xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ค้อนปลอม” ผู้กล้าเปลี่ยนรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ที่แล้ว กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำคณะสื่อมวลชนและคนใกล้ชิด เดินทางไปดูงานรัฐสภาในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ตามโครงการดูงานรัฐสภา สื่อและวิชาการ ระหว่าง 19-28 ก.ย.2555 โดยใช้งบว่า 7 ล้านบาทของปี 2555 จนถูกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรเตรียมนำเรื่องเข้าพิจารณาหลังจากคณะของนายสมศักดิ์เดินทางกลับมาแล้ว

แถมยังปรากฏว่ามีคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร อีกหลายคณะที่เตรียมเดินทางไปดูงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงต้นเดือนตุลาคมเพื่อใช้งบประมาณให้หมด

ถามกันมาหลายคนว่า คณะที่เดินทางไป นอกจากใช้เงินหลวงแล้ว เขาแบ่งสันปันส่วนกันยังไง ก็เลยไปเอาตัวอย่างของคณะกรรมการธิการที่จะเดินทางไปต่างประเทศมาให้ดู แต่บางคณะอาจจะใช้มากกว่าตัวเองนี้

ตามระเบียบเดิมสมัย “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อกำหนดที่เรียกว่า “แนวทางการปฏิบัติในการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร” 11 ข้อ โดยลงนามเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2543 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2543 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อ 5 ระบุว่า "การเดินทางไปดูงาน ณ ต่างประเทศ ของคณะกรรมาธิการคณะหนึ่ง แต่ละครั้ง ต้องประกอบด้วย กรรมาธิการในคณะกรรมาธิการคณะนั้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดในคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่เกิน 2 คน ที่ปรึกษาอื่นจำนวนไม่เกิน 5 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการนั้นจำนวนไม่เกิน 3 คน และเจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการจำนวนไม่เกิน 2 คน

ที่ปรึกษาอื่นที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่ง จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง"

โดยกำหนดเบี้ยเลี้ยงของคณะฯที่เดินทางไปต่างประเทศ ว่า “คณะกรรมการธิการ” ส่วนใหญ่ก็จะเป้น ส.ส. จะมีค่าเบี้ยเลี้ยงคนละ 9,300 บาท ค่าที่พักคนละ 30,000 บาท

ส่วนข้าราชการรัฐสภา อาจะมี ผู้ชำนาญการประจำกมธ. เจ้าหน้าที่รัฐสภาฯ จะมีมีเบี้ยเลี้ยงคนละ 6,300 บาท ค่าที่พัก 15,750 บาท

มีการระบุถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ 1.ค่ารับรอง 2.ค่าพาหนะในต่างประเทศ 3.ค่าของขวัญกรณีพบผ็นำประเทศ หรือท่านผู้มีอุปการคุณต่าง ๆในสถานที่นั้น 4.ค่าล่าม 5.ค่าธรรมเนียมการจัดทำหนังสือเดินทาง 6.ค่าเครื่องแต่งตัว

จับตาดูว่า คณะกรรมาธิการกิจกการสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพือ่ไทย เป็นประธาน จะเรียกนายสมศักดิ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามเรื่องนี้อย่างไร!

ส่วนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็เตรียมเชิญผู้ที่มีชื่อมาเป็นสื่อมวลชนที่เดินทางไปครั้งนี้มาสอบถามกันถ้วนหน้า แว่วว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะเรียกประชุมกรรมการฯนัดพิเศษ หลังจากมีการออกแถลงการณ์และให้กรรมการไปหาข้อมูลมาประกอบ จะมีการสอบสวนออกมาเช่นใด

อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ไม่มีทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธานในการประชุม แต่มีการเห็นชอบเรื่องเพื่อทราบ เรื่อง “ร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....”

ที่ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดให้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและกำหนด
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ไว้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือโดยประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5)

2. กำหนดให้กรรมการได้รับเบี้ยประชุมรายเดือน สำหรับกรรมการในคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ไว้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติงานในด้านการกำหนดนโยบายอันมีผลกระทบต่อการบริหาร เศรษฐกิจ หรือสังคมในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ ตามรายชื่อคณะกรรมการและอัตราเบี้ยประชุมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 (1))

ร่างฉบับนี้มีการแก้ไขโดย จะให้ประธานกรรมการฯ ได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ 7,500 บาท กรรมการได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ 6,000 บาท

ส่วนคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้ประธานอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ 3,750 บาท อนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ 3,000 บาท

จากเดิมตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ แลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 ดังนี้

“ประธานกรรมการ” จะได้รับเบี้ยประชุม จำนวน 1,500 บาท “กรรมการในคณะกรรมการ” จะได้ 1,200 บาท “เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการ” จะได้ 1,200 บาท

“ประธานอนุกรรมการ” จะได้รับเบี้ยประชุม 1,000 บาท “อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการ” จะได้800 บาท “เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการ” จะได้ 800 บาท

ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เบี้ยประชุม เป็นเงินค่าตอบแทนเพิ่มที่บุคคลได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่พิเศษ นอกจากงานประจำที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่พิเศษนั้นเป็นการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติตามแต่บทบาทหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับการแต่งตั้งตามบัญญัติแห่งกฎหมาย จะโดยตำแหน่งบทบาทหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติของสมาชิกรัฐสภาในฐานะกรรมาธิการ หรือโดยตำแหน่งหน้าที่บุคลากรภาครัฐหรือภาคเอกชน หรือ ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วย เลขานุการ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แล้วแต่กรณี ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน หรือรายครั้ง และอัตราเบี้ยประชุมจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ตามแต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งนั้น เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่เป็นการเฉพาะแล้วแต่กรณี

หรืออย่าง เมื่อเร็วๆนี้ ก็มีการปรับเบี้ยประชุมของสมาชิกรัฐสภา

จากเดิมอัตราการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมของสมาชิกรัฐสภาในฐานะกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการ กรรมาธิการ จะได้ 1,000 บาท อนุกรรมาธิการ จะได้ 500 บาท ต่อครั้ง!

โดย “ค้อนปลอมตราดูไบ” นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้ลงนามในระเบียบรัฐสภาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2555 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยอัตราเบี้ยประชุมของกรรมการข้าราชการรัฐสภา มีรายละเอียดดังนี้ ประธานกรรมการ ได้รับอัตราเบี้ยประชุม 20,000 บาท/เดือน, รองประธานกรรมการ 18,000 บาท/เดือน, กรรมการ 16,000 บาท/เดือน

ส่วนประธานอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา ได้รับอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน 7,500 บาท/เดือน และเบี้ยประชุมรายครั้ง 3,750 บาท/ครั้ง อนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา อัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน 6,000 บาท/เดือน และเบี้ยประชุมรายครั้ง 3,000 บาท/ครั้ง ส่วนเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง 1,800 บาท/ครั้ง

ขณะที่ มีการกำหนดบัญชีอัตราเบี้ยประชุมของกรรมการข้าราชการรัฐสภา ไว้ดังนี้ ประธานกรรมการ ได้รับอัตราเบี้ยประชุม 10,000 บาท/เดือน, รองประธานกรรมการ 9,000 บาท/เดือน, กรรมการ 8,000 บาท/เดือน ส่วนประธานอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา ได้รับอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน 5,000บาท/เดือน และเบี้ยประชุมรายครั้ง 2,500 บาท/ครั้ง อนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา อัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน 4,000 บาท/เดือน และเบี้ยประชุมรายครั้ง 2,000 บาท/ครั้ง ส่วนเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง 1,200 บาท/ครั้ง

เมื่อเปรียบเทียบบัญชีอัตราดอกเบี้ยของกรรมการข้าราชการรัฐสภาดังกล่าว จะพบว่าอัตราล่าสุดคือเมื่อพฤษภาคม 2555 กับอัตราก่อนหน้านี้คือพฤศจิกายน 2554 มีการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ทั้งประธานกรรมการ, รองประธานกรรมการ, กรรมการ เช่น ประธานกรรมการจากเดิมได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน ก็เป็น 2 หมื่นบาทต่อเดือน หรือกรรมการจากเดิมได้ 8 พันบาทต่อเดือน ก็เป็น 16,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม พบว่าในระเบียบรัฐสภาว่าด้วยเบี้ยประชุม ฉบับแก้ไขเดือนพฤษภาคม 2555 ได้ตัดอัตราเบี้ยประชุมรายครั้งออกไป จากเดิมประธานกรรมการได้ 2,000 บาท/ครั้ง, รองประธานกรรมการได้ 1,800 บาท/ครั้ง, กรรมการได้ 1,600 บาท/ครั้ง, เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการได้ 1,200 บาท/ครั้ง, ประธานอนุกรรมการได้ 1,500 บาท/ครั้ง, รองประธานอนุกรรมการได้ 1,350 บาท/ครั้ง, อนุกรรมการได้ 1,200 บาท/ครั้ง, เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการได่ 1,000 บาท/ครั้ง

จะเห็นได้ว่า ท่านประธานสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เข้ามาเปลี่ยนแปลงในสภาผู้แทนราษฎรไทยมากจริงๆ.



กำลังโหลดความคิดเห็น