xs
xsm
sm
md
lg

มั่วกระหน่ำ! มหกรรมเยียวยาน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วุ่นวายกันไม่เว้นแต่ละวันสำหรับการขอรับเงินชดเชยค่าเสียหายของผู้ประสบภัยน้ำท่วม (กรณีฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด) จำนวนเงิน 20,000 บาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บริหารจัดการอย่างไร้ประสิทธิภาพจนเกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมส่งผลให้ฝูงชนผู้ประสบมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 รวมตัวกันประท้วงปิดถนนกันอย่างเนื่องแน่นในหลายๆ พื้นที่

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2555 รายการงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,650 ล้านบาท เพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย บัดนี้ล่วงเลยมาเกือบปีเงินดังกล่าวหดหายเพราะการคอรัปชั่นของคนมีสีจนแทบไม่เหลือตกถึงมือประชาชน

ขณะเดียวกันประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยใช่ว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว เพราะข่าววงในรายงานว่าคนกลุ่มนี้ได้รับอภิสิทธิ์รับเงินชดเชยจำนวนเต็ม 20,000 บาท(หรือมากกว่า)ไปก่อนใคร

มิหนำซ้ำยังมีข่าวฉาวถึงกรณีข้าราชการมหาดไทยรับค่าหัวคิว 35 เปอร์เซ็นในการจัดสรรค์งบประมาณช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย1.2แสนล้าน อ้างเพื่อจัดทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดอีกด้วย

“ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ตัดสินใจอย่างไรกับเงิน 20,000 บาท หรือทบทวนใหม่อีกสักนิด แล้วคิดให้ครบ 20,000 บาท และเรื่องอุทธรณ์ไปถึงไหน ตอบประชาชนด้วย ฯลฯ” ข้อความบางส่วนจากผู้เข้าร่วมประท้วงกรณีเงินค่าเสียหายของผู้ประสบภัยน้ำท่วมฯ

รัฐบาลระบุไว้ว่า “บ้านพักอาศัยได้รับเสียหายบางส่วน รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยไม่เกินหลังละ 20,000 บาท หากบ้านเสียหายทั้งหลัง รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยไม่เกินหลังละ 30,000 บาท”

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดหยิบย่อยในการขอรับเงินชดเชยค่าเสียหายของผู้ประสบภัยไว้ชัดเจน แต่ในเชิงปฎิบัติกลับยังคลุมเครืออย่างในเกณฑ์การพิจารณาว่าแต่ละหลังคาเรือนได้รับเงินชดเชยจำนวนเท่านั้นๆ ก็ไม่สามารถอธิบายความแตกต่างได้

หมู่บ้านเดียวกันสภาพความเสียหายทัดเทียมกัน แต่กลายเป็นว่ามีความต่างของตัวเงินในอัตราที่สูงมาก อย่างเช่น ทำไมบ้านนี้ได้ 5,000 บาท เอ๊ะ! แล้วทำไมบ้านนี้ได้ตั้ง 20,000 บาท ไม่รู้เป็นเพราะอิทธิพลเงียบที่ซ้อนเร้น หรือความสะเพร่าในวิธีพิจารณา ฯลฯ แต่มันก็สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้อีกครั้ง

คำถามก็คือประชาชนได้รับการบรรเทาทุกข์ตามนโยบายฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลดเป็นเงินช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมตามที่ท่านอวดอ้างไว้หรือไม่?

ประท้วง! ชดเชย-เยียวยา-ไร้ความเป็นธรรม
ทั้งความล้าช้าในการดำเนินการและปมปัญหาที่สั่งสม ทั้งบรรทัดฐานการพิจารณาจำนวนเงินของผู้ประสบภัยที่บางบ้านได้น้อยนิดขณะที่บางบ้านได้มากโข่, กลุ่มอิทธิพลที่เข้ามาแทรกแซงระบบราชการดึงเงินเข้าพวกพ้อง, ความล้าช้าที่กินเวลาร่วมปีในการดำเนินการจ่ายเงิน, การหักหัวคิดเงินเยียวยา ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปฐมเหตุสู่สถานการณ์ประท้วงอย่างต่อเนื่อง

- ชาวเขตบางเขน จ.กรุงเทพฯ ประมาณ 1,400 คน ร่วมชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานเขตบางเขน โดยทำการปิดถนนพหลโยธินขาเข้า

- ชาวเขตบางแค จ.กรุงเทพฯ กว่า 300 คน รวมตัวปิดถนนกาญจนาภิเษกทุกช่องทาง มุ่งหน้าถนนพระราม 2 เรียกร้องเงินช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม

- ชาวอ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กว่า 500 คน รวมตัวปิดถนนบริเวณหน้าห้างบางใหญ่ บาซาร์ ถนนกาญจนาภิเษก

- ชาวจ.ปทุมธานี 2 ชุมชน รวมตัวกันประมาณ 150 คน ปิดถนนสายพหลโยธิน-ลำลูกกา ทางเข้าอำเภอลำลูกกา

- ชาวอำเภอพุทธมณฑล รวมตัวกันกว่า 400 คน บุกที่ว่าการอำเภอพุทธมณฑล เรียกร้องกรณีเจ้าหน้าที่ประเมินค่าเสียหายเพื่อรับเงินชดเชยน้ำท่วมอย่างไม่เป็นธรรม

- ชาวชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ประมาณ 300 คน รวมตัวประท้วงหลังจากได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมไม่เท่ากัน ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักแต่กลับได้รับค่าชดเชยเพียง 9,700 บาท ขณะที่บ้านใกล้กันน้ำท่วมน้อยกว่าได้รับ 20,000 บาท

- ชายวัยกลางคน จ.ปทุมธานี โวยได้เงินเงินชดเชยน้ำท่วมแค่ 15 บาท หลังร้องเรียนเจ้าหน้าที่รีบปรับเพิ่มเลข 0 ใส่ท้ายเป็น 15,000 บาท ทันที ฯลฯ

ที่ออกมาเพราะมันเป็นสิทธิของประชาชน
เมื่อครั้งปริมาณน้ำปรับระดับเข้าสู่สถานการณ์ปกติภาครัฐก็เริ่มออกนโยบายช่วยเหลือทั้งเงินชดเชยเงินเยียวยาอย่างเต็มกำลัง ซึ่งดูเป็นการรับปากพร่อยๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะถ้าสำรวจกันจริงๆ แล้วเงินในส่วนนี้ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังไม่ได้รับหรือแม้ได้รับแล้วแต่กลับไม่ชอบธรรม

“พูดได้แต่ทำได้แค่ไหน ขอให้ทำได้ตามที่พูด..อย่าดีแต่พูด แต่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับก็แสดงว่าไม่ปฏิบัติตามที่พูดไว้” เกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ กล่าวพร้อมแสดงทัศนะกรณีที่ผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่ได้รวมตัวประท้วงรียกร้องเรียกร้องเงินค่าเยียวยาน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ความที่เราอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยทุกคนจึงมีสิทธิเสรีในการแสดงความชอบธรรม

“เมื่อประชาชนเดือดร้อนไม่ให้ประท้วงแล้วให้ทำอะไร รัฐธรรมนูญยังรับรองสิทธิไว้ในการประท้วงต่างๆ สามารถชุมนุมด้วยความสงบปราศจากอาวุธ ตรงนี้ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามระบบประชาธิปไตย การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ ก็เหมือนว่าประชาชนสะท้อนการทำงานของรัฐบาลด้วยว่าได้ดูแลประชาชนทั่วถึงอย่างไร”

ด้านรัฐบาลก็มีกฏเกณฑ์มีระเบียบในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่าเป็นเงินเยียวยาที่รัฐจัดหาให้แต่ไม่ใช่ชดเชยค่าเสียหายทั้งหมด อย่างไรก็ตามภาครัฐควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ

“รัฐพยายามบรรเทาค่าเสียหายให้ แต่ปรากฏว่าในการดำเนินการของรัฐ หน่วยงานราชการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถดำเนินการแก้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง การเยียวยาไม่ได้รับความเป็นธรรม บางรายก็ได้จำนวนมาก บางรายก็ได้จำนวนน้อย ขาดหลักเกณฑ์ ไม่ทราบพิจารณากันอย่างไร ควรพิจารณาให้ครบถ้วนและรวดเร็ว หากปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ประชาชนก็จะหมดความศรัทธาในรัฐบาลที่จะดำเนินการช่วยเหลือประชาชน”

อีกส่วนหนึ่งต้องมองไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการอย่างเข็มงวด เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนปฏิบัติต้อง เห็นอกเห็นใจ พิจารณาด้วยความเป็นธรรม ถูกต้อง และรวดเร็ว ถามว่ามีเรื่องการคอรัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ก็อาจมีความเป็นไปได้ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสร้างความโปร่งใสแก่ประชาชนด้วย

อย่าสักแต่พูด...ถ้าไม่อยาก ‘เสียหมา’
“ผมเดาว่าตอนที่รัฐบาลเผลอพูดออกไปว่าจะเยียวยาคงไม่ได้รู้ว่าในทางราชการมันมีความสลับซับซ้อนในระเบียบเรื่องนี้อยู่ พอสื่อสารออกไปเสร็จเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการก็ไม่มีทางเลือกอื่น ผมไม่อยากใช้คำว่านักการเมืองสักแต่รับปากชาวบ้าน..แต่อาการมันออกแบบนั้น คือสักแต่ไปรับปากแต่ไม่ได้ศึกษาเลยว่า หนึ่ง-มีเงินไหม สอง-ระเบียบการใช้เงินว่าอย่างไรบ้าง สาม-คุณไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้า คือคนที่รับปากเขาไม่มีข้อมูลพวกนี้เลยว่ามีพอหรือไม่พอ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเอง พอในทางปฏิบัติซึ่งคนเกี่ยวข้องข้าราชการเยอะแยะที่ต้องไปทำเขาทำตามที่คุณรับปากไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ” รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

การออกมาเรียกร้องของผู้ประสบภัยในหลายๆ พื้นที่นั้น ถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องบ้างขณะเดียวกันถ้าเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของเขาก็จะรู้ว่าการที่พวกเขารวมตัวกันประท้วงไม่ได้มีเจตนาก่อความเดือดร้อนต่อใคร บางทีพวกเขาอาจพยายามหลายวิธีแล้วแต่ไม่เป็นผล ในที่สุดจึงต้องตัดสินใจรวมตัวเรียกร้องให้ผู้หน้าที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบออกมาเจรจา

“คนที่เรียกร้องก็ไม่ได้หวังผลหรอกครับว่าสิ่งที่เขาต่อรองเรียกร้องจะต้องได้ 100 เปอร์เซ็น สิ่งที่เขาหวังเพียงแต่ว่าให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาคุยด้วยหน่อย ฉะนั้นอาจจะไม่ต้อง 20,000 บาทก็ได้ 15,000 13,000 ก็คุยกันได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาคุณไม่เคยมาคุยกับเขาเลยเขาจึงใช้วิธีนี้ เพื่อให้คุณมาคุยกับเขา เพราะถ้าหากคุยแล้วจริงๆ จังๆ มีงบไม่ถึงให้ได้เท่าไหร่ก็มาคุยกัน”

การช่วยเหลือในเรื่องเงินอุดหนุนของรัฐบาลนั้นจำแนกเป็นเงินเยียวยาและเงินชดเชยซึ่งเนื้อหาจะแตกต่างกัน ถ้าเงินชดเชยความเสียหายตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยมันต้องตั้งกรรมการไปดูความเสียหายประเมินว่าให้เท่าไหร่ ตรงนั้นมีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว

ปัญหาที่ประชาชนออกมาเรียกร้องทั้งในเรื่องความล้าช้า ความเป็นธรรม ร้องเรียนเรื่องนายหน้า ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่หมักหมมในระบบราชการ

“สาเหตุหลักคือเป็นเพราะการใช้อิทธิพลจึงทำให้การจ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบ เพราะถ้าการจ่ายเงินเป็นไปตามระเบียบความเสียหายเหมือนกันต้องจ่ายเท่ากัน หรือกรณีนายหน้าเราไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงปรากฎ แต่มันคงไม่สุจริตเท่าไหร่ยิ่งในกรณีที่คนเขากำลังเดือดร้อนมากอบกู้ฟื้นฟูชีวิตจากน้ำท่วมก็เป็นเรื่องที่น่าประนาม”
………………………
คงเป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ต้องสะสางให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะวิกฤติการณ์น้ำท่วมผ่านพ้นมาร่วมทบปี แต่ปัญหาในการจัดการชดเชยเยียวยาต่อภาคประชาชนยังปล่อยให้ล่วงเลยดำเนินการอย่างล้าช้า เมื่อระบบราชการพึ่งไม่ได้ ประชาชนจึงต้องรวมตัวกันทวงถามและเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาพึงจะได้รับ

ทีมข่าว ผู้จัดการ LIVE รายงาน







กำลังโหลดความคิดเห็น