xs
xsm
sm
md
lg

“ม็อบยาง” บุกทำเนียบ โวยรัฐโอน กยท.เข้าองค์กรมหาชน จี้ ผอ.ลาออกพ้นตำแหน่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




กลุ่มพนักงานจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.กว่า 200 คน รวมตัวชุมนุมด้านหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการ สกย.ลาออก เนื่องจากมีความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุน พร้อมให้นำ สกย.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิม

วันนี้ (20 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สร.กสย.) กว่า 500 คน พร้อมรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียง ชุมนุมปราศรัย เรียกร้องรัฐบาลกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปลี่ยนรูปแบบองค์กรจากรัฐวิสาหกิจเป็นองค์การมหาชน โดยการนำเสนอของ นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการ กยท.โดยมีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่มี นายสุชาติ ลายน้ำเงิน เลขานุการรองนายกฯ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธาน สร.กสย.กล่าวว่า คณะกรรมาธิการที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้มีการลงมติให้กยท.เป็นองค์การมหาชนนั้น เป็นการเปลี่ยนเจตนารมณ์เดิมของกยท. ที่มีการทำประชามติมาก่อน ซึ่งสะท้อนว่าเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องในวงการยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพี่น้องชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน จึงต้องการเรียกร้องให้มีการรักษาสถานะองค์กรและยืนยันการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทยภายใต้องค์กรรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

นายจิตติน กล่าวอีกว่า นอกจากความขัดแย้งเรื่อง พ.ร.บ.การยางฯ แล้ว ยังมีการบริหารจัดการองค์กรที่สร้างความล้มเหลวที่นำโดยการบริหารงานของนายวิทย์ ผอ.กยท.ได้แก่ การแต่งตั้งพนักงานระดับ 9 อย่างไม่โปร่งใสและไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด, การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่พนักงาน และลูกจ้างโดยการปรับลดไม่ชอบด้วยกฎหมายและใช้อำนาจตัดสินใจฝ่ายเดียว, สร้างปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการองค์กร จนกระทรวงเกษตรฯให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง, การนำรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงาน ไปใช้ส่วนตัวจนเกิดความเสียหายและไม่แสดงความรับผิดชอบ,ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการซื้อปุ๋ยเคมีจำนวน 3 หมื่นตัน, ดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งและให้ข้อมูลเท็จต่อที่ประชุม, ไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารโครงการปลูกยางในที่แห่งใหม่จำนวน 8 แสนไร่ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยไม่เกิดประโยชน์, ในฐานะผู้นำไม่เคยให้ความสำคัญกับขวัญและกำลังใจของพนักงานเลย นอกจากนี้ ยังขาดคุณสมบัติในการสมัครเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้วย

ทั้งนี้ จึงมีเรียกร้องให้ นายวิทย์ ลาออกจากตำแหน่งและคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายจะต้องแก้ไขมาตรา 7 คือ เปลี่ยนให้ กยท.กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิมและตัดมาตรา 8/1 ที่กำหนดให้กิจการของ กยท.ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของกยท.ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญเสนอ

ต่อมาเวลา 13.20 น.นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พร้อมด้วยนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาสังเกตการณ์ด้วย โดยนายถาวรกล่าวว่า สกย.มีเงินที่เก็บจากเกษตรชาวสวนยางกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งร่างกฎหมายเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำเสนอเข้าสู่สภาฯ นั้นยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ดังเดิม แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... สภาผู้แทนราษฎรแล้ว กลับมีการเสนอให้เปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจเป็นองค์การมหาชน จึงทำให้ชาวสวนยางกังวลใจว่าอาจจะนำไปสู่การนำเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทนั้นไปใช้ในทางที่ผิดได้

ด้าน นายชินวรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเรียกร้องให้ปลดนายวิทย์ออกนั้นตนตอบไม่ได้เพราะเป็นฝ่ายค้าน ผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือรัฐมนตรี ตนในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศด้วยนั้น เพราะต้องการเห็นการยางแห่งประเทศไทยมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งร่างของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นความรัฐวิสาหกิจไว้ แต่แก้ไขเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้คุ้มครองสวัสดิภาพของพนักงานให้มากขึ้น หรือให้เป็นองค์กรโดยเฉพาะขึ้นแต่ยังคงเขียนคุ้มครองให้เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่ม สร.สกย.ชุมนุมอยู่ที่บริเวณหน้ารัฐสภานั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาที่รัฐสภาด้วย นายณัฐวุฒิ จึงลงจากรถเพื่อเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดย นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่กำลังดำเนินการอยู่ในชั้นกรรมาธิการนั้น เนื้อหาสาระที่พี่น้องห่วงใยยังถือว่าไม่ใช่ข้อยุติ ยืนยันว่าองค์การการยางที่จะถูกจัดตั้งขึ้นนั้นจะต้องดูแลสวัสดิการของพนักงานไม่น้อยไปกว่าเดิม นอกจากนี้ การรวมตัวกันของพนักงานนั้นยังสามารถทำได้ดังเดิม ขอย้ำว่า ตนไม่ได้เพิกเฉยและร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะออกจากกมธ.เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้นั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบ และความยินยอมของทุกฝ่ายก่อน ส่วนข้อเรียกร้องให้ดำเนินการปลดนายวิทย์นั้น ตนขอรับเรื่องไว้ทั้งเอกสารและหลักฐานต่างๆ จากนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทันทีเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม ซึ่งหากผู้บริหาร สกย.บริหารไม่โปร่งใสจริง ยืนยันว่าตนไม่เลี้ยงแน่นอน ทั้งนี้ จะให้ตัวแทนสร.สกย.เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ด้วยอย่างน้อย 3 คน และจะให้รายงานผลสรุปกลับมาภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้ สกย.เดินหน้าต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่นายณัฐวุฒิเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่นั้น ผู้ชุมนุมยังคงตะโกนแสดงความไม่พอใจและไม่เชื่อถือในคำพูดของนายณัฐวุฒิอยู่เป็นระยะ แม้ นายณัฐวุฒิ จะยืนยันว่า ระหว่างที่คณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมานั้นกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ นายวิทย์ จะไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องของตัวบุคคลและงบประมาณของ สกย.ก็ตาม โดยกลุ่ม สร.สกย.ยืนยันว่า จะยังปักหลักรอดูผลการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อน จึงจะยอมสลายการชุมนุม

















กำลังโหลดความคิดเห็น