xs
xsm
sm
md
lg

"ม็อบยาง"บุกทำเนียบฯ ค้านรัฐบาลแปรรูปกยท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 9.30 น.วานนี้ (20ก.ย.) กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สร.กสย.) กว่า 500 คน พร้อมรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียง ได้มาชุมนุมที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการลงมติให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปลี่ยนรูปแบบองค์กรจากรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์การมหาชน โดยการนำเสนอของ นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการ กยท.โดยมีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสุชาติ ลายน้ำเงิน เลขานุการ รองนายกฯ เป็นตัวแทนรับเรื่อง
นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธาน สร.กสย. กล่าวว่า คณะกรรมาธิการที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้มีการลงมติให้ กยท. เป็นองค์การมหาชนนั้น เป็นการเปลี่ยนเจตนารมณ์เดิมของ กยท. ที่มีการทำประชามติมาก่อน ซึ่งสะท้อนว่าเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องในวงการยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพี่น้องชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน จึงต้องการเรียกร้องให้มีการรักษาสถานะองค์กร และยืนยันการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย ภายใต้องค์กรรัฐวิสาหกิจเท่านั้น
นายจิตตินกล่าวอีกว่า นอกจากความขัดแย้งเรื่อง พ.ร.บ.การยางฯ แล้ว ยังมีการบริหารจัดการองค์กร ที่สร้างความล้มเหลวที่นำโดยการบริหารงานของ นายวิทย์ ผอ.กยท. ได้แก่ การแต่งตั้งพนักงานระดับ 9 อย่างไม่โปร่งใส และไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด, การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่พนักงานและลูกจ้าง โดยการปรับลดไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้อำนาจตัดสินใจฝ่ายเดียว , สร้างปัญหาเรื่องความโปร่งใส ในการบริหารจัดการองค์กร จนกระทรวงเกษตรฯ ให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง , การนำรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงาน ไปใช้ส่วนตัวจนเกิดความเสียหาย และไม่แสดงความรับผิดชอบ , ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการซื้อปุ๋ยเคมีจำนวน 3 หมื่นตัน, ดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง และให้ข้อมูลเท็จต่อที่ประชุม ,ไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารโครงการปลูกยางในที่แห่งใหม่จำนวน 8 แสนไร่ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยไม่เกิดประโยชน์ ,ในฐานะผู้นำไม่เคยให้ความสำคัญกับขวัญและกำลังใจของพนักงานเลย นอกจากนี้ยังขาดคุณสมบัติในการสมัครเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้วย
ทั้งนี้ จึงเรียกร้องให้ นายวิทย์ ลาออกจากตำแหน่ง และคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง กฎหมายจะต้องแก้ไข มาตรา 7 คือเปลี่ยนให้กยท. กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม และตัดมาตรา 8/1 ที่กำหนดให้กิจการของกยท. ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
ทั้งนี้ผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของกยท. ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญเสนอ
ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มผู้ชุมนุมได้ไปชุมนุมที่หน้าสภา โดยมีนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พร้อมด้วย นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาสังเกตการณ์ด้วย โดยนายถาวร กล่าวว่า สกย. มีเงินที่เก็บจากเกษตรชาวสวนยางกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งร่างกฎหมายเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำเสนอเข้าสู่สภาฯนั้น ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ดังเดิม แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎรแล้ว กลับมีการเสนอให้เปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์การมหาชน จึงทำให้ชาวสวนยางกังวลใจว่า อาจจะนำไปสู่การนำเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทนั้น ไปใช้ในทางที่ผิดได้
ด้านนายชินวรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเรียกร้องให้ปลดนายวิทย์ ออกนั้น ตนตอบไม่ได้เพราะเป็นฝ่ายค้าน ผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ รัฐมนตรี ตนในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศด้วยนั้น เพราะต้องการเห็นการยางแห่งประเทศไทย มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นความรัฐวิสาหกิจไว้ แต่แก้ไขเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้คุ้มครองสวัสดิภาพของพนักงานให้มากขึ้น หรือให้เป็นองค์กรโดยเฉพาะขึ้นแต่ยังคงเขียนคุ้มครองให้เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ก็ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่ม สร.สกย. ชุมนุมอยู่ที่บริเวณหน้ารัฐสภานั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาที่รัฐสภาด้วย นายณัฐวุฒิ จึงลงจากรถเพื่อเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่กำลังดำเนินการอยู่ในชั้นกรรมาธิการนั้น เนื้อหาสาระที่พี่น้องห่วงใย ยังถือว่าไม่ใช่ข้อยุติ ยืนยันว่าองค์การการยางที่จะถูกจัดตั้งขึ้นนั้น จะต้องดูแลสวัสดิการของพนักงานไม่น้อยไปกว่าเดิม
นอกจากนี้ การรวมตัวกันของพนักงาน ยังสามารถทำได้ดังเดิม ขอย้ำว่า ตนไม่ได้เพิกเฉย และ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะออกจากกมธ. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้นั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบ และความยินยอมของทุกฝ่ายก่อน
ส่วนข้อเรียกร้องให้ดำเนินการปลดนายวิทย์นั้น ตนขอรับเรื่องไว้ ทั้งเอกสาร และหลักฐานต่างๆ จากนี้ จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทันที เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรม ซึ่งหากผู้บริหาร สกย.บริหารไม่โปร่งใสจริง ยืนยันว่าตนไม่เลี้ยงแน่นอน ทั้งนี้ จะให้ตัวแทน สร.สกย.เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ด้วยอย่างน้อย 3 คน และจะให้รายงานผลสรุปกลับมาภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ เพื่อให้สกย. เดินหน้าต่อไปได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่นายณัฐวุฒิ เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่นั้น ผู้ชุมนุมยังคงตะโกนแสดงความไม่พอใจ และไม่เชื่อถือในคำพูดของนายณัฐวุฒิ อยู่เป็นระยะ แม้นายณัฐวุฒิ จะยืนยันว่า ระหว่างที่คณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมานั้นกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ นายวิทย์จะไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องของตัวบุคคล และงบประมาณของสกย.ก็ตาม โดยกลุ่มสร.สกย. ยืนยันว่า จะยังปักหลัก รอดูผลการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อน จึงจะยอมสลายการชุมนุม
กำลังโหลดความคิดเห็น