xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

GE ทิ้งหุ้นแบงก์กรุงศรีฯ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของ ”รัตนรักษ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-GE Capital Intrenational Holding Corporation หรือกลุ่มจีอีได้แจ้งต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ว่ากลุ่มจีอี ได้จัดให้มีการขายหุ้นประมาณ 7.6% ของหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ผ่านการขายในตลาดหลักทรัพย์แบบเจาะจง โดยมี Morgan Stanley เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งนี้ กลุ่มจีอีแจ้งว่า จะไม่ทำการขายหุ้นของธนาคารเพิ่มเติมภายในระยะเวลา 180 วัน เว้นแต่จะเป็นการขายหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดที่กลุ่มจีอีถืออยู่ตามกลยุทธ์ของกลุ่มจีอี หรือตามแต่ที่กลุ่มจีอีจะได้ตกลงกับ Morgan Stanley

BAY ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2555 ที่ผ่านมา ว่าหลักทรัพย์ของ BAY มีการซื้อขายบิ๊กล็อต จำนวน 27 รายการ คิดเป็นจำนวน 207.56 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 31.20 บาท รวมมูลค่า 6,476.90 พันล้านบาท และมีบิ๊กล็อตกระดานต่างประเทศอีก 9 รายการ จำนวน 315.85 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 31.29 บาทต่อหุ้น มูลค่า 9,884.44 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 523.41 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 16,361.34 ล้านบาท ทำให้เวลานี้ จีอี แคปิตอล ยังเหลือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาประมาณ 25.3% จากสัดส่วนการถือครอง BAY ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน

สำหรับเหตุผลที่ทำให้จีอี แคปิตอล กิจการด้านการเงินของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ได้ขายหุ้นดังกล่าวออกไปราว 1 ใน 4 ของที่ตนเองถือครองอยู่ก็ เพื่อเปิดทางให้แก่การปล่อยขายหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในอนาคต ทั้งนี้ตามแผนการในระดับทั่วโลกของบริษัทแม่ ซึ่งมุ่งลดปริมาณสินทรัพย์ที่มิใช่ธุรกิจหลักลงมา

ยิ่งกว่านั้นการลงทุนเป็นเวลา 5 ปีของกลุ่มจีอีในธนาคารที่มีกำไรมากที่สุดในไทยเวลานี้ ก็ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าตัวแล้ว

นัยสำคัญของการการขายหุ้นให้เหลือน้อยลงมาเช่นนี้ เป็นการเปิดทางให้กลุ่มจีอีสามารถถอยออกมาจากธนาคารแห่งนี้ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้กลุ่มจีอีมีความยืดหยุ่นที่จะขายหุ้นที่ยังเหลืออยู่ให้แก่ผู้ซื้อเชิงยุทธศาสตร์รายใดรายหนึ่ง ผู้ซึ่งยินดีที่จะมีฐานะเป็นเจ้าของหุ้นส่วนข้างน้อยใน BAY โดย จีอีตกลงที่จะไม่ขายหุ้น BAY ในตลาดเพิ่มเติมอีกในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ไป แต่ยังสามารถที่จะปล่อยขายหุ้นอีก 25.3% ที่เหลืออยู่ให้แก่ผู้ซื้อรายใดรายหนึ่งที่ถือเป็นผู้ซื้อเชิงยุทธศาสตร์

หมายความว่า จีอี แคปิตอล สามารถปล่อยขายออกไปทั้งหมดแก่ผู้ที่สนใจ โดยผู้สนใจซื้อรายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเสนอขอซื้อหุ้น BAY เป็นการทั่วไป (general offer) รวมทั้งในกรณีที่ผู้สนใจซื้อเป็นธนาคารต่างประเทศ ก็จะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสียก่อนด้วย

ทั้งนี้ จีอีได้ตกลงเข้าซื้อหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2007 ในราคาหุ้นละประมาณ 16 บาท โดยเบื้องต้นเจรจาซื้อในสัดส่วน 25 % และมาเจรจาซื้อหุ้นเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนที่ 33 % รวมแล้วได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 22,300 ล้านบาท เมื่อคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม การขายหุ้น BAY ได้ในราคา 31.30 บาทต่อหุ้นนับว่ามีส่วนต่างอยู่จำนวนมาก จากเดิมที่ซื้อหุ้นมาในราคา 16 บาทต่อหุ้น หมายความว่าการลงทุนของจีอีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 2 เท่าตัวทีเดียว และหากจะมีการคำนวณกันให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ต้นทุนของจีอีที่ซื้อหุ้นกรุงศรีอยุธยาจริงๆแล้ว ไม่ถึงราคา 16 บาทต่อหุ้น เพราะได้มีการรับเงินปันผลจากธนาคารไปมากกว่า 4 รอบ โดยการเข้าไปลงทุนของ จีอี ถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งในตอนนั้นยังคงมีฐานะเงินทุนไม่เพียงพอภายหลังจากเผชิญวิกฤตการเงินเอเชีย ซึ่งจีอี ได้มีบทบาททำให้ BAY หันมาโฟกัสเรื่องการปล่อยกู้แก่ผู้บริโภค เพราะมีความเชี่ยวชาญพร้อมทั้งความพร้อมต่างๆจากบริษัทแม่เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจของBAY

อย่างไรก็ตามการขายหุ้นครั้งนี้ของจีอีในราคา 31.20 บาทต่อหุ้น และพร้อมประกาศยืนยันที่จะขายหุ้นในส่วนที่เหลือให้กับนักลงทุนกลุ่มใหม่ในราคาไม่ต่ำกว่า 31.20 บาทต่อหุ้น ผลดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้กับนักลงทุนรายย่อยเชื่อมั่นมากนัก โดยการขายหุ้น BAY ออกมาอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนรายย่อยส่งผลให้ราคาหุ้น BAY ลดต่ำลง ฉุดให้ราคาหุ้นตัวอื่นๆและดัชนีรวมของ ตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมาลดต่ำลงตามมาด้วย

นั่นแสดงให้ เห็นถึงว่านักลงทุนรายย่อยไม่มีความมั่นใจในกลุ่มนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาถือหุ้นในBAY

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการมองหาโอกาสทางธุรกิจของสถาบันการเงินในเอเชียซึ่งไม่ถูกกระทบจากวิกฤตการเงิน แต่สถาบันการเงินที่อยู่ในสหรัฐฯ และยุโรปค่อนข้างจะลำบากเพราะนอกจากเจอกับวิกฤตแล้วยังต้องเจอกับเกณฑ์กำกับที่เข้มงวดเช่นเกณฑ์บาเซิล 3 ซึ่งทำให้ต้องมีการขายสินทรัพย์ที่ไปลงทุนในต่างประเทศออกไป

“ตอนนี้ก็ถือเป็นโอกาสของกลุ่มทุนต่างชาติในการมองหาโอกาสลงทุน ไม่ว่าสถาบันการเงินเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ส่วนไทยจะเปิดรับการลงทุนใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ ต้องรอในช่วงแผนมาสเตอร์แพลน 3 โดยหลังจากเปิดเสรีเออีซีจะมีธนาคารในอาเซียนเข้ามาในไทยอีกหรือไม่ คงชัดขึ้นหลังปีหน้า เพราะตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่ของอาเซียนก็อยู่ในไทยแล้วไม่ว่าจะเป็นดีบีเอส ยูโอบีของสิงคโปร์ รวมถึงเมย์แบงก์ และซีไอเอ็มบีจากมาเลเซีย” นายประสารแจกแจง

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน วิเคราะห์ว่า การที่จีอีได้ทำการขายหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวนกว่า 7 % ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า จีอีต้องการที่จะขายหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาออกทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 33%กว่า เนื่องจากโครงสร้างของการขายหุ้นดังกล่าวเป็นการกระจายขายออกล่วงหน้า ซึ่งอาจจะเป็นการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรรายใหญ่ที่ต้องการจะซื้อหุ้นธนาคารกรุงศรีฯสำเร็จแล้วกว่า 80 % คาดว่ากลุ่มใหม่อาจจะเป็นนักลงทุนจากต่างชาติ จึงมีการขายกระจายขายหุ้นออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อให้เหลือได้ไม่เกิน 25 % เพราะตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49 % และเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)นักลงทุนที่ถือหุ้นเกิน 25 % จะต้องคำเสนอรับซื้อหุ้นเป็นการทั่วไป(Tender offer )

การทยอยกระจายหุ้นดังกล่าว อาจจะเปิดทางให้กลุ่มใหม่ที่เป็นต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เพราะหากมีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ กลุ่มใหม่จะต้องรับซื้อหุ้นทั่วไป ซึ่งหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยากระจายอยู่ในกลุ่มรายย่อยจำนวนมาก หากมีการขายให้กับกลุ่มใหม่ทั้งหมด เกรงว่าจะเกินสัดส่วน 49 % ซึ่งต้องผิดเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีการทยอยกระจายขายหุ้นเพื่อเปิดทางดังกล่าว

กระนั้นก็ดีสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปก็คือ การเจรจาขายหุ้นธนาคารให้กลุ่มนักลงทุนรายใหม่ของจีอีนั้น ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมคือ “รัตนรักษ์”ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่เริ่มต้น และปัจจุบันยังคงเหลือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 25 %และหากรวมกับพันธมิตรอาจจะมีสัดส่วนของหุ้นมากกว่า 1 ใน 3 ดังนั้นจึงมีบทบาทและมีอำนาจในการต่อรองหรือเสียงโหวตหากมีการประชุมผู้ถือหุ้น

การเจรจาของนักลงทุนทั้งจีอีและกลุ่มใหม่ จะต้องให้ความสำคัญและมองข้ามกลุ่มรัตนรักษ์เลย เพราะจำนวนหุ้นที่ถืออยู่นับว่าจะมีผลกับการโหวตในทุกๆเรื่อง ดังนั้นต้องมีการเจรจาหรือได้รับการสนับสนุนกับรัตนรักษ์ก่อนเพื่อความคล่องตัวในการเข้ามาถือหุ้นและการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ากลุ่มรัตนรักษ์จะยังไม่น่าที่จะขายหุ้นออกในช่วงนี้ คงสัดส่วนการถือหุ้นเดิมไว้ก่อน

อนึ่งกระแสข่าวของนักลงทุนกลุ่มใหม่ที่สนใจจะซื้อหุ้นต่อจากจีอี คือ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (เอเอ็นแซด) มาลายัน แบงกกิ้ง (เมย์แบงก์) และซีไอเอ็มบี โดยกลุ่มดังกล่าสวอยู่ในพวกผู้สนใจที่กลุ่มจีอีติดต่อเสนอขาย หลังจากที่จีอีว่าจ้าง มอร์แกน สแตนลีย์ ให้ทำการศึกษาทบทวนว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นใน BAY 32.9% ซึ่งกลุ่มนี้ถือครองอยู่

หมายเหตุ : ตอนนี้ 'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็นกันได้ที่ http://www.facebook.com/#!/Astvmanagerweekend

กำลังโหลดความคิดเห็น