ASTVผู้จัดการรายวัน/ศูนย์ข่าวภูมิภาค-"ในหลวง" พระราชทานถุงยังชีพช่วยเหยื่อน้ำท่วม "บางระกำ" 1,000 ครอบครัว น้ำท่วมเมืองสุโขทัยกลับเข้าสู่ปกติแล้ว แต่ "กงไกรลาศ-พิษณุโลก-พิจิตร"เริ่มจม "อรัญประเทศ"หนักสุดรอบ 50 ปี ปภ.สรุปล่าสุด 15 จังหวัดจมบาดาล เดือนร้อน 2.1 แสนคน จับตาหากน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยามาก กรุงเทพฯ ปริมณฑล ไม่รอด แฉมีไอ้โม่งรอฮุบดอกเบี้ยเงินบริจาคช่วยน้ำท่วม หลังพบเงินถูกแช่แข็งไว้ในแบงก์
วานนี้ (19 ก.ย.) นายประสงค์ พิฑูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำถุงยังชีพพระราชทานของมูลนิธิ ไปมอบให้แก่ราษฎรตำบลท่านางงาม และต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ประสบอุทกภัยจำนวน 1,000 ราย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรในเบื้องต้น โดยมีนายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมนายกเหล่ากาชาดฯร่วมในพิธี เพื่อการสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่
นายประสงค์กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบอุทกภัยอันเนื่องมาจากฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้มีน้ำปริมาณมากไหลเอ่อท้นเข้าท่วมพื้นที่ ทำความเสียหายแก่บ้านเรือนราษฎร รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรและสิ่งสาธารณะประโยชน์ จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยพิบัติผ่านทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ
สำหรับอำเภอบางระกำ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม รวม 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 2,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 50,000 ไร่
**ชาว "บางระกำ" ช้ำเร่งเก็บของขึ้นที่สูง
ด้านสถานการณ์น้ำท่วม จ.พิษณุโลก ยังคงได้รับผลกระทบหนัก จากแม่น้ำยมที่ไหลเอ่อล้นตลิ่งในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.เมือง และ อ.บางระกำ โดยเฉพาะในเขต อ.บางระกำ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มรองรับน้ำที่ไหลมาจาก จ.สุโขทัย ผ่านแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่า ยังคงมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและขยายวงกว้างเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนประชาชน และถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านหลายสาย ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งเก็บของ และจับปลาในกระชังออกขายก่อนที่ปลาจะน็อกน้ำ
นายล้ำ เลิศศรีมงคล นายอำเภอบางระกำ กล่าวว่า อ.บางระกำ ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำยมสายหลักที่ผ่าน อ.เมืองสุโขทัย และแม่น้ำยมสายเก่าที่ผันน้ำยมมาลงที่ อ.พรหมพิราม น้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่ อ.บางระกำ ขณะนี้แม่น้ำยมที่ อ.บางระกำ สูงเกินกว่าจุดวิกฤตล้นตลิ่งแล้ว และคาดว่าหลังจากนี้มวลน้ำจะค่อยๆ เพิ่มระดับและขยายวงกว้างมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 แล้ว ถือว่าไม่น่าห่วง
**น้ำเหนือทะลักเข้า“กงไกรลาศ”เพิ่มอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัยด้วยว่า ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่พื้นที่การเกษตรที่ อ.กงไกรลาศ กำลังเข้าสู่วิกฤต เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอีก 20 ซม.ทำให้เอ่อล้นเข้าท่วมนาข้าวหมู่ 5 และหมู่ 6 ต.บ้านใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ เป็นบริเวณกว้าง บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร
นายเสกสรรค์ ฉัตรตระกูล นายอำเภอกงไกรลาศ กล่าวว่า ได้ประสานความร่วมมือไปยัง อบต.บ้านใหม่สุขเกษม ให้นำชาวบ้านไปช่วยกันขนกระสอบทราย ทำแนวกั้นน้ำบนถนนซอยวังน้ำเย็น หมู่ 6 ต.บ้านใหม่สุขเกษม ที่เป็นเขตเชื่อมต่อกับหมู่ 11 ต.พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพิ่มเป็นระยะทางยาวอีก 1 กิโลเมตร หลังเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ทำแนวกั้นเสร็จไปแล้ว 1 กิโลเมตร แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ เพราะมวลน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนบ้านหาดสะพานจันทร์มีปริมาณมาก
**น้ำยมล้นตลิ่งทะลักท่วมพิจิตร
สำหรับพื้นที่ จ.พิจิตร ขณะนี้น้ำแม่น้ำยมจาก จ.สุโขทัย เริ่มส่งผลกระทบขยายวงกว้างโดยน้ำได้เข้าท่วม อ.สามง่าม จนจังหวัดต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติไปก่อนหน้านี้ และขยายวงกว้างเข้าท่วมพื้นที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง และคาดว่าจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล ซึ่งอยู่ตอนใต้ของแม่น้ำตามลำดับต่อเนื่องต่อไป
ขณะที่นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมนายวิเชียร อนุศาสนนันท์ นายอำเภอสามง่าม ลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำ พบว่า น้ำยมได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วม 3 หมู่บ้านของ ต.รังนก อ.สามง่าม ชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 1 พันหลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมใต้ถุนบ้านสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งล้วนเป็นบ้านที่อยู่ในที่ลุ่มริมแม่น้ำยม ชาวบ้านต้องใช้เรือพายเป็นพาหนะในการเดินทาง นอกจากนี้ น้ำยังได้เอ่อล้นเข้าทุ่งนาร่วม 2 หมื่นไร่ ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำไปก่อนหน้านี้แล้ว เกษตรกรจึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
**อรัญประเทศวิกฤตน้ำท่วมหนักในรอบ50ปี
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และได้ไหลเอ่อเข้าท่วมรางรถไฟสายอรัญประเทศ-กรุงเทพฯ จากบริเวณหน้าสถานีรถไฟอรัญประเทศ จนถึงบริเวณพื้นที่ ต.บ้านใหม่หนองไทร เป็นระยะทางยาวกว่า 1 กม. และน้ำยังได้เอ่อไหลท่วมถนนสุวรรณศร ซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้า อ.อรัญประเทศ บริเวณหน้าจังหวัดทหารบกสระแก้วและบริเวณทางเข้าสถานีขนส่งอรัญประเทศ สูงประมาณ 30 ซม.รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านไปมาได้
ส่วนน้ำในตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ ได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นจนท่วมบริเวณหอนาฬิกา หน้าที่ทำการไปรษณีย์อรัญประเทศและหน้าสถานีรถไฟอรัญประเทศ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่หนีน้ำท่วมในตลาดสดอรัญประเทศ ออกมาตั้งเป็นตลาดชั่วคราวบริเวณหน้าสถานีรถไฟ ต้องขนย้ายตลาดเป็นครั้งที่ 2 ไปตั้งตลาดชั่วคราวอยู่บริเวณทางเข้าสวนกาญจนาภิเษก ของเทศบาลเมืองอรัญประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมตลาดเทศบาลอรัญประเทศ ในครั้งนี้ซึ่งถือว่าวิกฤตมาก และเป็นน้ำท่วมตลาดอรัญประเทศ หนักที่สุดในรอบ 50 ปี
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขต ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดคลองพรมโหด น้ำยังคงท่วมสูงตั้งแต่ 1-2 เมตรรถไม่สามารถวิ่งผ่านไปมาได้หลายหมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เจ้าหน้าที่ทหารพราน ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา ต้องนำเรือท้องแบนนำเสบียงอาหารไปส่งให้ชาวบ้านที่ติดอยู่ภายในหมู่บ้าน
สำหรับที่ตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนและเป็นตลาดเศรษฐกิจของ จ.สระแก้ว น้ำที่ไหลมาจาก ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ ได้เข้าท่วมพื้นที่ตลาด อบจ.(ตลาดโรงเกลือเก่า) ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2555 ได้เริ่มลดระดับลงเหลือเพียงน้ำท่วมขังเป็นบางพื้นที่ เนื่องจากน้ำที่ท่วมได้ไหลลงสู่คลองพรมโหด เข้ากัมพูชาแล้ว
**ปภ.สรุป15จังหวัดจมบาดาล
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 48 อำเภอ 279 ตำบล 1,526 หมู่บ้าน ส่งผลให้มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 79,818 ครัวเรือน 214,550 คน
สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 47,589 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 (59,549 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 11,960 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หากปริมาณน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้น้ำท่วมที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง หากเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำท่วมที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และ อ.เมือง จ.อ่างทอง และหากเกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที จะทำให้น้ำท่วมที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท สองฝั่งเจ้าพระยาของ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
**"นายกฯ"สั่งระดมนักโทษลอกท่อ กทม.
ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ในกทม. หลังจากที่ฝนตกหนัก ว่า จริงๆ แล้วปัญหาของน้ำท่วมพื้นที่กทม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของการที่ปริมาณน้ำฝนตกลงมาค่อนข้างมาก และสิ่งที่เราเห็น คือ บางส่วนน้ำไม่ไหลระบาย คงต้องดูว่าตรงนั้นมีสิ่งกีดขวางอะไรหรือเปล่า ส่วนหนึ่งของประสิทธิภาพการระบายต่างๆ อาจเนื่องจากปริมาณน้ำฝนมากฉับพลันเลยทำให้การระบายติดขัด แต่สุดท้ายเชื่อว่าทุกอย่างคงคลี่คลายลงได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากทรายที่ค้างคาท่อระบายน้ำจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ได้สั่งการไปแล้วทางกรมราชทัณฑ์จะนำเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดูในส่วนของท่อต่างๆ และสิ่งอุดตัน รวมทั้งยังได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประสานไปทาง กทม. เพื่อขอความร่วมมือผู้ประกอบการบ้านจัดสรรต่างๆ ให้ช่วยเร่งลอกท่อในแต่ละหมู่บ้าน
***โยน กทม.ตอบอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ
เมื่อถามว่า รัฐบาลได้ตรวจสอบประตูระบายน้ำหรืออุโมงค์ยักษ์หรือไม่ว่าใช้งานได้จริง นายกฯ กล่าวว่า อันนี้คงต้องมีฝ่ายเทคนิคในการตรวจสอบ เพราะเราไม่รู้ตั้งแต่เริ่มต้นว่าความสามารถตามสเป็กมีเท่าไร และการระบายจริงๆ บางครั้งมีปัญหาน้ำไม่ได้ลงไป เลยไม่รู้ประสิทธิภาพจริงเป็นอย่างไร จริงๆ ทาง กทม. น่าจะเป็นผู้ตอบได้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า จะต้องประสาน กทม.เป็นกรณีพิเศษหรือไม่ เพราะเวลาชาวบ้านด่าเขาด่ารัฐบาลไม่ได้ด่า กทม. ตรงๆ นายกฯ กล่าวพร้อมกับยิ้มๆ ว่า อย่างที่เรียน ต้องขอขอบคุณที่พูดคำนี้ จริงๆ ก็ต้องบอกว่า เราเองพยายามทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเนื่องจากด้วยโครงสร้างการทำงานที่เป็นคนละส่วนกันจริงๆ ทำให้งานต่างๆ ใช้ลักษณะการประสานงานมากกว่าการสั่งการ อันนี้ทำบนข้อจำกัดนี้ ดังนั้น ขอความกรุณาพี่น้องประชาชน เพราะเราก็พยายามร่วมกันทำอย่างเต็มที่
**กทม.แจงระบายน้ำฝนไม่ได้ช้า
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าอุโมงค์ยักษ์ของกทม. ทำงานได้จริงหรือไม่นั้น ยืนยันว่าทำงานอยู่ตลอด โดยอุโมงค์ระบายน้ำมีเครื่องสูบน้ำอยู่ภายใน 4 ตัว โดยใช้เป็นเครื่องหลัก 3 ตัว เครื่องสำรอง 1 ตัว และแต่ละตัวทำงานได้ 8 ชั่วโมงเพื่อสูบน้ำออก ซึ่งหากไม่มีอุโมงค์ยักษ์และฝนตกหนักในปริมาณมากขนาดนี้ อาจต้องใช้เวลาระบายน้ำกันเป็นวัน แต่เมื่อมีอุโมงค์ยักษ์ ก็ระบายน้ำได้ใน 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ เป็นระบบที่รับปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นระบบเดิมที่ใช้กันมานานแล้ว ซึ่งหากต้องการให้น้ำลงเร็วกว่านี้คงต้องรื้อระบบท่อในพื้นที่กทม.ใหม่ ซึ่งทำได้ แต่ต้องใช้งบประมาณสูง
**เงินเยียวยาน้ำท่วมขึ้นอยู่กับรัฐบาล
ส่วนกรณีที่ชาวดอนเมืองประท้วงให้เร่งจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมนั้น นายธีระชน กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาในรอบแรก กทม.ได้จ่ายให้แล้วตั้งแต่เดือนส.ค. ส่วนรอบ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ได้ทำบันทึกถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ในการขอเงินเยียวยาเพิ่มเติม 1,142 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ตกค้างอยู่ประมาณ 1 แสนคน ดังนั้น ต้องรอ ปภ. และรัฐบาลอนุมัติเงินดังกล่าวมา หากอนุมัติแล้ว กทม.จะจ่ายให้กับประชาชนทันที โดยใช้วธีการตั้งวอรูมเพื่อจายเงินให้กับประชาชนโดยเร็ว
"ยืนยันกับคนกรุงเทพฯ และชาวดอนเมืองว่า กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ยื่นเรื่องไปให้รัฐบาลไปนานแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลจะเร่งพิจารณาอนุมัติเงินโดยนำเงินทดลองจ่ายมาให้ก่อนก็ช่วยเหลือประชาชนได้เร็ว"นายธีระชนกล่าว
**แฉรอฮุบดอกเบี้ยเงินบริจาคน้ำท่วม
วันเดียวกันนี้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการติดตามการใช้งบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท และเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ในคณะกรรมาธิการติดตามบริหารการใช้งบประมาณ ได้แถลงว่า จากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 2554 พบว่า มียอดรับบริจาครวม 1,226,723,345 บาท แต่จากการตรวจสอบยอดล่าสุดจนถึงวันที่ 1 ก.พ.2555 พบว่า ยังมียอดเงินคงเหลือ 673,907,255 บาท
"เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินบริจาคที่ผู้บริจาคตั้งใจให้นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเดือดร้อนไม่มีข้าวจะกิน อยู่ในสภาพลำบาก แต่กลับพบว่านำเงินไปใช้ไม่ถึงครึ่ง ซึ่งอาจหวังผลว่าต้องการเก็บไว้เพื่อเอาดอกเบี้ย ดังนั้น หากยังจะมีการรับบริจาคครั้งต่อไปอีก ก็ขอฝากไปยังผู้บริจาคว่าให้นำไปบริจาคโดยตรงกับมูลนิธิต่างๆ ที่จะได้นำเงินไปใช้โดยตรงให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง"