xs
xsm
sm
md
lg

"อุกฤษ"แนะใช้เทคโนโลยีแก้ใต้ จับตาป่วนยะลา28ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้ใช้ “เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อดับไฟใต้” ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากขณะนี้สถิติผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่จะเลือกพื้นที่บนท้องถนน โดยการใช้รถยนต์ จักรยานยนต์ หรือยานพาหนะ ที่มีการปลอมแปลงทะเบียน หรือขโมยใช้กระทำความผิด
ดังนั้นเพื่อป้องกันดูแลชีวิต และทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชน รวมทั้งสถานที่สำคัญต่าง ๆมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วยในการทำงานให้มากขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลได้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วนให้เสร็จภายใน 3-4 คือ
1. ให้กรมการขนส่งทางบกออกฎกระทรวง กำหนดให้รถยนต์ทุกชนิดและจักรยานยนต์มีการติดตั้ง“เทคโนโลยี RFID” (Radio Frequency Identification) เพื่อแสดงอัตลักษณ์ หรือข้อมูลที่เกี่ยยวกับเลขทะเบียน เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สี ยี่ห้อ เมื่อมีการนำรถไปก่อเหตุ เจ้าหน้าที่สามารถติดตามเส้นทาง หรือสืบหาที่มาของรถได้ง่ายขึ้น
2. เพิ่มจุดตรวจหรือสะกัดยานพาหนะ(ด่านอัจฉริยะ) ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเส้นทางที่จะเข้าสู่พื้นที่
3. เพิ่มแสงสว่างในถนนสายหลัก และสายรองที่ประชาชนใช้สัญจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยระบบไฟฟ้า ส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อป้องกันการก่อความไม่สงบในเวลากลางคืน
4. ใช้เทคโนโลยีไอออนสแกนแบบพกพา ในการช่วยตรวจจับวัตถุระเบิด และสารเสพติด (SABER 5000) โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถตรวจหาร่องรอยของสสาร 4 ประเภทคือ วัตถุระเบิด สารเสพติด สารอาวุธเคมี และสารมีพิษทางอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม หากมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เสนอมาใช้อย่างจริงจัง คาดว่าจะสามารถป้องกันการก่อเหตุ และลดการสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันสามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ที่สำคัญราคาไม่แพง ข้อเสนอนี้ใช้เงินงบประมาณไม่เกิน 3 พันล้านบาทเท่านั้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

** จับตา28ก.ย. ก่อเหตุพื้นที่ยะลา

วานนี้ (26 ก.ย.) พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเตรียมยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้มอบ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และศอ.บต. ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ว่าอยู่ในสถานภาพที่เหมาะสมหรือไม่ โดยแยกประเด็นก่อเหตุต่างๆ ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องการก่อความไม่สงบ ไม่ใช่ว่าเกิดการต่อสู้ หรือฆ่าฟันกันในพื้นที่ภาคใต้ แล้วจะกลายเป็นคดีความมั่นคงไปหมด รวมถึงแยกพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดเหตุว่ามีพื้นที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ยังต้องดูความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า หากมีการยกเลิกพ.ร.ก.แล้วประชาชนในพื้นที่จะให้ความร่วมมือในฐานะบุคคลที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อย่างไรบ้าง
" ตามที่เลขาฯสมช. ระบุว่า พื้นที่ที่ยังมีการดำเนินการปฏิบัติการรุนแรง อยู่มีประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่แบ่งเป็นจังหวัด นราธิวาส และยะลา ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ จ.ปัตตานี ประมาณเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้ว 3 จังหวัดประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์” พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า มีกระแสว่า จะมีแกนนำออกมามอบตัวนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังมีการพูดคุยกันอยู่ ที่อาจมีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่เหมือนกับกลุ่มที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีกบางกลุ่มที่คอยดูว่ากลุ่มที่มามอบตัวก่อนหน้านี้ทั้ง 93 ราย ได้รับการดูแลและคุ้มครองอะไรบ้าง
เมื่อถามต่อว่า เงื่อนไขที่แตกต่างนั้น เปิดเผยได้หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ไว้รออีกนิดแล้วจะทราบว่า ยังมีหนทางอีกหลายทาง เพราะการพูดคุยไม่ใช่หนทางเดียวจากทางฝ่ายความมั่นคงของทหาร แต่จะมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งศอ.บต. ทางฝ่ายการเมืองผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทางกระทรวงยุติธรรมเป็นต้น ซึ่งจำนวนผู้ที่จะพูดคุยนั้นไม่น้อยไปกว่าเดิม แต่ขณะนี้คงกล่าวในรายละเอียดไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียหายในสิ่งที่ดำเนินการ แต่ยืนยันว่าอีกไม่นานโดยจะมีทั้งระดับแกนนำและผู้ร่วมปฏิบัติ
ถามต่อว่า หากมีการเจรจา จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเหมือนที่สายบุรีอีกหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่าได้มีการสั่งเตือนให้เข้มงวดอย่างมากในการปฏิบัติที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 26 ก.ย.นี้ โดยจากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา ในวันที่ 28 ก.ย. ของทุกปีจะมีเหตุเกิดขึ้นทุกปี
" เราก็มองว่าทำไมมันต้องเกิดทุกครั้งวันที่ 26-28 ก.ย. นี่เกิดทุกครั้ง วันนี้ 26 แล้ว ก็เป็นห่วงเจ้านายที่ยังอยู่ภาคใต้ มันเกิดทุกครั้ง แต่ก็ได้คุยกับผบ.ทบ.แล้วว่า ต้องเพิ่มความระมัดระวังดูแลความมั่นคง ซึ่งไม่ใช่จุดที่สำคัญเท่านั้น แต่ต้องดูทุกจุดรอบๆในจังหวัดยะลาด้วย ซึ่งข้อหนึ่งอาจเป็นที่ปลายเดือนนี้จะมีการผลัดเปลี่ยนกำลังทหารที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ สองมีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น ผู้ว่าฯยะลา ก็จะเกษียณ ในวันศุกร์(28ก.ย.)นี้แล้ว ซึ่งเท่าที่ดูอยู่มันจะเกิดที่ยะลามากที่สุด จากสถิติโดยจะเป็นเหตุใหญ่ทุกครั้ง แต่ปีนี้เราจะระวังมาก ต่อไปอาจจะมีอะไรเพิ่มเติมขึ้น โดยเฉพาะของการตั้งด่าน รวมทั้งเจ้าหน้าเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างหรือจุดอ่อน ที่ผ่านมาไม่ใช่พลาดในเรื่องงานข่าว หรือนโยบาย แต่เป็นช่องว่างของการปฏิบัติ ” พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว

** ดับไฟใต้ไม่ง่าย ไม่มีสูตรสำเร็จ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นห่วงว่าช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ท่านคงห่วงในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนผู้ปฏิบัติทำมาตลอดอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ซับซ้อน จึงจะต้องแก้ไขกันไป แกะกันให้ออก ไม่ให้มันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน และแก้กันทีละปัญหา จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ใช่แก้กันโครมคราม ใช้กำลัง หรือใช้ความรุนแรง หรือใช้กฎหมายที่รุนแรง ถ้าใช้กำลังไม่ได้ และประชาชนไม่เห็นด้วย เราต้องช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมให้ทุกคนเห็นด้วยในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ วันนี้ตนไม่ตำหนิใครอยู่แล้ว ใครอยากจะแนะนำอะไรก็เชิญ ซึ่งก็จะต้องดูว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไร ถ้าทำได้ง่าย คงไม่ต้องใช้เวลาแก้ไขกันนาน ไม่เหมือนกับการตัดเสื้อตัวหนึ่งแล้วใส่ได้ทุกคน เพราะกฎหมาย และวิธีการแก้ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บางพื้นที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่บางพื้นที่ไม่ได้ใช้ จะเห็นว่ามีหลายมิติ ไม่มีสูตรสำเร็จ อย่าคิดอะไรตื้น ๆ ง่าย ๆ ถ้าคิดง่าย ๆ คงแก้ได้ทั้งโลก ทุกวันนี้ปัญหาแบบนี้มีทั้งโลก ไม่ใช่ประเทศไทยแย่ไปเสียหมด คิดว่ายังดีกว่าหลาย ๆ ประเทศในโลก แต่เราก็ยังพยายามดึงประเทศกลับไปเป็นแบบเขา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ท่านทรงเสด็จต่อเนื่องอยู่แล้ว และท่านไม่ได้ทรงเกรงกลัวอะไร เป็นการแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ทั้งหมดไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ปลอดภัยทั้งหมด แต่เป็นเพียงบางพื้นที่มีประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเราประโคมข่าว จะกลายเป็นว่าภาคใต้มีความรุนแรงทั้งหมด ซึ่งความจริงเป็นเพียงบางพื้นที่ที่มีการปลุกระดม และมีการทำผิดกฎหมาย ซึ่งเราจะต้องลดพื้นที่ 15 เปอร์เซ็นต์นี้ให้ได้ และไม่ให้พื้นที่ 85 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ไปเป็นฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบ นี่คือการแก้ไขปัญหาที่สำเร็จ ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงเขาคิดหมดแล้ว ทุกวันนี้ไม่ใช่จะเอากำลังไปปิดล้อม ตรวจค้นบ้านใครก็ได้

** ลั่นอย่าดูถูกฝีมือทหาร

ส่วนศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่จะตั้งขึ้น นั้น ขณะนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนั้น เพราะคนทำงานก็มีอยู่แค่นั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือ ลดจำนวนลง แต่ขั้นตอนการปฏิบัติเหมือนเดิม เ พราะคนเหล่านี้มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ศปก.จชต. จะมาดูว่า อะไรควรทำก่อน หรือทำหลัง เพราะถ้าไม่เร่งทำงาน ก็จะไม่ทันเวลา ยืนยันว่าไม่ได้ไปซ้ำซ้อนกับใคร อีกทั้ง ผอ.ศปก.จชต. จะเป็นผู้เสนอไป และนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นอนุมัติสั่งการลงไป อย่าไปกังวล ไม่ใช่มี ศปก.จชต. แล้วเขาจะเลิกรบกัน หรือว่ามีการพูดคุยกัน แล้วจะเลิกรบกัน
"ประชาชนมี 2 ฝ่าย คือประชาชนที่มีเป็นฝ่ายเรา 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ก่อความรุนแรงก็มี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการความสันติ อีกฝ่ายต้องการความรุนแรงอย่างเดียว ต้องการจะเอาชนะ โดยมีทั้งพวกยาเสพติด อิทธิพล เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือ พวกเลว ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องที่ไม่อยากให้จบ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งเราจะต้องทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างไปด้วยกัน ใครจะมอบตัวก็มา ใครไม่มอบตัว ก็รบกัน คนไหนไม่มอบตัว ก็รบกันปะทะกัน โดยวิธีการทางทหาร หรือ ใช้ ป.วิอาญา มันจะแก้อะไรได้มากกว่านี้ ดังนั้นอย่ามาเสนอว่า ไม่ทำอย่างนั้น ไม่อย่างนี้ ถามว่าคนเสนอเคยทำหรือไม่ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผมไม่อยากดูถูกใครทั้งสิ้น แต่ท่านอย่ามาดูถูกพวกเรา อย่าดูถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ทำงานเสียชีวิต เพราะจะทำให้คนหมดกำลังใจ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น