xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าพระยา”ระวังทะเลหนุน-หวั่นพายุเข้ากทม.ซ้ำรอยปี 38

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สอบช.เฝ้าระวังทะเลหนุน เตือนชาวบ้านริมเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงต่อเนื่อง “นักวิชาการ” คาดพายุเข้า กทม.ช่วง ต.ค.และ พ.ย. ชี้ซ้ำรอยคล้ายปี 38 น้ำถล่มกทม.จมบาดาล จะรับมืออย่างไร อย่ามัวแต่อ้างอุโมงค์ยักษ์

วานนี้ (27 ก.ย.) ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเสวนา"กรุงเทพฯ2555 ท่วม/ไม่ท่วม(นักข่าว)เอาอยู่ ไหม" นายธนวัฒน์ จารุพงศ์สกุล หน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่าถึงความเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯว่า ต้องตามดูร่องมรสุม หากร่องหมดเมื่อไหร่โอกาสเกิดพายุสูงมากในช่วงสองเดือนหน้า ต้องดูสถิติเก่า ปี 2533 มีพายุ 3 ตัว ปี2538 ลักษณะเดียวกันเจอ 2 ลูกเดือนตุลาคมทั้งนั้น จุดก่อพายุในทะเลจีนใต้ทั้งนั้น อุณหภูมิน้ำทะเลเหมาะสม ความชื้นมาก เป็นปีแบบนี้เรากลัวมาก ซึ่งปี 2549 เกิดพายุ 2 ลูก เกิดกรณีแบบนี้เราตามร่องพาดอยู่คาดว่าร่องหมดวันที่ 30 กันยายนถึง 1 ตุลาคม

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า สำหรับกรุงเทพฯถ้าเราดูข้อมูลในอดีต ประกอบกับข้อมูลวิทยาศาสตร์ แน่นอนไม่เป็นแบบปีที่แล้ว เพราะปริมาณน้ำเหนือน้อยมากแทบจะไม่มีน้ำแล้ว สุดท้ายอาจจะท่วมน้ำฝน มีย่อมจากทะเลจีนใต้ อาจพัฒนาเป็นพายุได้ แต่การจะทำนายว่าจะท่วมหรือไม่ท่วม ไม่มีใครบอกได้ เพราะปี 2526 เคยโดนพายุทำให้กรุงเทพฯท่วมถึงสนามกีฬาแห่งชาติท่วมสูง 1.50 เมตรเคยเกิดขึ้นแล้ว กรุงเทพฯเฝ้าระวังติดตามใกล้ชิด เรื่องของพายุเกิดขึ้น ขณะนี้มีย่อมในทะเลจีนใต้ ก่อตัวเป็นโซนร้อน มีโอกาสเข้าภาคเหนือ มีความเสี่ยง เข้ามา ฝนอาจตก 300 มิลลิเมตร กทม.ต้องออกมาบอกล่วงหน้าสื่อให้ประชาชนทราบ ไม่ใช้บอกแต่ว่าอุโมงค์รับได้หรือไม่ได้ คนไม่สนใจมันเป็นอุโมงค์ยักษ์มันเป็นการเมืองไปแล้ว

** เตือนริมเจ้าพระยาระดับน้ำสูงต่อเนื่อง

ที่ที่ตึกสำนักงานนโยบายบริหารจัดการน้ำ(สบอช.) ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ เรืองงาม ผอ.สบอช. กล่าว ตั้งแต่วันที่27 ก.ย. ถึงวันที่ 20 ต.ค. จะมีฝนตกหนักตามปกติ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมดาของพื้นที่ กทม. ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้นั้น จะได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.นี้ ต่อเนื่องไปตลอด 1 สัปดาห์

ขณะที่สภาพฝนตกหนักในพื้นที่กทม. ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ต่อเนื่องจนถึงกลางดึก ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมช่องทางการจราจรในพื้นที่กทม. 9 จุด และมี 8 จุดที่กทม.สามารถระบายน้ำให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายใน 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในวันนี้เวลา 17.00 น. -19.00 น. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับน้ำสูงกว่าเมื่อวาน เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ดังนั้นจึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเฝ้าระวัง

นายรอยล จิตรดอน กรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสายหลักๆของ กทม. ไม่ใช่ฝนตกในปริมาณที่มากเกินไป แต่ปัญหาคือ น้ำไม่ไหลลงคลอง และน้ำในคลองไม่ไหลลงอุโมงค์ ยกตัวอย่างเช่น ที่ ถนนอโศก-ดินแดง น้ำไม่ท่วมขังในฝั่งขาเข้าที่ติดกับบึงมักกะสิน เพระาน้ำไหลลงบึงมักกะสันได้ แต่ฝั่งขาออก กลับท่วมสูง เพระาน้ำลงบึงไม่ได้ ซึ่งทางแก้ตอนนี้คือ ต้องติดตั้งเคลื่องสูบน้ำจากท่อ เอาน้ำลงบึง โดยตรง

**เจ้าพระยาตอนบนลดลงต่อเนื่อง

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (27 ก.ย. 55) แนวโน้มสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในพื้นที่ทางตอนบนมีฝนตกน้อยลงแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางในระยะนี้ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย

**ระดับน้ำต่างจังหวัดยังระทมต่อเนื่อง

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ อีสาน ภาคตะวันออก กลาง และใต้ ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตก ลมพายุกระหน่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.พิจิตร ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง น้ำจากแม่น้ำยมที่ยังเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เอ่อเข้าท่วมสำนักสงฆ์โพธิ์เจริญ หมู่ที่ 10 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง โดยน้ำได้ท่วมกุฏิที่พักสงฆ์ ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร พระสงฆ์ที่มีอยู่ในสำนักสงฆ์ 2 รูป ต้องย้ายมาพักอาศัยบนศาลาการเปรียญแทนเนื่องจากเกรงอันตราย แต่ก็ยังต้องพายเรือเข้าไปตรวจสอบกุฏิเป็นระยะเนื่องจากเกรงน้ำท่วมจะสร้างความเสียหายตัวกุฏิและสิ่งของไม่ให้ได้รับความเสียหาย

ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ยังคงมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน หลังฝนตกหนักส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ท่วมเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ชุมชนบ้านหัวสะพาน หมู่ที่ 15 ต.บางระกำ ชาวบ้านกว่า 20 หลังคาเรือน ต้องเร่งนำไม้ และสังกะสี ออกมาทำเพิงพักชั่วคราวริมถนน เหมือนปีที่ผ่านมา

ที่ จ.แม่อ่องสอน เกิดพายุฝนและลมแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เมือง ส่งผลให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มลงมาทับทางหลวงแผ่นดิน 108 ระหว่างแม่ฮ่องสอน-ขุนยวม กม.ที่ 258-259 ในท้องที่ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้รถยนต์ติดยาวประมาณ 2 กม.ในระหว่างที่นายสุทธา สายวาณิย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำลังนั่งผ่านเพื่อจะไปตรวจราชการที่ อ.แม่สะเรียง จึงได้ประสานให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อให้รถยนต์ดังกล่าว ผ่านได้โดยเร็ว

จ.สตูล ส่งผลให้น้ำในคลองดูสน และคลองฉลุง ของ จ.สตูล ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและไร่สวนต่างๆ ของประชาชน ขณะเดียวกันน้ำได้ไหลเข้าท่วมเส้นทางในการเดินทางของนักเรียน ซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้ 3 แห่ง จนทางผู้บริหารสถานศึกษาต้องสั่งปิดเรียนชั่วคราว คือ โรงเรียนบ้านดูสน โรงเรียนบ้านปันจอร์ และโรงเรียนบ้านโคกประดู่

**โพลชี้คนกังวลน้ำท่วมซ้ำ

นายวชิร คุณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,200 ราย ประเด็นทัศนะของประชาชนต่อการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำและทัศนะต่อราคาสินค้า ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-24 ก.ย.2555 ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 87% กังวลในเรื่องความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและเชื่อว่าปีนี้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมระดับปานกลางถึงมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง กังวลมากกว่าภาคอื่น

เหตุผลที่มีความกังวล เพราะรัฐบาลละเลยในการแก้ปัญหาและไม่เห็นแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เห็นการเตรียมการอะไรที่สร้างความมั่นใจ และสภาพอากาศไม่ดี ฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีบางส่วนเชื่อว่ารัฐบาลรับมือได้ เพราะมีแผนในการบริหารจัดการน้ำดีกว่าปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น