xs
xsm
sm
md
lg

ขนกระสอบทราย5ล้านใบ-ใช้เขตทหารทำแก้มลิงรับ"แกมี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ระดมรับมืออิทธิพล“แกมี” ระทึก 7-8 ต.ค.นี้ ทบ.สั่ง 11หน่วยทหารทำแก้มลิงรับน้ำ ทะลักกรุง ป้องเขต บางเขน-ดุสิต-พญาไทย ด้านหลายหน่วยระดมกำลังคุมพื้นที่เสี่ยง กทม. เตรียมกระสอบทราย 5 ล้านใบ

วานนี้ (4 ต.ค.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวภายหลังหารือการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อนแกมีที่จะเข้าประเทศไทยช่วงวันที่ 5-8 ตุลาคมนี้ว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและจัดทำแผนตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.2550 ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา และกทม.บังคับใช้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยมีเป้าหมายทำให้พื้นที่เสี่ยงมีความปลอดภัย

ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์เผชิญเหตุประจำพื้นที่เสี่ยงภัย” มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดมหาดไทย เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทำแผนในการรับมือ

ทั้งนี้มีการเฝ้าระวังภัยในช่วงที่พายุแกมีที่จะเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคกลางของประเทศไทยอาจส่งผลให้มีฝนตกหนาแน่นเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีษะเกษ นครราชสีมา เฝ้าระวังการเกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน ส่วนในจังหวัดนครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด เฝ้าระวังอาจมีน้ำท่วมขัง
นายปลอดประสพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ตนและคณะทำงาน กบอ.ทั้งหมดนอนค้างคืนอยู่ที่ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ทำเนียบรัฐบาล 3 วัน 3 คืน

นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ขณะนี้พายุโซนร้อนแกมีได้พัฒนาความรุนแรงขึ้นมีความเร็วรอบรอบศูนย์กลาง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เพิ่มความรุนแรงเป็น 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการเคลื่อนที่มาทางด้านทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าพายุโซนร้อนแกมีจะเคลื่อนขึ้นฝั่งเข้าสู่ประเทศเวียดนามในวันที่ 6 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านทางประเทศกัมพูชาและลาว ก็จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ต่อด้วยภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในวันที่ 7-8 ต.ค.

หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวออกจากประเทศไทยเข้าสู่อ่าวมะตะบัน ประเทศพม่า โดยผลกระทบจากพายุนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.นี้เป็นต้นไป บางพื้นที่ใน 30 จังหวัดภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากและจะมีลมแรงที่เกิดจากพายุฝนทำให้เกิดลมพัดแรงอีกด้วย ส่วนทางภาคใต้ในฝั่งตะวันตก อันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นลมแรงคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

**ทบ.สั่ง 11หน่วยทหารทำแก้มลิง

ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมที่มีพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมเป็นประธานว่า รมว.กลาโหมได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงในการองรับน้ำจากพื้นที่ท่วมขัง โดยเฉพาะเส้นทางหลัก เช่น ถ.วิภาวดีรังสิตตลอดทั้งสาย และถ.พหลโยธิน โดยได้มีการแบ่งการจัดการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.การพร่องน้ำในหน่วย ซึ่งจะทำให้น้ำในหน่วยทั้งหมด 11หน่วยในพื้นที่ 3เขตได้แก่ เขตบางเขน เขตดุสิตและเขตพญาไท ให้น้ำที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละหน่วยให้น้อยที่สุด โดยจะทำการเปิดประตูระบายน้ำของหน่วยให้ระบายออกมาตามการระบายน้ำของกทม. หากมีฝนตกลงมาและมีน้ำท่วมขังในบริเวณดังกล่าว หน่วยทหารทั้ง 11หน่วย ได้แก่ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์(ป.1 รอ.)

กรมการสื่อสารทหารบก (สส.)หน่วยข่าวกรองทางทหารกองทัพบก(ขกท.) กองพันที่ 3 กรมทหาราบที่1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ (ร.1 พัน3 รอ.) กรมสรรพาวุธทหารบก (สพ.ทบ.) มณฑลทหารบกที่ 11 (มฑบ.11) กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก (วศ.ทบ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ) กรมทหาราบที่ 1มหาดเล็ก รักษาพระองค์ (ร.1 รอ) และกรมทหารราบที่ 11รักษาพระองค์ (ร.11 รอ) ก็จะเปิดประตูระบายน้ำรับน้ำเข้ามายังพื้นที่แก้มลิงที่มีการปฏิบัติและเตรียมการไว้ หลังจากนั้นหากกลับคืนสู่สภาวะปกติก็จะระบายน้ำออกจากหน่วยตามการระบายน้ำของแต่ละเขต

พ.อ.ธนาธิป กล่าวต่อว่า หากมีเหตุที่ฝนตกลงมาอย่างหนักไม่สามารถที่จะระบายได้ก็จะปล่อยน้ำจากร.1 รอ. ผ่านไปยังพล.ม.2 ซึ่งตรงนั้นก็จะมีแก้มลิงสำรองไว้อีกจุด

หลังจากนั้นจะปล่อยน้ำเข้าคลองบางซื่อ สำหรับพื้นที่ทั้งหมด 11หน่วยมี 2หน่วยที่สามารถรองรับน้ำได้ 271,945 ลูกบาศก์เมตร สำหรับภาพใหญ่ของคณะกรรมการกบอ. โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพได้จัดเจ้าหน้าที่ 4 นาย เข้าร่วมสังเกตการณ์กับเจ้าหน้าที่กบอ.และชี้แจงการทำงานภาพรวมของกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนของกองทัพเรือจะมีเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ของกองทัพเรือเข้าชี้แจง

**หลายกระทรวงเร่งรับมือแกมี

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม เพื่อกำหนดแผนเผชิญเหตุ โดยการจัดเวรยามให้ชัดเจน โดยเตรียมแรงงานผู้ต้องขังให้พร้อมเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นนักโทษชั้นดีจำนวน 1,000 คน ออกลอกท่อ และเตรียมพร้อมทำงานบรรจุกระสอบทรายเพื่อวางแนวคันกั้นน้ำ

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมการรับมืออย่างใกล้ชิด และส่งเจ้าหน้าที่ดูรอบแนวเขื่อนตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ กนอ.ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อรายงานสถานการณ์น้ำในแต่ละนิคมฯในการประเมินรับภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยตั้งอยู่ที่กนอ.สำนักงานใหญ่ ซึ่งสามารถสอบถามได้ที่โทร. 02-6516335

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 30 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง และจันทบุรี เป็นต้น

โดยแบ่งกลุ่ม 30 จังหวัดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเสี่ยงสูง มี 6 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา จันทบุรี และตราด มีโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกน้ำท่วมสูง 4 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี 2.รพ.มหาราชนครราชสีมา 3.รพ.ปักธงชัย และ4.รพ.สต.ลาดยาว จ.นครราชสีมา ที่อาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งขณะนี้ ทุกแห่งได้เตรียมการป้องกันสถานพยาบาลไว้แล้ว 2.กลุ่มเฝ้าระวัง มีทั้งหมด 24 จังหวัด ได้เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ได้ส่งยาชุดน้ำท่วมและยาตำราหลวงแก่จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 218,500 ชุด และเตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันโรค

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมแล้ว 10 ราย จากการจมน้ำและ ถูกไฟฟ้าช็อต

**กทม. เตรียมกระสอบทราย 5 ล้านใบ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลัง เดินทางลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองศรีสำราญ บริเวณเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ถนนเพชรเกษม 81 เขตหนองแขม และตรวจการขุดลอกท่อระบายน้ำ บริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดฝนตกหนักฉุกเฉิน พบว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้สั่งการไปยังสำนักการระบายน้ำ ให้นำเจ้าหน้าที่มาทำการขุดลอกท่อระบายน้ำเพื่อ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าการระบายน้ำจะทำได้อย่างมี ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ทำการตรวจดูในว่ามีการเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้เพียงพอหรือไม่ เพราะ หากเกิดเหตุฉุกเฉินฝนตกหนักและน้ำไม่สามารถระบายลงท่อได้ทัน ก็จะนำเครื่องสูบน้ำไปช่วยสูบลงคลองทวี วัฒนา

นายอดิศักดิ์ ขันตี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า สำนักการระบายน้ำได้เตรียมความพร้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ 1.เร่งพร่องน้ำในคลองทั้งหมดให้แห้งมากที่สุด เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกในช่วงนั้น 2.เตรียมเครื่องสูบน้ำในเขตต่างๆ เน้นจุดอ่อนที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก 3.เตรียมหน่วยเบสท์ทั้ง 95 หน่วยเพื่อเตรียมลงพื้นที่ทันทีกรณีเกิดเหตุน้ำท่วม 4.ประสานข้อมูลกับกรมชลประทานและกรมอุตุนิยมวิทยาด้าน โดยเฉพาะกรมชลประทานช่วยพร่องน้ำในเขตพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพฯทั้งหมดให้มีระดับน้ำต่ำมากที่สุด 5.เตรียมกระสอบทราย 5 ล้านใบกรณีฉุกเฉินนอกจากนี้ วันที่ 6 ต.ค. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะเดินทางมาประชุมเตรียมความพร้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น