สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้ เยาวชนไทยถูกล่อลวงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้นตามเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน กูรูไอทีแยกหมวด “แอปสุ่มเสี่ยงต่อเยาวชน” ผู้ปกครองควรสอดส่องดูแลอุปกรณ์ไอทีของบุตรหลาน เตือนแท็บเล็ตแจกนักเรียนควบคุมแอปยาก ดร.เสรีห่วงเยาวชนเสพเทคโนโลยีผิดทาง แนะผู้ปกครองดูแล ใกล้ชิด ด้าน กสทช. ระบุไทยไม่มีหน่วยงานกรอง “แอป” โดยตรง ซ้ำอาชญากรสบช่องใช้ “Wifi-App” ดูดข้อมูลลูกค้าธนาคาร
ต้องยอมรับว่าผู้คิดสมาร์ทโฟนขึ้นมาได้นั้นหัวใสจริงๆ! เพราะนับตั้งแต่สมาร์ทโฟนถือกำเนิด วิถีชีวิตมนุษย์เมืองก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ตื่นเช้าขึ้นมาทุกคนจะรีบคว้าสมาร์ทโฟนดูความเคลื่อนไหวในโซเชียลเน็ตเวิร์กก่อน และส่งข้อความทักทายชาวโลกเล็กน้อย จากนั้นก็อาบน้ำแต่งตัวออกมารับประทานอาหารเช้าพร้อมเช็ก Feedly ข่าวสารการเมืองเด่นๆ ประจำวัน ก่อนที่จะขับรถฝ่าการจราจรติดขัดไปทำงาน
เมื่อยามรถติดยังฉวยแท็บเล็ตขึ้นมาดูทีวีเรียลไทม์ช่องโปรดตลอดทาง เมื่อไม่มีอะไรจะดูก็เปลี่ยนไปดูหนังช่อง HBO สลับกับเช็กนัดหมายประชุมประจำวันในแอปพลิเคชันเตือนการนัดหมายที่ส่งเอกสารสำคัญไปถึงผู้ร่วมประชุมล่วงหน้าอย่างถูกต้องตรงเวลา
เพราะแอปพลิเคชันซึ่งเปรียบเสมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บนระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ถูกพัฒนาไว้รองรับวิถีชีวิตทันสมัยแล้วนับแสนๆ แอป! และไม่มีทางหยุดเพียงแค่นี้ แอปพลิเคชันใหม่ๆ ยังถูกพัฒนาออกมาเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ไขว่คว้าความสะดวก ง่าย ไว คอนโทรลได้จากฝ่ามือ
ทว่า สิ่งใดก็ตามที่มีคุณอนันต์ มักแฝงด้วยโทษอันมหันต์ หากต้องการเลือกรับแต่คุณประโยชน์ก็ต้องศึกษาให้รู้เท่าทัน รู้จักเลือกรับและปฏิเสธ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างสบายใจและไม่ถูกหลอก
เพราะภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตกำลังก้าวตามมาทันเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสะดวกขึ้นแล้ว!
“หมอแอร์” เตือนเด็กหญิงชายถูกละเมิดมากขึ้น
พันตำรวจโทแพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เผยว่า แต่ละเดือนศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลตำรวจได้รับเคสเด็ก เยาวชน และสตรีที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกทารุณกรรมทำร้ายร่างกายเดือนละ 100-120 ราย โดยในจำนวนนี้มีเคสที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลเน็ตเวิร์กประมาณ 10 ราย และเชื่อว่ายังมีที่ไม่ได้รับรายงานอีกหลายราย
“ภัยต่างๆ ที่แอบแฝงมากับเทคโนโลยีสมัยใหม่มีเยอะขึ้น ทั้งการต้มตุ๋นหลอกลวงและล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่ถูกหลอกนัดพบไปล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้มีโอกาสติดโรค และตั้งครรภ์ขึ้นมา ซึ่งหมอทำงานตรงนี้ก็มีเรื่องร้องเรียนแจ้งความแทบทุกวัน สมัยก่อนการล่อลวงอาจมาเฉพาะทางโทรศัพท์บ้าน สุ่มเบอร์โทร.มาเราก็รับ แต่เดี๋ยวนี้มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีสมาร์ทโฟน บางทีคนไปรู้จักกันผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Line ก็สร้างความสนิทสนมกันและนัดเจอกันได้ง่าย สถิติการถูกล่วงละเมิดจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่เฉพาะแต่เด็กผู้หญิงเท่านั้น เด็กผู้ชายก็โดนล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน”
กูรูไอทีแบ่งกลุ่ม “แอปสุ่มเสี่ยง”
ด้าน นายเอกพล ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สไมล์ อินเทอร์แอคทีฟ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้าน Mobile Solution, Internet Solution และ New Media ระบุว่า แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเริ่มบูมในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกเป็นแอปพลิเคชันมาตรฐานที่บริษัทแอปเปิลทำออกมา เช่น Map, Youtube หรือโปรแกรมที่มีมากับตัวเครื่อง นอกจากนั้นทางแอปเปิลยังเปิดให้ผู้พัฒนาโปรแกรมเข้าไปศึกษาโค้ดและพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนเครือข่ายมากขึ้น จนปัจจุบันมีมากกว่าแสนแอปแล้ว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน 2-3 กลุ่มหลัก คือ แอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการไอโอเอส ของแอปเปิล, ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการค่ายอื่นๆ เช่น ไมโครซอฟท์, โนเกีย ซึ่งการควบคุมมีเพียงในระดับพื้นฐาน เช่น แอปเปิลจะควบคุมโดยมีทีมตรวจสอบแอปพลิเคชัน ส่วนแอนดรอยด์จะเป็นระบบเปิดให้ผู้พัฒนาสามารถผลิตแอปพลิเคชันได้อย่างอิสระโดยไม่ค่อยมีการตรวจสอบ การควบคุมจึงเป็นไปได้ยาก
“โดยปกติโครงสร้างของการทำแอปไม่ได้แตกต่างกันมาก เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์กก็ไม่แตกต่างกันในเชิงคอนเซ็ปต์ คือ หาเพื่อนคุย แต่เมื่อมีการพัฒนาขยับไปเรื่อยๆ และมีมากขึ้นๆ ผู้พัฒนาก็พยายามที่จะคิดให้เป็นแอปเฉพาะทางมากขึ้น แนวโน้มที่เกิดขึ้นจึงเหมือนโปรแกรมแชตสมัยก่อนคือ แรกๆ คุยกันธรรมดา ไปๆ มาๆ เริ่มเป็นช่องทางของการหาคู่ นัดเดต และมีการหลอกลวงกัน หรือค้าประเวณีบนอินเทอร์เน็ต”
สำหรับแอปพลิเคชันที่จัดอยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยงต่อเยาวชน เอกพลได้จัดหมวดหมู่คร่าวๆ ไว้ดังนี้
1. แอปพลิเคชันประเภทแชต หาคู่ นัดเดต ปัจจุบันมี 2-3 แอปที่มีผู้นิยมใช้จำนวนมาก อาทิ twoo, Skout และ WhosHere ซึ่งมีคอนเซ็ปต์คล้ายกันคือ ให้คนโหลดแอปมาไว้ในเครื่อง และแอปเหล่านี้จะเข้าไปค้นหาเพื่อนในคอนแทกต์ลิสต์ที่ใช้แอปตัวเดียวกัน ซึ่งถ้าเพื่อนในคอนแทกต์ลิสต์มีแอปตัวนี้จะสามารถคุยกันได้ทันที นอกจากนั้นแอปบางตัวยังสามารถส่งอีเมลออกไปชวนเพื่อนมาใช้อีกด้วย
“อีกฟีเจอร์หนึ่งที่ทั้ง 3 แอปมีคล้ายกันคือ การแนะนำเพื่อน โดยตอนสมัครแอปจะถามว่าเราเป็นใคร อายุเท่าไร การศึกษาขนาดไหน ต้องการเจอใคร ชอบไม่ชอบอะไร และระบบจะค้นหาคนที่มีความสนใจคล้ายกันให้ นอกจากนั้นแอปบางตัวยังสามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน และรอบๆ มีใครอยู่บ้าง โดยจับจาก GPS ของเครื่อง หรือจับจากสัญญาณ Wifi ทำให้คนมีโอกาสเจอกันง่ายขึ้น”
2. แอปพลิเคชันประเภทการพนัน เช่น โป๊กเกอร์บนไอโฟน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกม แต่สามารถใช้เงินจริงไปซื้อชิปได้ เพียงแค่เสิร์ชคำว่า “โป๊กเกอร์” ก็จะพบแอปพลิเคชันประเภทนี้ได้อย่างง่ายดาย และมีจำนวนมาก
3. แอปพลิเคชันประเภทเซ็กซ์, ยั่วยุอารมณ์เพศ ทั้งภาพโป๊โจ๋งครึ่ม ข้อมูลเรื่องการเสพสม ไปจนถึงการแฝงมากับแมกกาซีนออนไลน์ โดยเฉพาะแมกกาซีนที่เป็นการ์ตูนติดเรตของญี่ปุ่นก็เริ่มมีเข้ามาในบ้านเราแล้ว ซึ่งแมกกาซีนเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น จากสมัยก่อนที่อยู่บนแผงหนังสือ คนยังมีความอายที่จะซื้อบ้าง แต่เมื่อแปลงมาอยู่ในรูปแบบของแอปแล้ว คนสามารถค้นหาได้อย่างง่ายดายขณะนั่งอยู่คนเดียวในห้อง โดยแอปขายหนังสือนี้จะมีหนังสือหลายประเภทให้เลือกเหมือนไปเลือกจากแผงหนังสือจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนมาอยู่บนระบบดิจิตอลเท่านั้น
4. แอปพลิเคชันประเภทเกมที่มีความรุนแรง ซึ่งแอปเกมเป็นแอปที่คนนิยมดาวน์โหลดมากที่สุด แม้ว่าเกมรุนแรงจะมีอยู่ในเว็บไซต์ หรือบนเพลย์สเตชันอยู่แล้ว แต่พอแปลงร่างมาเป็นแอปพลิเคชัน ก็ทำให้เด็กเข้าถึงง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่คู่กับโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ทำให้เด็กสามารถชวนเพื่อนมาเล่นกันได้ทีละเป็นร้อยเป็นพันคน
ดังนั้น ผู้ปกครองควรคอยดูแลสอดส่องเยาวชนว่า เขาทำอะไรอยู่ ในเครื่องแท็บเล็ตมีแอปอะไรอยู่บ้าง แต่ควรตรวจสอบอยู่ห่างๆ และไม่ควรห้าม เพราะยิ่งห้ามเด็กจะยิ่งหลบ นอกจากนั้นประเทศไทยควรมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีอำนาจในการระงับได้ เพราะปัจจุบันไม่เห็นองค์กรที่มีบทบาทและอำนาจที่ชัดเจนในการควบคุมเทคโนโลยี หรือคนที่มีหน้าที่ตรวจสอบอาจจะใช้อำนาจไม่เต็มที่ หรือไม่ทันการพัฒนาของเทคโนโลยีก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันที่มีประโยชน์ยังมีให้เลือกใช้อีกมากมาย เช่น แอปเพื่อการศึกษา แอปทางการแพทย์ หรือแอปประเภทข่าวสารในวงการข่าวหนังสือพิมพ์ หรือข่าวทีวีก็มีออกมาให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก
เตือนแท็บเล็ตแจกนักเรียนคุมแอปเสี่ยงยาก
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการไอทีอีกรายหนึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมแอปพลิเคชันในเครื่องแท็บเล็ตที่แจกเด็กนักเรียนว่า เด็กที่ได้รับแจกเป็นเพียงเด็กชั้นประถม 1 ซึ่งถือเป็นเด็กเล็กมาก หากได้รับแท็บเล็ตที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งไม่ค่อยมีระบบตรวจสอบกลั่นกรองแอปพลิเคชัน ก็อาจจะทำให้เด็กเล็กสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สุ่มเสี่ยงได้ง่าย
เพราะถึงแม้ที่โรงเรียนจะไม่ให้นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อกับแท็บเล็ต แต่หากนักเรียนกลับมาใช้แท็บเล็ตที่บ้าน ก็มีโอกาสใช้ต่ออินเทอร์เน็ตในบ้านเพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้เองได้ เพราะการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแม้ว่าขณะลงแอปบางตัวจะต้องระบุอายุ แต่ไม่สามารถตรวจสอบอายุที่แท้จริงได้ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นช่องว่างที่ไม่มีใครให้การรับรองได้ว่า การใช้แท็บเล็ตของเด็กเล็กซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผู้ปกครองของเด็ก ป.1 ควรระมัดระวังป้องกันในเรื่องนี้ด้วย
อันตราย! เสพ “App” ผิดทาง
สอดคล้องกับ รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ซึ่งแสดงความคิดเห็นต่อเทคโนโลยีที่เรียกว่า แอปพลิเคชัน บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ในกรณีที่ไม่มีการควบคุม หรือผู้ใช้ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอว่า จะกลายเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดอันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีแอปพลิเคชันเกิดขึ้นมากมาย มีทั้งที่เป็นบวก และเป็นลบ ดังนั้น ผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันควรมีวุฒิภาวะ หรืออายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีวุฒิภาวะในการแยกแยะ และรู้จักเลือกใช้มากขึ้นว่าเมื่อเสพแล้วควรจะเสพเพื่อเรียนรู้ หรือเลียนแบบ
ดังนั้น หากเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ แยกแยะไม่ได้ จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอันตราย เพราะ 1. เยาวชนจะเลือกเสพอะไรที่ค่อนข้างสนุก โดยไม่คิดว่าผลเสียคืออะไร 2. เยาวชนจะแยกไม่ออกว่า สิ่งไหนควรจะเรียนรู้ หรือสิ่งไหนควรเลียนแบบ ซึ่งหากไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี ก็จะมีแนวโน้มในด้านที่จะเลียนแบบมากกว่าเรียนรู้ และจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นได้ เกิดทัศนคติที่ผิดๆ เกิดพฤติกรรมทางสังคมที่ผิด เป็นต้น เนื่องจากแอปพลิเคชันในปัจจุบันส่อเค้า 1. รุนแรง 2. เรื่องเพศ 3. เรื่องที่เป็นกบฏสังคม หลายอันเชิญชวนให้ต่อต้านสังคม ชิงชังสิ่งที่มีอยู่
ในส่วนของการดูแลเยาวชนในการใช้เทคโนโลยีที่ใกล้ตัวมากขึ้น อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตนั้น สิ่งสำคัญคือการดูแลของผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องเรียนรู้เทคโนโลยีพวกนี้ว่า สิ่งที่ลูกใช้หรือเสพนั้นบรรจุข้อมูลอะไรไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่อยู่ในระบบปฏิบัติการไหน อาทิ ไอโอเอส, แอนดรอยด์ ฯลฯ และควรเอาใจใส่ หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเสพเทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสอนให้ลูกรู้จักที่จะเลือกเป็น ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี ให้แยกแยะให้ได้ และอย่าปล่อยให้ลูกคุยแต่กับเพื่อนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การจัดการกับแอปพลิเคชันที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบันควรทำใน 2 ด้าน ทั้งในส่วนของกฎหมาย และการรณรงค์ควบคู่กันไป ซึ่งมองว่าในแง่ของกฎหมายยังตามเรื่องเหล่านี้ไม่ทัน ดังนั้น การรณรงค์ทั้งในด้านสาธารณะ ในครอบครัว และในโรงเรียน จะมีบทบาทในการให้ความรู้แก่เยาวชน ทั้งนี้ หากเยาวชนใช้แอปพลิเคชันไม่เป็น และผู้ใหญ่ก็ตามไม่ทันจะเกิดผลในแง่ลบขึ้นได้ ลักษณะจะคล้ายการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตแบบผิดๆ อาทิ ล่อลวงไปทำมิดีมิร้าย เป็นต้น
ชี้ไทยไม่มีหน่วยงานกรอง “App” โดยตรง
อย่างไรก็ดี นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงเรื่องการดูแล คัดกรอง และผลกระทบที่เกิดจากคอนเทนต์ในแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตว่า ยังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบโดยตรง ต้องดูเป็นกรณีไป หากเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงไอซีที (ICT) เช่น เรื่องโป๊ เปลือย
ส่วนกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโอเปอเรเตอร์ อาทิ ดีแทค, ทรู, เอไอเอส จะเป็นความรับผิดชอบของ กสทช. ในการจัดการ ขณะที่หากเกี่ยวข้องกับการพนันจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น หรือในบางกรณีก็เป็นเหตุการณ์คาบเกี่ยวระหว่างหลายหน่วยงาน เช่น ระหว่างกระทรวงไอซีที กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีอยู่มาก
การที่ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงนั้น เป็นเพราะแต่ละหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่เฉพาะ จำกัด หากเข้าไปก้าวก่ายนอกอำนาจหน้าที่ก็จะถือเป็นความผิด ซึ่งมองว่าในอนาคตจะต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่ออุดรอยต่อในเรื่องนี้ แต่ขณะนี้มองว่าหน่วยงานราชการยังไม่ไหวตัวด้วยซ้ำกับกรณีของแอปพลิเคชัน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะต้องพบเหตุการณ์ก่อนจึงจะเข้าไปแก้ไข ซึ่งปกติแล้วเจ้าทุกข์ หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจะดำเนินการโดยการแจ้งตำรวจท้องถิ่น จากนั้นตำรวจจะพิจารณาว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็จะส่งไปยังกระทรวงไอซีที แต่การแจ้งตำรวจท้องถิ่นก็อาจใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากตำรวจก็ต้องคิดว่าจะขอเอกสารจากหน่วยงานไหน แต่หากแจ้งไปที่ตำรวจคอมพิวเตอร์โดยตรงอาจมีความชำนาญมากกว่า
“ในส่วนของ กสทช.หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี เสร็จ ก็จะมาดูเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากเปิดใช้ 3จี ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ราคาค่าบริการ ผลกระทบทางสังคม ฯลฯ”
อาชญากรสบช่องใช้ “Wifi-App” ดูดข้อมูลเพียบ! ธนาคารอ่วม!
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี เครือข่ายคลื่นความถี่ ที่ให้บริการ Wifi, 3จี รวมถึงในส่วนของแอปพลิเคชัน ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ กลายเป็นช่องทางของอาชญากรในการใช้ดูดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ใช้ที่ไม่ชอบออกจากระบบหลังเข้าใช้เว็บไซต์ เช่น มิจฉาชีพจะนำข้อมูลด้านธนาคารไปใช้ โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็เกิดความเสียหายไปแล้ว
รูปแบบของการใช้คลื่นความถี่ที่ให้บริการ Wifi, 3จี, แอปพลิเคชัน มาทำอาชญากรรมนั้น พบว่า อาชญากรจะเลียนแบบชื่อ Wifi ของโอเปอเรเตอร์ เช่น ดีแทค, ทรู, เอไอเอส และเปิดให้ใช้ฟรีตามสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคหลงคิดว่าเป็นบริการของโอเปอเรเตอร์ที่ตนใช้บริการอยู่ แล้วเข้าไปลงทะเบียนเพื่อใช้ Wifi นั้น ก็จะทำให้ข้อมูลที่อยู่ในเครื่องของผู้ใช้ถูกดูดไปอยู่ในมือของอาชญากร ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกพาสเวิร์ดธนาคาร เลขที่บัญชีเงินฝาก หรือกรณีเข้าไปทำธุรกรรมทางธนาคารผ่านสมาร์ทโฟนก็จะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นไม่ปลอดภัยต่อไป อีกส่วนคือ อาชญากรจะสร้างแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี แต่แท้จริงแล้วเป็นโปรแกรมที่ทำไว้ดูดข้อมูล อีกทั้งยังมีในรูปแบบของไวรัส
สำหรับภัยคุกคามที่มาพร้อมกับ “แอปพลิเคชัน” ยุคใหม่ ทีม Special Scoop จะเจาะลึกรายละเอียด วิธีการ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชัน รวมถึงข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวง มานำเสนอในตอนต่อไป ให้ผู้สนใจได้ติดตามอ่านเพื่อรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยจะเจาะลึกประสบการณ์ผู้ใช้แอปนัดเดตชื่อดังที่ใช้หาคู่ได้ในทุก 5 กิโลเมตรทั่วโลก และแอปอาชญากรล้วงข้อมูลผู้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนในตอนต่อไป