xs
xsm
sm
md
lg

พท.แก้เกี้ยวยุบพรรค ปูดปมบริจาคเงินอีสต์วอเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงเรื่องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.สรรหาเตรียมฟ้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีไม่แจงรายรับรายจ่ายจากเงินบริจาคที่ บ.อีส วอเตอร์ บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนไม่ได้แปลกใจอะไรเพราะเมื่อไรที่มีปัญหากับพรรคเพื่อไทย มักจะมีประเด็นขึ้นมากับฝ่ายตรงข้าม พอไม่ผิดก็หยิบยกเอาว่าเป็น 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นแบบนี้มาโดยตลอด ส่วนจะต้องชี้แจงหรือไม่อย่างไรนั้นคงต้องรอให้ผู้ร้องยื่นเรื่องก่อน เพราะเชื่อว่ารับบริจาคเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ทำตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตลอด ตนยืนยันว่าพรรคทำทุกอย่าง อย่างโปร่งใส กรรมการชุดเก่าที่ดูแลก็เป็นชุดเก่าที่มีนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นเลขาธิการพรรคและมีตนเป็นผู้ดูแลด้วย
ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พร้อมด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กทม และนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง แถลงข่าวตอบโต้กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ออกมากล่าวหาทางพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีการรับเงินบริจาคช่วงน้ำท่วมในปี 2553 ผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด(มหาชน) หรือ บริษัท อีสต์ วอเตอร์ ซึ่งมีการประปาส่วนภูมิภาค ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ถือหุ้นมากที่สุด
ตนขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการกล่าวหาที่เป็นเท็จ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงหน่วยประสานในการรับบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อส่งต่อให้รัฐบาล หรือกองทุนผู้ประสบอุทกภัยของสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งการที่มีผู้บริจาคก็จะมีการออกใบรับของชั่วคราวให้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคทั้งสิ้น 191 คน และเงินสุทธิจำนวน 36,454,909 บาท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี อีกทั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2553 พร้อมยังได้ทำหนังสือ ลงนาม และได้แนบรายชื่อผู้บริจาคทั้ง 191 ราย จากนั้นทางสำนักนายกฯก็ได้นำเงินเข้ากองทุนผู้ประสบอุทกภัย ในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 และได้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริจาคทุกราย ไม่เว้นแม้แต่บริษัท อีสต์ วอเตอร์ ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งตรงกับใบเสร็จที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ออกให้ก่อนหน้านี้
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ดังนั้นข้อกล่าวหาจึงคลาดเคลื่อนและเป็นเท็จ ที่สำคัญคิดว่าเป็นเรื่องประเด็นการเมือง เพราะขณะนี้ก็มีการพูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายจตุพรพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และการยุบพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นการสร้างประเด็นเพื่อเหมารวมให้ประชาธิปัตย์ถูกยุบพรรคและเพื่อเป็นการต่อรองในคดีด้วย แต่โชคดีที่ประชาธิปัตย์ไม่มีมูลอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ตลอด 2 คดีที่ผ่านมา
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)แจ้งว่า สำหรับคำร้องที่มีการร้องให้มีการยุบพรรคผ่านนายทะเบียนพรรคการเมือง นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 29 เรื่อง ซึ่งนายทะเบียนฯได้มีความเห็นเสนอ กกต.และกกต.มีมติเห็นชอบให้ยกคำร้องไปแล้วจำนวน 15 เรื่อง ยังคงแหลือ 14 เรื่อง ในจำนวนนี้นายทะเบียนมีคำสั่งให้รวมไว้เป็น 7 สำนวน เนื่องจากเป็นคำร้องที่มีลักษณะเดียวกัน จึงให้รวมไว้เป็นสำนวนเดียวกัน ได้แก่ กรณีร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการดำเนินการของพรรคเพื่อไทยอยู่ภายใต้การสั่งการของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมีการจัดทำป้ายหาเสียง “ ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ “ มีการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง”โดยผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมกาไต่สวนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งขึ้นดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานเพื่อเสนอนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาเร็วๆ นี้
ส่วนสำนวนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวนจำนวน 6 สำนวน ประกอบด้วย 1.กรณีคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากหัวหน้าพรรคได้รับรองผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง คือนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2. กรณีเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชลและ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เนื่องจากหาเสียงโดยสัญญาว่าจะให้ 3. กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากรับเงินบริจาคน้ำท่วมจากบริษัท อีสท์วอเตอร์ ที่เข้าข่ายเป็นบริษัทต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาค ตามมาตรา 71 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง จำนวน 1 ล้านบาท
4. กรณีนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากหัวหน้าพรรค ได้รับรองผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง คือนายจตุพร พรหมพันธุ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง 5.กรณีนายพิชา วิจิตรศิลป์ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ โดยการโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล และ 6. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.-สว.และคณะรัฐมนตรี ทั้ง 416 คน ที่เห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำล้มล้างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
สำหรับกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย อ้างว่า หากพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นยุบพรรคเพื่อไทยจากกรณีที่ส่งนายจตุพร ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ต้องเทียบเคียงกับกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปรับรองนายธานินทร์ ใจสมุทร ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯอบจ.สตูล นั้น กรณีดังกล่าวกกต.ได้ยกคำร้องไปแล้ว โดยเป็นหนึ่งในจำนวน 15 เรื่องที่กกต.ยกร้อง โดยนายนาวี พรหมทรัพย์ เป็นผู้ร้องร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เซ็นต์รับรองนายธานินทร์ ใจสมุทร ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และต่อมานายธานินทร์ ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยกกต.ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ. กฎหมายไม่ได้กำหนดให้หัวหน้าพรรคต้องรับรองการลงสมัครเหมือนการเลือกตั้งส.ส. อีกทั้งกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นต้องสังกัดพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น