xs
xsm
sm
md
lg

ประธานสภาการยางฯ สอนมวย “อำมาตย์เต้น” ลดส่งออกยางหวังดันราคาเสียท่ามาเลย์-อินโดฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค  การเงินการคลัง  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ในฐานะประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทยระบุ “ณัฐวุฒิ” ทำข้อตกลงลดการส่งออกยาง 3 แสนตันขัด พ.ร.บ.ควบคุมยางปี 2542 อีกทั้งยังเสียท่าคู่แข่ง ทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาส เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก แนะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศและเก็บภาษียางสังเคราะห์เพิ่มแทน

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในฐานะประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำข้อตกลงร่วมกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่จะลดปริมาณการส่งออกยางทันที 3 แสนตัน โดยในส่วนของประเทศไทยต้องลดปริมาณการส่งออกยางทันที 10% เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในตลาดโลกที่ตกต่ำนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรไทย
 
ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนตุลาคม-มกราคมของทุกปีเป็นช่วงที่ผลผลิตยางของไทยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียตรงกับช่วงผลผลิตไม่มากเพราะเป็นช่วงผลัดใบ และประเทศมาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเพื่อไปแปรรูปและส่งออก ดังนั้นการทำข้อตกลงลดการส่งออกยางทันทีจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ การทำข้อตกลงดังกล่าวของนายณัฐวุฒิยังขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 เพราะไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่มีการหารือกับคณะกรรมการควบคุมยาง ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา 6(8) เพื่อประโยชน์ในการผลิตยาง การค้ายาง การนำเข้ายางและส่งออก ว่าด้วยเรื่องปริมาณควบคุมเนื้อยาง ปริมาณจัดสรรเนื้อยางตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ยางของประเทศ รัฐมนตรีที่กำกับสามารถใช้อำนาจได้ภายหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
อีกทั้งมาตรา 15(1), (6) ยังระบุให้คณะกรรมการควบคุมยางมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่รัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ข้อผูกพันและโครงการระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับยาง ในเบื้องต้นได้มีการทำหนังสือทักท้วงไปและได้คำตอบว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางชุดใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวย้อนหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางนั้น รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการจูงใจและกระตุ้นการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ เช่น การกำหนดให้นำยางธรรมชาติไปผสมยางมะตอยเพื่อใช้ทำถนนทั่วประเทศ ซึ่งหากมีการกำหนดให้ใช้เพียง 5% ก็จะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเรียกเก็บภาษียางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ราคาปรับมาใกล้เคียงกัน โดยล่าสุดราคายางสังเคราะห์เฉลี่ย กก.ละ 41.7 บาท ขณะที่ราคาน้ำยางข้นเฉลี่ย กก.ละ 53 บาท แต่หากราคายางทั้ง 2 ชนิดใกล้เคียงกัน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศให้สูงขึ้นโดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยาง
ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“แนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำโดยการลดปริมาณการส่งออกยางทันที ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งด้านข้อกฎหมายและวิธีการ เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตยางของไทยออกสู่ตลาดมาก อีกทั้งขณะนี้เป็นช่วงที่ประเทศยุโรปต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก การลดปริมาณการส่งออกจึงทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาส รัฐบาลจึงควรออกมาตรการสร้างแรงจูงใจการใช้ยางธรรมชาติในประเทศมากกว่า” นายอุทัยกล่าว

นายอุทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมยางไทย รัฐบาลควรพิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินเซส (CESS) เหลือ กก.ละ 10 สตางค์แทนอัตราการจัดเก็บในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบผู้ประกอบการจากประเทศอื่นที่ไม่มีการจัดเก็บเงินเซส

นอกจากนี้ ยังฝากถึงรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งพิจารณาเอกสารคืนเงินเซสให้ผู้ประกอบการในส่วนที่เคยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 5 บาทไปตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้ตรวจสอบเอกสารเสร็จเรียบร้อย และส่งเรื่องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯไปพิจารณาได้ระยะหนึ่งแล้ว

รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีเร่งอนุมัติงบประมาณจำนวน 15,000 ล้านบาทสำหรับใช้แทรกแซงราคายาง เพื่อนำไปจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ได้นำยางพาราไปขายให้องค์การสวนยาง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น