ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นักจัดรายการทีวี-วิทยุคนเสื้อแดง ที่ได้ดิบได้ดีเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นรักษาการโฆษกฯ ได้แถลงผลการประชุม ครม.ในส่วนของการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยสรุปคือ ให้ยุบ 2 รัฐวิสาหกิจที่เคยดูแลการทำสวนยางพารามานานหลายสิบปี นั่นคือ องค์การสวนยาง และกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง แล้วกำหนดให้จัดตั้ง “การยางแห่งประเทศไทย" (กยท.) เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นต้น
รวมทั้ง ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นใน กยท. เรียกว่า “กองทุนพัฒนายางพารา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา นอกจากนี้ กำหนดให้มี “คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น
นายอนุสรณ์ แถลงวันนั้นราวกับว่า การที่ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.การยางฯ คือผลงานชิ้นโบแดงของกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ที่มาจากแกนนำคนเสื้อแดงเป็นผู้รับผิดชอบ ที่จะทำให้ปัญหาความผันผวนของราคายางพาราหมดสิ้นไปเสียที โดยคุยใหญ่โตว่า จะเพิ่มเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศจากยางพารา จากปีละ 6.8 แสนล้านเป็นปีละ 1 ล้านล้านบาทในเวลาอันใกล้นี้
“ร่าง พ.ร.บ.การยางฯ นี้จะถือเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องการบริหารจัดการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลและนำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการนโยบายยางพารามีเอกภาพและส่งผลดีกับอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นสะท้อนผ่านราคายางในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ชาวสวนยางและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา รอคอยมาเกือบ 30 ปีแล้ว”นายอนุสรณ์กล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเห็นว่า มีความพยายามผลักดันมาเกือบสิบปีแล้ว โดยในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก ที่สถานการณ์การผลิตรถยนต์ชะลอตัว ขณะที่ประเทศไทยมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางมากขึ้นตามนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านไร่ในปี 2549 และจะให้ผลผลิตได้เต็มที่ในปี 2555- 2556 อาจทำให้มีวัตถุดิบล้นตลาดได้ ซึ่งนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันเมืองยางพารา และพ.ร.บ.การยางแห่งชาติให้ออกมาโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับสถานการณ์นี้
การเริ่มต้นผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้เริ่มขึ้นโดยฝ่ายตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยาง นักวิชาการและข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นอยู่ในช่วงปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว จึงมีการชะลอไว้เพื่อรอรัฐบาลชุดถัดมาเข้าบริหารประเทศ
แม้รัฐบาลชุดต่อมาหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จะยังมีนายกฯ ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็เป็นรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาทางการเมืองให้ตัวเองมากกว่า เมื่อมีพฤติกรรมการทุจริตมากขึ้น และประชาชนเริ่มออกมาขับไล่ ทำให้การเสนอร่าง พ.ร.บ.การยางฯ หยุดชะงักไป
จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการนำร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มาทำต่อจนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ
การประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานในที่ประชุม หลังจากพิจารณาไปได้เพียง 4 มาตรา ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมเพียง 229 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เป็นเหตุให้สภาล่ม
ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2554 การประชุมสภาฯ ที่มี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ถึงมาตราที่ 17 เรื่องคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ก่อนการลงมติได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าไม่ครบองค์ประชุมอีกครั้ง จนรัฐบาลต้องถอนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ออกไปในเวลาต่อมา
วันที่ 2 สิงหาคม 2554 ก่อนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้าบริหารประเทศ นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะอดีตประธานสภาฯ ได้ฝากให้สภาฯ ชุดใหม่สานต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่หลายฉบับ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 หลังจาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าทำงานที่กระทรวงวันแรก ได้ให้สัมภาษณ์ราวกับว่าเขาเป็นต้นคิดการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การยางฯ เสียเอง โดยบอกว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยงาน 4 กรม และ 1 รัฐวิสาหกิจ และส่วนตัวมีแนวคิดว่า จะผลักดัน พ.ร.บ.การยางฯ ออกมาเป็นกฎหมาย เพื่อนำ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราได้แก่ สถาบันวิจัยยาง องค์การสวนยาง และกองทุนสงเคราะห์สวนยาง มารวมเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเรื่องยางพารามีเอกภาพชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว
ยางพารานั้น เรียกได้ว่าเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนภาคใต้เลยก็ว่าได้ ทำให้พรรคการเมืองต่างแย่งชิงกันหาคะแนนนิยมจากชาวสวนยางในภาคใต้มาโดยตลอด แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังครองพื้นที่ได้อย่างเหนียวแน่น แต่พรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคไทยรักไทยก็ได้พยายามเจาะฐานเสียงในภาคใต้ด้วยยางพารามาแล้ว ด้วยการอวดอ้างว่าทำให้ราคายางพาราพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท
ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ราคายางพารามักแปรผันตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพราะหากราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูง การใช้ยางสังเคราะห์จะลดปริมาณลง และผู้ผลิตยางจะหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้นส่งผลให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นตาม
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งทำให้ความต้องการยางพาราไปผลิตยางรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนขยายตัวสูงมาก จนทำให้จีนเป็นตลาดหลักของยางพาราไทย
เห็นได้ชัดเจนว่า ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ขึ้นไปแตะกิโลกรัมละ 200 บาท เนื่องจากราคานำมันดิบที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังขยายตัวตามปกติ แต่ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัวลงจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นต่อเนื่องด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ทำให้ราคายางพาราตกลงมาต่ำสุดที่กิโลกรัมละ 60 บาทในบางพื้นที่
ปัจจุบันราคายางฯ ขึ้นมาทรงตัวอยู่ที่ระดับ 105 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามอวดอ้างว่าเป็นเพราะโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลริเริ่ม แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มฟื้นตัว และราคาน้ำมันดิบยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ไปทำสัญญาขายยางพาราให้จีนโดยล็อกไว้ที่กิโลกรัมละ 115 บาท ราคายางในประเทศอาจจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ
การผ่านร่าง พ.ร.บ.การยางฯ แล้วตีปี๊บอวดอ้างว่า จะทำให้ปัญหาราคายางพาราหมดสิ้นไป จึงเป็นเพียงความพยายามหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยจะดึงคะแนนนิยมจากคนใต้
ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างผลงานให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ถูกครหาว่าไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลยแต่ได้รับการปูนบำเหน็จจากนายใหญ่ให้เป็นรัฐมนตรีจากผลงานการปลุกเร้าให้คนเสื้อแดงก่อเหตุเผาบ้านเผาเมืองในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 เท่านั้น