xs
xsm
sm
md
lg

ติง “ณัฐวุฒิ” คิดใหม่หนุนพ่อค้าเก็งกำไรซื้อยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เตือนภาครัฐคิดให้รอบคอบ ติง “ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ” อย่าด่วนตัดสินใจหนุนพ่อค้าซื้อยางจากตลาดโตคอมและเซี่ยงไฮ้นำกลับมาเวียนส่งใหม่เพื่อดึงราคายางในประเทศให้สูงขึ้น ตั้งคำถามประโยชน์แท้จริงตกอยู่กับเกษตรกรหรือนักเก็งกำไรกันแน่

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนซื้อยางพาราจากตลาดยางโตเกียว (TOCOM) ของประเทศญี่ปุ่นและตลาดยางในเมืองเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน เพื่อนำกลับเวียนส่งใหม่โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีส่งออกสินค้ายางพาราหรือเงินเซส (CESS) ตามข้อเสนอของเอกชนเพื่อดึงราคายางในประเทศให้สูงขึ้นนั้น ต้องมีการพิจารณาผลได้ผลเสียอย่างรอบคอบ

“หากเกษตรกรได้ประโยชน์ก็ต้องยอมรับว่าดี แต่การซื้อขายเป็นบทบาทของพ่อค้าที่เก็งกำไรไม่ใช่บทบาทและหน้าที่ของรัฐบาล แนวทางแก้ไขที่รัฐบาลควรดำเนินการคือนำงบประมาณของรัฐมาซื้อยางในประเทศเพราะรัฐต้องไม่คิดถึงกำไรหรือขาดทุน แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมของระบบการค้ายางของประเทศไทยเป็นหลัก หากรัฐบาลอนุญาตให้ซื้อยางเข้าประเทศไทยจริงๆ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก และไม่ต้องเสียเงิน cess ในอนาคตหากอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่ตั้งโรงงานในประเทศไทยจะนำยางที่มีราคาถูกจากประเทศอินโดนีเซีย ลาว หรือกัมพูชาเข้ามาบ้าง เกษตรกรไทยก็จะขายยางไม่ได้”

ประธานสภาการยางฯ กล่าวต่อว่า แม้เป็นแนวความคิดของมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่หากมองในระยะยาวประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์มากกว่า เพราะเราสนับสนุนให้ต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ยางไทย ถ้ามีผู้ประกอบการขอนำยางเข้าจากต่างประเทศเพื่อสร้างกำไรให้กับตนเองไม่ใช่ส่วนรวม แล้วที่รัฐบาลวางนโยบายให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนจะได้ประโยชน์อะไร

นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ รัฐบาลต้องมองถึงความมั่นคงในอาชีพยางเป็นหลัก ไม่ควรไปเกี่ยวข้องกับกลไกทางการค้า รวมทั้งควรห้ามนำเข้ายางจากต่างประเทศเพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางมากที่สุดในโลก โดยในเบื้องต้นควรมอบหมายให้สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลเรื่องสต็อกยางไปตรวจสอบสต็อกยางในประเทศว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ไม่ใช่เชื่อตามตัวเลขที่ผู้ประกอบการแจ้งมาฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะถ้านำเงินของรัฐไปซื้อยางจากต่างประเทศ หรือให้เอกชนไปซื้อยางจากต่างประเทศเข้ามา อาจเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการที่มีสต็อกยางเป็นจำนวนมากได้กำไรทันที แล้วจะมาอ้างว่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรชาวสวนยางหรือประเทศไทยได้อย่างไร

นอกจากนี้ โครงสร้างราคายางในประเทศในอนาคตจะไม่มีภูมิคุ้มกัน ประกอบกับต้องมีการตรวจสอบว่าภาครัฐมีสิทธินำงบประมาณแผ่นดินไปซื้อยางนอกประเทศหรือไม่อย่างไร จะเห็นว่าการซื้อยางจากตลาดโตคอมเพื่อนำมาเวียนส่งใหม่ในช่วงผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบ และขาดภูมิคุ้มกันอย่างทันที เช่น เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาตลาดโตคอมขึ้นไป 20 เยนหรือประมาณ 7 บาท พบว่าผู้ประกอบการประมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 บาท ถามว่า 5 บาทหายไปไหน ประโยชน์ตกอยู่กับใคร

“ที่ผ่านมา รมช.กระทรวงเกษตรฯ คุยโวว่าเป็นนโยบายที่จะทำให้ราคายางไม่ต่ำกว่า 120 บาทนั้น ณ วันนี้ได้มีแผนการดำเนินการอย่างไร วิธีการซื้อยางนำกลับมาเวียนส่งใหม่ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืน แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นกุนซือในเรื่องนี้ ให้คิดถึงเกษตรกรจริงๆ หรือไม่ หรือมีผลประโยชน์แอบแฝง”

นายอุทัย ยังกล่าวว่า รัฐบาลนี้ทำแปลก ยางในประเทศไทยมีมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทำไมต้องเพิ่มภาระ กลับจะไปซื้อยางจากต่างประเทศเข้ามา ถ้าต้องการให้ราคายางในประเทศปรับเพิ่มขึ้นทันที ในมุมมองของตนรัฐบาลควรลดการเก็บค่าเงิน cess จาก 5 บาทต่อ กก. เหลือ 1.40 บาทต่อกก.ให้เท่ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย วิธีนี้จะทำให้เกษตรกรมีเงินเข้ากระเป๋าทันที 3.60 บาท แต่เรื่องนี้ผู้ประกอบการบางส่วนคัดค้านไม่ให้ลดการเก็บค่าเงิน cess ทั้งๆ ที่เงิน cess เก็บจากเกษตรกร ไม่ใช่หักจากผู้ประกอบการ จริงๆ แล้วต้องฟังเสียงจากเกษตรกรบ้าง ทำให้น่าเชื่อว่าเรื่องที่เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีเหตุการณ์ลักลอบหนีการเสียเงิน cess อาจจะเป็นความจริง เพราะคนที่ลักลอบนำยางออกโดยไม่เสียเงิน cess จะเสียโอกาสในการลดเงิน cess

ประธานสภาการยางฯ กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วหากลดเงิน cess ผู้ประกอบการเองก็ควรดีใจ เพราะการเก็บเงิน cess 5 บาทต่อ กก.มาระยะหนึ่งแล้วก็พิจารณาได้ว่า ทำให้ยางพาราของไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และที่สำคัญประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลกกว่า 20 ประเทศไม่เก็บเงิน cess ส่วนมาเลเซียเก็บเพียง 1.40 บาทต่อ กก. ดังนั้นการเก็บเงิน cess อัตราเดิมจึงทำให้ผู้ประกอบการสุจริตสู้คนอื่นยาก เพราะต้องรอให้อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามขายหมดก่อน ผู้ประกอบการไทยจึงจะได้ขาย

อย่างไรก็ตาม วิธีการที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวข้างต้นในการให้ภาคเอกชนซื้อยางพาราจากตลาดโตคอม เพื่อนำกลับเวียนส่งใหม่นั้นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และมีการตรวจสอบสต็อกยางไทยให้เกิดความกระจ่างแจ้งก่อนดำเนินการ พร้อมกับควรได้มีการเปิดเผยถึงเทคนิค วิธีการซื้อขายยางที่มีผู้ประกอบการบางรายระบุว่าไม่เปิดเผย เพราะหากทำเช่นนี้จะไม่เกิดความโปร่งใส
กำลังโหลดความคิดเห็น