xs
xsm
sm
md
lg

สภากลาโหมใช้ 11 หน่วยทหารรับมือพายุเข้ากรุง “บิ๊กโอ๋” แนะกองทัพเคลียร์นาซากำลังพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
โฆษกกลาโหมเผยที่ประชุมสภากลาโหมรับมือพายุ “แกมี” ใช้ 11 หน่วยพร่องน้ำ 3 เขต จัดเจ้าหน้าที่ช่วยจราจร ชี้ถ้าฝนตกไม่เกิน 60 มม.ก็รับมือได้ ระบุ “สุกำพล” ถกบิ๊กท็อปบูตยันจีนไม่กังวลนาซาใช้อู่ตะเภา แนะบอกกำลังพลให้เข้าใจตรงกัน บอก กอ.รมน.แย้มปี 56 แก้ใต้เชิงรุก

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ทางกระทรวงกลาโหมได้สรุปสถานการณ์น้ำที่เกิดเหตุอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 10-30 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางกระทรวงกลาโหมได้มีการปฏิบัติงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย และเหล่าทัพ ซึ่งมีการจัดกำลังพลลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งสิ้น 2,738 นาย รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ 238 คัน นอกจากนี้ยังมีเรือท้องแบนรวมทั้งสิ้น 48 ลำ โดยมีการสร้างกล่องเกเบียน เปิดถนน ทำสะพานไม้ชั่วคราว และซ่อมแซมแนวคันดิน ซึ่งที่ประชุมยังได้มีความเป็นห่วงเรื่องพายุแกมี โดยทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 5-9 ต.ค.นั้น รมว.กลาโหมได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงในการรองรับน้ำจากพื้นที่ท่วมขัง โดยเฉพาะเส้นทางหลัก เช่น ถ.วิภาวดีรังสิตตลอดทั้งสาย และ ถ.พหลโยธิน

พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า ได้มีการแบ่งการจัดการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การพร่องน้ำในหน่วย ซึ่งจะทำให้น้ำในหน่วยทั้งหมด 11 หน่วยในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตบางเขน เขตดุสิต และเขตพญาไท ให้น้ำที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละหน่วยให้น้อยที่สุด โดยจะทำการเปิดประตูระบายน้ำของหน่วยให้ระบายออกมาตามการระบายน้ำของ กทม. หากมีฝนตกลงมาและมีน้ำท่วมขังในบริเวณดังกล่าว หน่วยทหารทั้ง 11 หน่วย ได้แก่ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1 รอ.) กรมการสื่อสารทหารบก (สส.) หน่วยข่าวกรองทางทหารกองทัพบก (ขกท.) กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ (ร.1 พัน.3 รอ.) กรมสรรพาวุธทหารบก (สพ.ทบ.) มณฑลทหารบกที่ 11 (มฑบ.11) กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก (วศ.ทบ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ก็จะเปิดประตูระบายน้ำรับน้ำเข้ามายังพื้นที่แก้มลิงที่มีการปฏิบัติและเตรียมการไว้ หลังจากนั้นหากกลับคืนสู่สภาวะปกติก็จะระบายน้ำออกจากหน่วยตามการระบายน้ำของแต่ละเขต

พ.อ.ธนาธิปกล่าวต่อว่า หากมีเหตุที่ฝนตกลงมาอย่างหนักไม่สามารถที่จะระบายได้ก็จะปล่อยน้ำจาก ร.1 รอ. ผ่านไปยัง พล.ม.2 ซึ่งตรงนั้นก็จะมีแก้มลิงสำรองไว้อีกจุด หลังจากนั้นจะปล่อยน้ำเข้าคลองบางซื่อ สำหรับพื้นที่ทั้งหมด 11 หน่วยมี 2 หน่วยที่สามารถรองรับน้ำได้ 271,945 ลูกบาศก์เมตร สำหรับภาพใหญ่ของคณะกรรมการ กบอ. โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพได้จัดเจ้าหน้าที่ 4 นายเข้าร่วมสังเกตการณ์กับเจ้าหน้าที่ กบอ.และชี้แจงการทำงานภาพรวมของกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนของกองทัพเรือจะมีเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ของกองทัพเรือเข้าชี้แจง

เมื่อถามว่า ได้กำหนดไว้หรือไม่ว่าฝนจะตกลงมาจำนวนเท่าใดจึงจะสามารถรองรับปริมาณได้ พ.อ.ธนาธิปกล่าว่า ในเบื้องต้นหากฝนตกลงมาไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงก็จะใช้เวลาประมาณ 3 ชม.จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าตกมากกว่านี้เราก็พยายามที่จะระบายออกมาให้มากที่สุด ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก็อาจจะมีบน ถ.วิภาวดีรังสิตที่น้ำท่วมขังมากที่สุด ทั้งนี้ การแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบโดยใช้พื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำที่ระบายออกจากพื้นผิวถนน ส่วนพื้นที่ ร.11 รอ.จะเป็นพื้นที่แบ่งเบาน้ำบน ถ.พหลโยธิน ในส่วนของน้ำที่ระบายได้ช้าบนถนนก็จะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร

เมื่อถามว่า ในส่วนนี้ทางทหารได้ประสานกับ กทม.หรือไม่ว่าจะสามารถพร่องน้ำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ กทม.ก็ยังมีปัญหาเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า เราได้ประสานกับทางกทม.ในการพร่องน้ำอยู่แล้ว และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะอุโมงค์ระบายทางห้วยขวางและอนุสาวรีชัยสมรภูมิเป็นอุโมงค์ที่ใหญ่มาก ขณะนี้ก็มีการติดต่อเพื่อพร่องน้ำอยู่ตลอด

“ขอยืนยันว่าหากฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงก็น่าที่จะรับมือได้ แต่หากตกลงมาเกิน 100 มิลลิเมตรขอให้ประชาชนใจเย็นและช่วยกัน เพราะทางเจ้าหน้าที่ก็จะเร่งระบายน้ำออก ที่ผ่านมาที่มีน้ำท่วมขัง เพราะเรายังได้มีการจัดการที่ดี ในหน่วยต่างๆ ก็ยังไม่ได้พร่องน้ำ จึงไม่สามารถระบายน้ำได้ เพราะการจะเปิดน้ำออกต้องเปิดจากที่หน่วยและประสานกับทาง กทม. ไม่ได้ไหลได้เองโดยอัตโนมัติ” พ.อ.ธนาธิปกล่าว

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมสภากลาโหม พล.อ.อ.สุกำพลได้คุยก่อนการเข้าวาระการประชุมสภากลาโหม กับ ผบ.เหล่าทัพ ถึงกรณีที่นาซาจะขอใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาในการสำรวจชั้นบรรยากาศถึงข้อมูลการดำเนินการต่างๆ ว่านาซาจะดำเนินการอย่างไร และทางประเทศจีนก็ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรเลย เพราะที่ผ่านมานาซาก็ได้ไปดำเนินการโครงการเช่นนี้ในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง คอสตาริกา ทั้งนี้ ทางกองทัพอากาศเองก็มีความพร้อมในการตรวจสอบเกี่ยวกับเครื่องบินที่เข้ามา ส่วนกองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร.ก็ยืนยันแล้วว่าสามารถรักษาความปลอดภัยในพื้นที่บริเวณนั้นได้ ทั้งนี้ เราสามารถส่งนักวิทยาศาสตร์ขึ้นไปร่วมการสำรวจกับนาซาได้ด้วย และที่สำคัญการดำเนินการครั้งนี้เราสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด โดยไม่มีอาวุธเข้ามา

“พล.อ.อ.สุกำพลอยากให้ ผบ.เหล่าทัพ รวมถึงกำลังพลมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องข้อมูล เหตุผล รวมถึงข้อเท็จจริง ที่จะเปิดให้นาซามาใช้สนามบินอู่ตะเภา โดยยืนยันว่าทางสหรัฐอเมริกายินดีพร้อมให้ไทยตรวจสอบทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินการ สำหรับกองทัพก็ยืนยันว่าสามารถดูแลในเรื่องของความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศชาติได้” พ.อ.ธนาธิปกล่าว

พ.อ.ธนาธิปยังกล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลสถานการณ์ภาคใต้นั้น ในที่ประชุมสภากลาโหม โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ชี้แจงถึงทิศทางการปฏิบัติงานปี 2556 ว่าจะเน้นงานเชิงรุก จะมีการประสานงานด้านการข่าว การปิดล้อม ตรวจค้นให้มากขึ้น รวมถึงเปิดช่องทางพูดคุยตามมาตรา 21 ทั้งนี้ จะดูเรื่องความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น รับทราบปัญหาต่างๆ สำหรับงานทางด้านความมั่นคงนั้นสามารถทำงานได้ชัดเจนขึ้นเพราะจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน และพลทหารที่ปลดประจำการเข้าบรรจุเป็นตำรวจ จำนวน 5,000 นายเพื่อเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ คาดว่าเดือนเมษายน 2556 จะเรียบร้อย ส่วนกรณีที่ผู้ก่อความไม่สงบออกมาข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาค้าขายในวันศุกร์นั้น ทางหลักศาสนาอิสลามได้มีการกำหนดเวลา 12.15-13.15 นาฬิกาจะเป็นช่วงเวลาละหมาด หลังจากนั้นก็เป็นไปตามความต้องการหรืองานของแต่ละคนที่ต้องปฏิบัติ ไม่มีการระบุว่าจะต้องให้หยุดงานแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น