รอยเตอร์ - จีอี แคปิตอล กิจการด้านการเงินของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ได้ขายหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ออกไปราว 1 ใน 4 ของที่ตนเองถือครองอยู่เมื่อวันพุธ (26) เพื่อแผ้วถางทางให้แก่การปล่อยขายหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในอนาคต ทั้งนี้ตามแผนการในระดับทั่วโลกของบริษัทแม่ ซึ่งมุ่งลดปริมาณสินทรัพย์ที่มิใช่ธุรกิจหลักลงมา ยิ่งกว่านั้นการลงทุนเป็นเวลา 5 ปีของกลุ่มจีอีในธนาคารที่มีกำไรมากที่สุดในไทยเวลานี้ ก็ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าตัวแล้ว
จีอี แคปิตอล แถลงในวันพุธว่า ได้ขายหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)ในลักษณะการซื้อขายรายใหญ่ (block trade) เป็นจำนวน 7.6% ให้แก่พวกนักลงทุนสถาบัน และทำให้เวลานี้ จีอี แคปิตอล ยังเหลือหุ้นธนาคารใหญ่อันดับ 5 ของไทยแห่งนี้อยู่ในครอบครอง 25.3%
จากสัดส่วนการถือครอง BAY ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน หมายความว่า จีอี แคปิตอล สามารถปล่อยขายออกไปทั้งหมดแก่ผู้ที่สนใจ โดยผู้สนใจซื้อรายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเสนอขอซื้อหุ้น BAY เป็นการทั่วไป (general offer) รวมทั้งในกรณีที่ผู้สนใจซื้อเป็นTนาคารต่างประเทศ ก็จะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสียก่อนด้วย
“การขายหุ้นให้เหลือน้อยลงมาเช่นนี้ เป็นการแผ้วถางทางให้กลุ่มจีอีสามารถถอยออกมาจากธนาคารแห่งนี้ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้กลุ่มจีอีมีความยืดหยุ่นที่จะขายหุ้นที่ยังเหลืออยู่ให้แก่ผู้ซื้อเชิงยุทธศาสตร์รายใดรายหนึ่ง ผู้ซึ่งยินดีที่จะมีฐานะเป็นเจ้าของหุ้นส่วนข้างน้อยใน BAY” บุคคลผู้คุ้นเคยกับสถานการณ์เวลานี้เป็นอย่างดีผู้หนึ่ง บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยขอไม่ให้เปิดเผยนาม เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ ของแผนการนี้ยังถือเป็นความลับอยู่
ขณะเดียวกันก็มีแหล่งข่าวหลายๆ รายบอกว่า ระเบียบกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในเมืองไทยซึ่งห้ามธนาคารต่างประเทศถือครองหุ้นของธนาคารในไทยเกินกว่า 49% กลายเป็นปัจจัยที่ยับยั้งพวกแบงก์นอกประเทศอย่างเช่น นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (เอเอ็นแซด) และมาลายัน แบงกิ้ง (เมย์แบงก์) ชะงักไม่เข้าซื้อหุ้น BAY จากกลุ่มจีอี
ก่อนหน้านี้ มีแหล่งข่าวหลายรายทีเดียวบอกกับรอยเตอร์ว่า เมย์แบงก์, เอเอ็นแซด, ตลอดจนธนาคารภายในไทยบางส่วน อยู่ในพวกผู้สนใจที่กลุ่มจีอีติดต่อเสนอขาย หลังจากที่จีอีว่าจ้าง มอร์แกน สแตนลีย์ ให้ทำการศึกษาทบทวนว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นใน BAY 32.9% ซึ่งกลุ่มนี้ถือครองอยู่
“แต่เมื่อหนทางเลือกอื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว จีอีจึงอาจได้ข้อสรุปว่าเป็นการดีที่สุดถ้าหากตนเองจะดึงเอาเงินบางส่วนออกมาเสียก่อน” แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อีกรายหนึ่งบอก
ทั้งนี้ ในคำแถลงของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ออกมาในวันพุธระบุว่า จีอีตกลงที่จะไม่ขายหุ้น BAY ในตลาดเพิ่มเติมอีกในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ไป แต่ยังสามารถที่จะปล่อยขายหุ้นอีก 25.3% ที่เหลืออยู่ให้แก่ผู้ซื้อรายใดรายหนึ่งที่ถือเป็นผู้ซื้อเชิงยุทธศาสตร์
ในตอนสิ้นสุดไตรมาสสอง (เม.ย.-มิ.ย.) ปีนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีส่วนต่างของอัตราสินเชื่อ (net interest margin) ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดอัตราผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 4.3% นับว่าสูงที่สุดในบรรดาธนาคารในประเทศไทย
สำหรับกลุ่มจีอีในปัจจุบัน ซึ่งมี นายเจฟฟ์ อิมเมลต์ เป็นซีอีโอ มีนโยบายขายบรรดาธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และการพิจารณาขายหุ้น BAY ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มจีอีโดยรวม ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวรายหนึ่งที่เป็นผู้ทราบเรื่องนี้โดยตรง ได้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า หุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่จีอีขายออกไปนั้นได้ราคา 466 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ จีอี แคปิตอล ระบุในคำแถลงยืนยันว่า ยังคงพิจารณาทางเลือกทางยุทธศาสตร์ต่างๆ สำหรับหุ้นของ BAY ที่ตนยังถือครองอยู่
จีอี นั้นตกลงเข้าซื้อหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2007 และรวมแล้วได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 22,300 ล้านบาท หรือ 626 ล้านดอลลาร์ เมื่อคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้น
ในเบื้องต้นทีเดียว จีอี ได้หุ้น BAY จำนวน 25% ในราคา 16.00 บาทต่อหุ้น แล้วต่อมาก็เพิ่มหุ้นขึ้นอีกจนเกือบๆ จะถึง 33%
ตอนนี้จีอีขายหุ้น BAY ได้ในราคา 31.30 บาทต่อหุ้น แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยในวันพุธ โดยขอไม่ให้เปิดเผยชื่อ เนื่องจากรายละเอียดของการขายยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ราคาระดับดังกล่าวนับว่าต่ำลงมา 5.9% จากราคาปิดของหุ้นตัวนี้ในวันอังคาร
จากการที่หุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาซื้อขายกันด้วยราคาระดับ 35.25 บาทต่อหุ้น นั่นหมายความว่าการลงทุนของจีอีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 2 เท่าตัวทีเดียว
รอยเตอร์ระบุว่า การเข้าไปลงทุนของ จีอี ถือเป็นการสร้างชีวิตชีวาให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งในตอนนั้นยังคงมีฐานะเงินทุนไม่เพียงพอภายหลังจากเผชิญวิกฤตการเงินเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นอกจากนั้น ในเวลาต่อมา จีอี ได้มีบทบาททำให้ BAY หันมาโฟกัสเรื่องการปล่อยกู้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวทำให้รายได้ของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น