติ้งก็ปกติ ทำอะไรไม่ได้เลย สังคมก็ไม่มีมาตรฐานทางด้านจริยธรรมแล้ว”
 
กรณีของสังคมที่ขาดมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น เขาวิเคราะห์ว่า กรณีนี้ความสำเร็จของรายการ และการทำให้ประชาชนชื่นชอบจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าจริยธรรม ผลต่อมาอาจไม่หยุดเพียงแค่สื่อมวลชน แต่อาจรวมไปถึงการตัดสินใจกรณีอื่นๆของสังคมอย่างการเลือกพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาลด้วย
 

“เราจะมีการใช้มาตรฐานนี้กับหลายๆเรื่องในสังคม เพราะสังคมไม่สนใจเรื่องของจริยธรรมอีกต่อไปแล้ว คนทำผิดไม่ต้องถูกลงโทษใดๆจากสังคม ขอเพียงเป็นที่ชื่นชอบ เป็นที่รักของสังคม ทำให้ประชาชนชื่นชอบได้ก็เพียงพอแล้ว จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุจริตอย่างเดียว อาจรวมไปถึงเรื่องเลวร้ายทุกเรื่องที่เป็นไปได้”
 

นอกจากนี้การที่สรยุทธเป็นบุคคลที่ถือว่าเป็นแบบอย่างคนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชน ดร.เสรีวิเคราะห์ว่า กรณีนี้การที่สรยุทธตัวประสบสำเร็จได้ด้วยวิถีทางแบบนี้ในสังคม ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนรายอื่นๆ ที่จะยึดไปปฏิบัติตาม
 

เมื่อมองไปในอนาคต ดร.เสรีเห็นว่า เมื่อกระแสสังคมไม่มีอะไรเคลื่อนไหว ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้อาจจะต้องรอถึงกระบวนการศาลตัดสิน ซึ่งอาจกินเวลาไปถึง 10 ปีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อถึงเวลานั้นแล้วถ้าสังคมยังเห็นดีเห็นงามด้วย จริยธรรมในสังคมก็คงล้มสลายไปแล้ว
 

อย่างไรก็ตาม กระแสของเรื่องเงียบไปนี้อาจบอกเป็นนัยได้ว่าสรยุทธจะลอยนวลไปอีกนาน ทว่าการออกมาประกาศจุดยืนของช่อง3 ดร.เสรีก็มองว่า อาจเป็นการกระตุ้นให้ภาคส่วนอื่นเริ่มเคลื่อนไหวเช่นกัน
 

“ทุกวันนี้คนที่ออกมาวิจารณ์สรยุทธถือว่าเสี่ยงมาก เสี่ยงกับคนที่เป็นแฟนสรยุทธจะไม่พอใจ มาด่าคนที่เขารักทำไม ซึ่งถ้าคนเราเอาความรักความชอบ ไม่พิจารณาความดีความชั่ว จริยธรรม บ้านเมืองก็ไปไม่รอด ตอนนี้คนรักสรยุทธปิดตา 2 ข้างของตัวเองไว้ และโจมตีคนที่มาวิพากษ์วิจารณ์สรยุทธว่า ออกมาเพราะอิจฉา มองเรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนบุคคลโดยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของจริยธรรม”
 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสังคมรับได้กับการโกงซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากเอแบคโพลล์ที่บอกว่า ประชาชนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มีแนวโน้มที่จะรับได้กับรัฐบาลที่ทุจริตหากตัวเองได้รับผลประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ดร.เสรีเผยว่า ช่วงเวลานี้ก็เป้นช่วงเวลาสำคัญซึ่งจะทดสอบสังคมว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
“สื่อเริ่มทำสกรู๊ป โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ครูบาอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ควรออกมาทำอะไรกันบ้าง ขณะเดียวกันคนดูสำคัญที่สุด คนดูควรจะต้องตัดสินใจได้แล้วว่าจากสถานการณ์ที่รับรู้ คนดูคิดว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ถ้าคิดว่าเขาไม่ผิดก็ดูต่อไป แต่ถ้าเขาผิดก็ควรจะหยุดดูเพื่อให้เรตติ้งเขาตกลงมา มันกลายเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการที่ผู้บริหารช่อง3จะนำไปตัดสิน”




ความยุติธรรมมาช้า
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การกระทำผิดดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน ก็มาจากกระบวนการยุติธรรมของไทยที่กินเวลายาวนานในการดำเนินคดีกว่าจะถึงที่สุด รศ. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านคอร์รัปชัน เผยว่าโดยทั่วไปแล้วการดำเนินคดีที่ยาวนานเป็นข้ออ้างที่นักการเมืองมักนำมาใช้แก้ตัวเมื่อถูกตรวจสอบพบว่ากระทำความผิด
 

“แต่ปัญหาของเราคือกระบวนการศาลมันใช้เวลานาน กว่าจะรู้ว่าผิดก็อีกเป็นปี ผิดแล้วก็สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้อีก รวมๆ แล้วก็อาจจะอีกหลายปีกว่าจะรู้กัน โดยทั่วไปนักการเมืองก็จะใช้วิธีแบบนี้ รอให้ศาลตัดสินใจ แต่ตัวเองก็ทำหน้าที่บุคคลสาธารณะต่อไปก่อน สิ่งที่สรยุทธทำเป็นวิธีคิดเดียวกับนักการเมือง นักการเมืองก็เป็นต้นแบบให้ประชาชนดู
 

ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องมีนโยบายปฏิรูปเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกรณีของสรยุทธนั้นหากให้มาตรฐานเดียวกับนักการเมืองซึ่งถือว่าการดำรงตำแหน่งต่อเป็นเรื่องผิด การที่สรยุทธยังดำรงตนเป็นบุคคลสาธารณะต่อไปก็ถือว่าไม่ชอบธรรมเช่นกัน
“ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดชอบต่อสังคม เราเป็นบุคคลสาธารณะไม่ควรจะใช้วิธีแบบนักการเมือง ซึ่งเป็นต้นแบบที่ไม่ดี และเป็นสื่อมวลชนมันต้องสามารถตรวจสอบได้ทุกปัญหา เวลานี้สรยุทธก็ไม่กล้าตรวจสอบแล้ว พูดได้แต่เรื่องอื่น ก็ไม่เหมาะจะมาเป็นคนที่ทำหน้าที่นี้ในสังคม มันส่งผลต่อกระบวนการทำงานของเขา เขาไม่สามารถจะพูดปัญหาสำคัญๆ ของประเทศได้ เช่นเรื่องการทุจริต เขาก็พูดไม่ได้ เพราะถ้าพูดมันก็เข้าตัวเอง”
 

ในเรื่องของยุติธรรมอาจจะเทียบได้กับตาชั่ง ซึ่งหลายคนในสังคมก็ชั่งน้ำหนักความดีของสรยุทธในบทบาทของการเป็นนักเคลื่อนไหวทางด้านสังคมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือช่วยเหลือชาวบ้านในหลายๆกรณี กับกรณีความผิดที่เขาทำ ชั่งน้ำหนักให้ชดเชยกันไป หรือความดีอาจมีน้ำหนักมากกว่า ทว่าในมุมมองของรศ.ดร.สังศิต เห็นว่า สังคมต้องแยกสิ่งดีที่เขาทำ ออกจากความผิดที่เขาได้ก่อขึ้น
 

“มันคนละประเด็นกันครับ ช่วยเหลือสังคมก็เป็นสิ่งดี เป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องที่เขาทำทุจริตก็ต้องแยกกัน เหมือนโจรไปตักบาตรพระ เรื่องทำบุญก็เป็นเรื่องดีแต่เงินที่ไปซื้อของใส่บาตรพระกลับไปปล้นมา มันก็ต้องแยกกัน ตำรวจก็จับโจรเพราะไปปล้นเงินมา ส่วนเรื่องที่โจรทำบุญตักบาตรก็เป็นเรื่องดีของตัวโจรคนนั้น คนก็ชื่นชมว่าใจบุญ แต่ต้องแยกกันการกระทำ 2 อย่างออกจากกัน”
 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการคอร์รัปชันทิ้งท้ายถึงอนาคตไว้ว่า หากสังคมยังไม่มีความเคลื่อนไหว หรือสรยุทธสามารถลอยนวลจากเรื่องนี้ไปได้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความอ่อนแอทางด้านจริยธรรมของสังคมไทย เขาเผยอีกว่า ในสังคมแบบนี้การคอรัปชั่นจะเติบโตง่าย คนทุจริตจะไม่มีหวาดกลัว

“เพราะทำแล้วโอกาสจะรอดมันสูงกว่า โอกาสที่จะถูกลงโทษมันน้อย คนจะกล้าที่จะทุจริตกันมากขึ้น กรณีนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าการทุจริตในเมืองไทยโอกาสที่จะลงโทษมันยาก

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


ฉัตรชัย เทียมทอง
ดร.เสรี วงษ์มณฑา
รส. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์
กำลังโหลดความคิดเห็น