xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” ชี้ “สรยุทธ” ทำวิชาชีพสื่อเสื่อมเสีย แนะลาออก-หนุน ปชช.บอยคอต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล (ภาพจากเฟซบุ๊ก Somkiat Onwimon)
“ดร.สมเกียรติ” แนะนักเล่าข่าวชื่อดังลาออก รักษาเกียรติตัวเอง หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด อมค่าโฆษณา อสมท 138 ล้าน ทำผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเสื่อมเสีย พร้อมหนุนสาธารณชนบอยคอต เจ้าของสินค้างดลงโฆษณา ชี้ รายการเล่าข่าว แค่บันเทิงเอามัน เป็นอันตรายต่อการให้ความจริง

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการและสื่อมวลชนอาวุโส กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด และให้ดำเนินคดีอาญา บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดังทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 รวมทั้งกรรมการบริษัท และเจ้าหน้าที่บริษัท ฐานยักยอกเงินโฆษณาช่อง 9 อสมท ทำให้ อสมท ได้รับความเสียหายถึง 138 ล้านบาท

เนื้อหาสำคัญของการให้สัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กรณีที่ นายสรยุทธ โดนมติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนั้น โดนในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ เจ้าของบริษัท และเป็นผู้ประกอบอาชีพสื่อสารมวลชนด้วย ฉะนั้น การทุจริตของบริษัทของเขา กับช่องทีวีของรัฐ และตัวเขาจึงเป็นเรื่องเดียวกันไม่ต้องแยก รวมๆ แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นการทุจริตทั้งนั้น

“ฉะนั้น ถ้าพูดว่าทุจริตแล้วก็ไม่ต้องไปพูดถึงหลักจรรยาบรรณสื่ออะไร เนื่องจากการทุจริตมันผิดกฎหมาย ช่องของรัฐก็ต้องดำเนินการต่อไป เพราะ ป.ป.ช.ก็ทำหน้าที่ให้แล้ว แต่ถ้ามองในฐานะเขาที่เป็นสื่อ ประกอบอาชีพสื่อสารมวลชน รายการที่เขาทำตอนอยู่ช่องดังกล่าว ถามว่าเขาได้ประกอบกิจการที่เป็นการทุจริตหรือไม่ ก็ไม่มี เพราะว่าเขาก็ไม่ได้สื่อสารเรื่องราวที่เป็นการรับเงิน หรือว่า ไม่ได้ปกปิดความจริง บิดเบือนความจริง หรือสอดแทรกข่าวผสมโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ความจริงให้กับประชาชน”

ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า เรื่องจรรยาบรรณทุกอาชีพ เป็นเรื่องของจิตสำนึก ไม่ใช่กฎหมาย แต่ว่ากฎหมายจะลงโทษกิจกรรมที่ทำทุจริต ประพฤติมิชอบ ส่วนจรรยาบรรณเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ต้องคิดเอาเอง ตัวเขาเอง ก็ต้องคิดเองว่าควรจะออกจากกิจกรรมที่ควรทำอยู่ พูดง่ายๆ โดยหลักแล้ว “เขาต้องลาออก เพราะว่ามันทำให้ผู้ประกอบอาชีพสื่อสารมวลชนเสื่อมเสีย” แม้ว่าตัวเองจะทำเรื่องธุรกิจเสื่อมเสียก็ตาม โดยจรรยาบรรณควรลาออก แต่ไม่มีใครบังคับได้ แม้แต่สภาวิชาชีพก็ทำไม่ได้ มติชนก็ยังดื้อเลย

กรณีนี้เจ้าตัวต้องตัดสินเอง เพื่อยังไว้ซึ่งเกียรติของตัวเอง และวิชาชีพที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสในสังคมเป็นทางออกแรก ทางต่อมาสาธารณชน ประชาชนอย่างเราๆ ที่รับข้อมูลข่าวสารของเขาในฐานะสื่อต้องไม่รับ ปิดโทรทัศน์ไม่ดู และกล่าวประณามประกาศให้ทราบทั่วถึงกันว่าไม่ดู ไม่รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่มีกิจการทุจริต หรืออาจจะรวมตัวกันว่าไม่รับเขา และที่สำคัญโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ไม่ต้องลงโฆษณากับเขา แป๊บเดียวเขาก็ต้องหยุดอยู่ดี เพราะว่าไม่มีโฆษณา และไม่มีคนดู

ส่วนของสถานีโทรทัศน์ ต้องเริ่มจากบริษัทต้นสังกัดปัจจุบันก่อน เพราะว่าเขาเป็นรับจ้างทำรายการให้ ต้นสังกัดปัจจุบันต้องตัดสินใจว่าจะเอารายการที่สังคมปฏิเสธเอาไว้ทำไม ควรจะปฏิเสธไม่เอาเขา และรายการของเขาเลย ทำก่อนสาธารณชนจะปฏิเสธ หรือบอยคอต เพราะถ้าประชาชนบอยคอต โฆษณาบอยคอต มันก็จบหมดแล้ว เขาก็ไม่ต้องตัดสินใจ ต้นสังกัดปัจจุบันก็ไม่ต้องตัดสินใจอะไร เพราะประชาชนเขาตัดสินให้แล้ว ฉะนั้น วิธีที่ฉลาด ก็คือ การใช้จรรยาบรรณวิชาชีพโดยส่วนตัวที่มีจิตสำนึกตัดสินไปก่อน เจ้าตัวตัดสินใจลาออกไปก็จบ ไม่ต้องเว้นวรรคแล้ว ลาออกไปเผชิญคดีเอา

ต่อข้อถามที่ว่า หากไม่มีการแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใด เนื้อหาที่เขาสื่อสารนับจากนี้ ประชาชนจะเชื่อถือได้หรือไม่ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จริงๆ เนื้อหารายการเขาไม่น่าเชื่ออยู่แล้ว มันไม่เกี่ยวกับทุจริตหรือว่าพฤติกรรมอะไร รายการเขาเป็นข่าวเชิงบันเทิง รายการเอามันๆ เพลินๆ ข้อเท็จจริงผิดถูก เขาก็ไม่ยืนยัน เขาจะรายงานตามที่มีความรู้สึกที่จำได้ เชื่อว่า หรือยังไง เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่า หรือว่าถ้าทำไม่ผิด หรืออย่างไร เดี๋ยวเราต้องตามดูต่อไป เขาก็ว่ากลอนสดไปเรื่อยๆ กับข้อมูลที่จำได้ แล้วก็มีผู้สื่อข่าวรายงานมาบ้าง อ่านจากหนังสือพิมพ์บ้าง มันจึงไม่ใช่รายการข่าวสารที่น่าเชื่อถือได้ตั้งแต่ต้น ถ้าคนดูเอามันก็ว่าไปเถอะ ไม่ควรต้องดูในแต่ละวัน เพราะว่าเนื้อมันน้อยน้ำมันมาก ความรู้สึกความไม่มั่นใจในความถูกต้องจะเกิดตลอดเวลา

“ทุกๆ ครั้งเราได้ยินว่า ถ้าผมจำไม่ผิด หรือถ้ารายงานไปเรื่อยเป็นตุเป็นตะ สุดท้ายก็จบว่าหรืออย่างไร มันสะท้อนให้รู้ว่าเขาไม่รู้จริง ซึ่งเป็นอันตรายในแง่ของการให้ความจริง ดูเอาก็ได้เพลินๆ มีดาราตลกออกมาร้องเพลงบ้างก็ได้” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ถามว่า เรียกเขาว่าสื่อมวลชนได้ไหม ได้ เพราะว่าเขาทำหน้าที่สื่อข้อมูลข่าวสารไปยังมวลชน แต่ว่าเป็นสื่อมวลชนที่ไม่ได้มีองค์กรที่นำเสนอ หรือตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการแสดงเดียวของเขาจากข้อมูลที่เขามี หรือว่าจำได้ หรือว่าเท่าที่ไปเห็น สมมติเดินทางไปซอยที่น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว เท่าที่เห็นก็คือซ้ายขวา เล่าให้ฟัง ส่วนในบ้านหลังบ้าน ถ้าไม่เข้าไปก็ไม่เห็น แล้วก็ใช้อารมณ์และความรู้สึกนำ ฉะนั้น ข้อมูลที่เราได้รับจากเขา ก็มีจริงบ้างไม่จริงบ้าง มันก็เพลินไป ไม่ใช่รายการข่าวอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น