xs
xsm
sm
md
lg

เปิดภารกิจด่วนMDบสก.ใหม่ เน้นเติบโตสินทรัพย์-กำไร รับแปรรูป-ดึงสถาบันการเงินถือหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฤษณ์ เสสะเวช
เปิดภารกิจด่วน "กฤษณ์ เสสะเวช" กรรมการผู้จัดการใหญ่บสก. เน้นหนักสร้างการเติบโตของสินทรัพย์และกำไร วางเป้า 10-15% รองรับแผนการแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ ตอบโจทย์ให้นักลงทุนเชื่อมั่นในบสก. ลั่นเป้าหมายเรียกเก็บปีนี้ ตามเป้า 12,000 ล้านบาท แจงแผนกระจายหุ้น เล็งหาพันธมิตรสถาบันการเงินเข้าถือหุ้น เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการหนี้เสีย-เอ็นพีเอ รองรับแหล่งเงินกู้ มีความแน่นอนในการบริหารจัดการ

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด หรือ บสก. กล่าวถึงนโยบายในการบริหารบสก.ว่า ภารกิจหลักที่จะให้ความสำคัญอย่างมาก ได้แก่ การสร้างความเติบโตของสินทรัพย์และผลกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 10-15 % โดยในปีนี้บริษัทมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ทั้งสินทรัพย์รอการขาย(NPA)และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ราว 12,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรตามเป้าหมายที่ 3,300 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีกำไร 2,900 ล้านบาท โดย ณ เดือน ส.ค.55 บริษัทสามารถทำกำไรแล้ว 2,696 ล้านบาท และตัวเลขล่าสุด ณ กลางเดือนก.ย.มีรายได้จากการเรียกเก็บแล้ว 10,573 ล้านบาท

" ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตนพึ่งเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ 24 วัน ซึ่งสิ่งที่เรามองต่อบสก.นั้น ต้องยอมรับว่า บสก.เป็นรัฐวิสาหกิจ เราทำอะไรได้ไม่มาก และสิ่งที่เร่าห่วงและอยากเห็นก็คือ เรื่องของการเติบโตที่ยั่งยืน เนื่องจากตามแผน บสก.ต้องแปรรูปบริษัทและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นั้นหมายความว่า นักลงทุนจะมองเรื่องการเติบโตทั้งในด้านขนาดของสินทรัพย์ และผลตอบแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราก็มีการเติบโตตลอดทุกปี ทั้งนี้ เป้าหมายของบสก.ก็คือ การเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่อง NPL และ NPA ในระบบ ดังนั้น การบริหารจัดการก็น่าจะโอนมาทางบสก."นายกฤษณ์ กล่าว

สำหรับพอร์ตสินทรัพย์ในขณะนี้เป็น NPL ทั้งเงินต้นและสิทธิเรียกร้องราว 3.3 แสนล้านบาท รวมส่วนที่เป็นหนี้จากการรับซื้อมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) ขณะที่ NPA ตามราคาประเมินอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท โดยมีจำนวนลูกหนี้ประมาณ 45,000 ราย โดยทรัพย์ส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นที่ดินเปล่า โดยเฉพาะที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมา บสก.ประสบความสำเร็จในโครงการที่ดินทำกิน และเป็นจุดขายที่ช่วยให้การขายที่ดินเปล่ามีความคล่องตัว ซึ่งทางบสก.จะใช้โครงการดังกล่าวเป็นจุดขายต่อไป

บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้ NPL จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ( ธอส. ) รวมกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปได้ภายในปลายปีนี้ โดยหนี้ของธนาคารกรุงศรีฯ เป็นสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( SME) ส่วนของธอส.จะเป็นสินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่จะหาสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความพร้อมของบสก.ในการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมร่างหลักเกณฑ์(TOR) เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน(FA) คาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการทั้งหมดราว 14 เดือนและจะสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างเร็วที่สุดช่วงไตรมาส 4 ของปี 2556
" ตอนนี้คืบหน้าไปมากแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดหาที่ปรึกษา ขณะนี้ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาแล้วจะเรียกประชุมกันในวันที่ 1 ต.ค.คงจะสามารถประกาศร่าง TOR ขอบเขตงานในเร็ว ๆ นี้ น่าจะใช้เวลาเร็วสุด 14 เดือนเข้าตลาดหุ้น หรือราวปีหน้าในไตรมาส 4 คิดว่าไม่มีอุปสรรคอะไรแล้ว ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงิน ควรตอบโจทย์ว่าเมื่อเข้าตลาดหุ้นแล้วทางการจะได้อะไรจากดีลอันนี้ "นายกฤษณ์ กล่าว

บริษัทหวังว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะทำให้มีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ทำได้เพียงการออกตราสารทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการระดมทุน(Cost of Fund)อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกันก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทมีสถาบันการเงินเข้ามาถือหุ้นและเป็นพันธมิตรที่จะเกื้อหนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เดินคู่ขนานกันไปได้ เพราะสถาบันการเงินสามารถใช้บริษัทเป็นองค์กรรองรับหนี้เสียมาบริหาร ซึ่งจะลดภาระในการทำธุรกิจไปได้มาก ส่วนบริษัทก็จะมีแหล่งสินเชื่อเข้ามารองรับการซื้อทรัพย์ของลูกค้า

" ทั้งพันธมิตรและบสก.ก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน สถาบันการเงินก็ขายหนี้และเอ็นพีเอให้บสก. สถาบันการเงินก็รับเงินสดกลับไป ส่วนที่ตั้งสำรองไว้ก็บันทึกกลับเป็นกำไร แล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้ง AMC ที่จะต้องมีปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงทางบัญชี เราก็ได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรที่จะเข้ามาปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่ซื้อทรัพย์จาก บสก. เรื่องพันธมิตรที่เคยแค่ซื้อสินทรัพย์มาบริหารก็จะมีความแน่นอนมากขึ้น"นายกฤษณ์ กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1.6 เท่า ต่ำกว่าที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ให้นโยบายไว้ไม่เกิน 2.1 เท่า ดังนั้น บริษัทยังมีช่องว่างที่จะก่อหนี้ได้อีกเป็นหมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่จะต้องไถ่ถอนตราสารทางการเงิน 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 58 ซึงเป็นเงินที่ใช้ซื้อหนี้ของ บสท.เข้ามา แต่เชื่อว่ากระแสเงินสดที่มีจากรายได้ที่เข้ามาปีละไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท และมีภาระชำระดอกเบี้ยและเงินต้นปีละ 7,000 ล้านบาท น่าจะทำให้บริษัทสามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น